ตอนที่ 1 สาระสำคัญของพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558
ภาษีการรับมรดกเป็นภาษีที่รัฐเรียกเก็บจากการส่งมอบความมั่งคั่งภายหลังจากที่เจ้าของความมั่งคั่ง (เจ้ามรดก) ถึงแก่ความตายไปแล้ว ความมั่งคั่งหรือมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาททันทีโดยผลแห่งกฎหมาย และ/หรือพินัยกรรม ซึ่งมรดกที่ได้รับถือเป็นทรัพย์สินที่ต้องนำมาเสียภาษี หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 (“พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกฯ”)
ในตอนที่ 1 นี้ ผู้เขียนจึงขอนำเสนอความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีตามพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกฯ ก่อนว่ามีเนื้อหาสาระสำคัญอย่างไร เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจหลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับจัดเก็บภาษีจากการรับมรดก และสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการวางแผนภาษีสำหรับการจัดการทรัพย์สินหรือจัดการทรัพย์มรดกได้อย่างถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายต่อไป
1.
ภาษีการรับมรดกคืออะไร?
ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) คือ ภาษีที่จัดเก็บจากมูลค่าของทรัพย์มรดกที่ทายาทแต่ละคนได้รับจากกองมรดก ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่บุคคล (เจ้ามรดก) ถึงแก่ความตาย และทายาทได้รับทรัพย์สิน (ทรัพย์มรดก) จากกองมรดกของผู้ตาย (เจ้ามรดก)
2.
ทายาทที่ได้รับมรดกหรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกคือใคร?
ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก มี 2 ประเภท ได้แก่ ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมาย และทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม
(1) ทายาทที่มีสิทธิตามกฎหมายมี 2 ประเภท ได้แก่ ทายาทโดยธรรมประเภทญาติ ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้สืบสันดาน บิดามารดา พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ย่าตายาย และลุงป้าน้าอา และทายาทโดยธรรมประเภทคู่สมรส (คู่สมรสของเจ้ามรดก)[1]
(2) ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม (ผู้รับพินัยกรรม) จะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้
ทั้งนี้ ไม่ใช่ทายาททุกคนที่จะมีสิทธิได้รับมรดก เนื่องจากสิทธิและส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกของทายาทแต่ละคนนั้นจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้
3.
ทรัพย์สินอะไรบ้างที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก?
ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก ได้แก่ ทรัพย์สินดังต่อไปนี้
(1) อสังหาริมทรัพย์ (เช่น บ้าน ที่ดิน คอนโดมิเนียม ฯลฯ)
(2) หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ฯ (เช่น หุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิ หน่วยลงทุน ตั๋วเงินคลัง หุ้นกู้ ฯลฯ)
(3) เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันซึ่งอยู่ในประเทศไทย (เช่น เงินฝาก เงินให้กู้ยืม ฯลฯ)
(4) ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน (เช่น รถยนต์ เรือ เครื่องบิน ฯลฯ) หรือ
(5) ทรัพย์สินทางการเงินอื่น[2]
ทั้งนี้ หากทายาทได้รับทรัพย์มรดกประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากทรัพย์สินที่ระบุไว้ใน (1) – (5) ข้างต้น อาทิเช่น ทองคำ เครื่องเพชร งานศิลปะ หรือวัตถุโบราณ ฯลฯ ทายาทไม่ต้องนำมูลค่าของทรัพย์สินดังกล่าวมาเสียภาษีการรับมรดก
4.
ใครเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก?
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก คือ ผู้ได้รับมรดกดังต่อไปนี้
(1) กรณีทรัพย์มรดกเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ผู้รับมรดกไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล และไม่ว่าจะมีสัญชาติใดถือเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก
(2) กรณีทรัพย์มรดกเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศต้องเสียภาษีการรับมรดกก็ต่อเมื่อผู้ได้รับมรดกเป็นบุคคลดังต่อไปนี้
1) บุคคลธรรมดาซึ่งมีสัญชาติไทย หรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
2) นิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย ได้แก่ นิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยหรือจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายของประเทศไทย หรือนิติบุคคลที่มีผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นเกิน 50% ของทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในขณะมีสิทธิได้รับมรดก หรือนิติบุคคลที่มีผู้มีสัญชาติไทยเป็นผู้มีอำนาจบริหารกิจการเกิน 50% ของคณะบุคคลซึ่งมีอำนาจบริหารกิจการทั้งหมด[3]
5.
ฐานภาษีการรับมรดกคืออะไร?
ฐานภาษีการรับมรดก คือ มูลค่าของทรัพย์มรดกที่ผู้รับมรดกได้รับเฉพาะส่วนที่เกินกว่า 100 ล้านบาท โดยมูลค่าของทรัพย์มรดก หมายถึง มูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดที่ได้รับหักด้วยภาระหนี้สินที่ได้รับมาจากการรับมรดกนั้น[4]
Q: นาย ก. ซึ่งเป็นทายาทเพียงคนเดียวของเจ้ามรดกได้รับทรัพย์สินอันเป็นทรัพย์มรดก จำนวน 5 รายการ มูลค่า 120 ล้านบาท ปรากฏว่าเจ้ามรดกมีหนี้กู้ยืมค้างชำระกับธนาคาร A อยู่ 5 ล้านบาท กรณีดังกล่าวฐานภาษีการรับมรดกของนาย ก. คือเท่าใด
A: ฐานภาษีการรับมรดกคำนวณจากมูลค่าของทรัพย์สินจำนวน 120 ล้านบาท หักด้วยหนี้กู้ยืมระหว่างเจ้ามรดกกับธนาคารอันเป็นภาระหนี้สินที่นาย ก. ได้รับมาจากการรับมรดกจำนวน 5 ล้านบาท จะได้มูลค่ามรดกคือ 115 ล้านบาท ดังนั้นฐานภาษีการรับมรดกของนาย ก. คือ 15 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่ามรดกในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท
ทั้งนี้ การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินจะถือตามราคาหรือมูลค่าของทรัพย์สินในวันที่ได้รับทรัพย์สินนั้นเป็นมรดก ดังนี้
– อสังหาริมทรัพย์ (ในประเทศไทย) ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหักด้วยภาระที่ถูกรอนสิทธิ ในวันที่ได้รับมรดก
– หุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิ หน่วยลงทุน ตั๋วเงินคลัง หรือหุ้นกู้ ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ถือเอาราคาของหลักทรัพย์นั้น ๆ ในเวลาสิ้นสุดเวลาทำการของตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ได้รับมรดก[5]
– เงินฝาก เงินให้กู้ยืม หรือเงินอื่นใด ให้ถือตามมูลค่าของเงินฝาก เงินกู้ยืม หรือเงินอื่นใด รวมทั้งดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์อื่นใดที่จะได้รับจากเงินดังกล่าวในวันที่ได้รับมรดก
– รถยนต์ (ในประเทศไทย) : ใช้ราคาประเมินราคารถยนต์สำหรับปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรในการโอนกรรมสิทธิ์ซื้อขายรถดังกล่าวที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด โดยให้คำนวณมูลค่าตามราคาเฉลี่ยระหว่างราคาประเมินสูงสุดและราคาประเมินต่ำสุดของราคาประเมินรถนั้น ในกรณีที่ไม่มีมูลค่าตามราคาประเมินให้ใช้ราคาประเมินที่ประเมินโดยบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นสมาชิกขององค์กรวิชาชีพเกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินนั้นในวันที่ได้รับมรดก[6]
6.
ผู้รับมรดกต้องเสียภาษีการรับมรดกในอัตราเท่าไหร่?
(1) กรณีผู้รับมรดกเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดาน ผู้รับมรดกต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์มรดกในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท
(2) กรณีผู้รับมรดกเป็นบุคคลอื่นซึ่งมิใช่บุคคลตาม (1) ผู้รับมรดกต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่าทรัพย์มรดกในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท[7]
ข้อสังเกต กรณีผู้รับมรดกเป็นคู่สมรสของเจ้ามรดก ผู้รับมรดกไม่ต้องเสียภาษีมรดก เนื่องจากพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกฯ ไม่ใช้บังคับแก่มรดกที่คู่สมรสของเจ้ามรดกได้รับจากเจ้ามรดก
*ผู้บุพการี หมายถึง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด
*ผู้สืบสันดาน หมายถึง ลูก หลาน เหลน ลื่อ
7.
ผู้รับมรดกต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก (ภ.ม.60) เมื่อไหร่?
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก (ภ.ม.60) และชำระภาษีให้เสร็จสิ้นภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ได้รับมรดกเกินกว่า 100 ล้านบาท[8] ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ได้ยื่นแบบและชำระภาษีให้ครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนด หรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ครบถ้วน หรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องชำระขาดไป ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องรับผิดในเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย
รู้หรือไม่!! ภาษีการรับมรดกจะไม่ใช้บังคับในกรณีใด?
(1) มรดกที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกฯ ใช้บังคับ กล่าวคือ มรดกที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559[9]
(2) มรดกที่เจ้ามรดกยกให้แก่บุคคลตามที่กฎหมายกำหนดให้ได้รับยกเว้นภาษีการรับมรดกตามที่กำหนดในกฎกระทรวง อาทิ วัด สถานศึกษา สภากาชาดไทย สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุล[10]
สำหรับตอนที่ 2 ต่อไป ผู้เขียนจะได้นำเสนอเกี่ยวกับประเด็นภาษีจากการรับ – ให้
[1] ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629
[2] พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 14
[3] พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 11
[4] พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 12
[5] พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 15 และหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรเลขที่ กค 0702/4121
[6] กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2559 ข้อ 4 และข้อ 5
[7] พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 16
[8] พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 17
[9] พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 3
[10] พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 13, กฎกระทรวงกำหนดประเภทหรือรายชื่อของบุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2560 และกฎกระทรวงกำหนดประเภทหรือรายชื่อของบุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษีการรับมรดก และหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีตรวจสอบติดตาม พ.ศ. 2560
มัญจา บุญช่วย
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725