วรินทร สะรุโณ
อชิรญาณ์ สุทธิสุนทรินทร์
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
ตอนที่ 3 สิทธิประโยชน์ทางภาษี
จากตอนที่แล้ว ที่ได้กล่าวถึงหลักเกณฑ์และตัวอย่างในการคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้นั้น ในตอนนี้จะเป็นการกล่าวถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งการยกเว้นฐานภาษี และการบรรเทาภาระภาษี สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์แต่ละประเภท ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1. สิทธิประโยชน์ถาวร
1.1 ยกเว้นมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฐานภาษี) สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ที่บุคคลธรรมดาใช้ประกอบเกษตรกรรม ในแต่ละเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเขตละ 50 ล้านบาท1 โดยถือว่าที่ดินที่มีโฉนดติดกันเป็นที่ดิน 1 แปลง และให้นำมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในแต่ละเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีมูลค่าสูงสุดมาหักยกเว้นก่อนตามลำดับ จากนั้นนำมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เหลือไปคำนวณภาษีภายใต้หลัก “*รวมแปลงลดหย่อน แยกแปลงคำนวณ” เช่น
– นาย A เป็นเจ้าของที่ดิน ที่ใช้ในการประกอบเกษตรกรรมในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก. จำนวน 4 แปลง ดังนี้
แปลงที่ 1 ที่ดิน 3 โฉนด มูลค่ารวม 30 ล้านบาท
แปลงที่ 2 ที่ดิน 2 โฉนด มูลค่ารวม 15 ล้านบาท
แปลงที่ 3 ที่ดิน 2 โฉนด มูลค่ารวม 10 ล้านบาท
แปลงที่ 4 ที่ดิน 1 โฉนด มูลค่ารวม 5 ล้านบาท
สรุป นาย A มีที่ดินในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก. รวมทั้งสิ้น จำนวน 60 ล้านบาท* นาย A ได้รับยกเว้นฐานภาษี 50 ล้านบาทแรก ส่วนที่เกินจาก 50 ล้านบาทต้องนำไปเสียภาษีโดยแยกคำนวณรายแปลง* ดังนี้
แปลงที่ 1 – 2 ได้รับยกเว้นทั้งแปลง รวม 45 ล้านบาท
แปลงที่ 3 ได้รับยกเว้น 5 ล้านบาท (รวมกับ 2 แปลงแรก ได้รับยกเว้นครบ 50 ล้านบาทแล้ว) และในส่วนที่เหลือ 5 ล้านบาท นำไปคูณอัตราภาษีร้อยละ 0.01 เท่ากับ 500 บาท
แปลงที่ 4 จำนวน 5 ล้านบาท นำไปคูณอัตราภาษีร้อยละ 0.01 เท่ากับ 500 บาท
สรุป นาย A ต้องเสียภาษีสำหรับที่ดินที่ใช้ประกอบเกษตรกรรมในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก. รวม 1,000 บาท
– นาย A เป็นเจ้าของที่ดิน ที่ใช้ในการประกอบเกษตรกรรมในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข. อีกจำนวน 3 แปลง ดังนี้
แปลงที่ 1 ที่ดิน 1 โฉนดมูลค่ารวม 10 ล้านบาท
แปลงที่ 2 ที่ดิน 2 โฉนดมูลค่ารวม 15 ล้านบาท
แปลงที่ 3 ที่ดิน 3 โฉนดมูลค่ารวม 10 ล้านบาท
สรุป นาย A มีที่ดินในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข. รวมทั้งสิ้น จำนวน 35 ล้านบาท นาย A ได้รับยกเว้นฐานภาษี 50 ล้านบาทแรก จึงไม่มีภาษีที่ต้องเสีย
1.2 ยกเว้นมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฐานภาษี) สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่บุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยหลังหลัก เป็นจำนวน 50 ล้านบาท2 เช่น
– นาย A สร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยบ้านและที่ดินดังกล่าวมีมูลค่ารวมกัน 70 ล้านบาท นาย A ได้รับยกเว้นฐานภาษี 50 ล้านบาทแรก ส่วนที่เกินจาก 50 ล้านบาทต้องนำไปเสียภาษี
1.3 ยกเว้นมูลค่าของสิ่งปลูกสร้าง (ฐานภาษี) สำหรับสิ่งปลูกสร้างที่บุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยหลังหลัก เป็นจำนวน 10 ล้านบาท3 เช่น
– นาย A สร้างบ้านของตนเองในที่ดินของบุคคลอื่น และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยบ้านหลังดังกล่าวมีมูลค่า 15 ล้านบาท นาย A ได้รับยกเว้นฐานภาษี 10 ล้านบาทแรก ส่วนที่เกินจาก 10 ล้านบาทต้องนำไปเสียภาษี
2. สิทธิประโยชน์เฉพาะกาล (ชั่วคราว)
2.1 ยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่บุคคลธรรมดาใช้ประกอบเกษตรกรรม โดยไม่พิจารณามูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นเวลา 3 ปีแรก4 กล่าวคือ สำหรับการจัดเก็บในปีภาษี 2563-2565
ดังนั้น ในช่วง 3 ปีแรกดังกล่าว ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่บุคคลธรรมดาใช้ประกอบเกษตรกรรม ไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด และเมื่อพ้นจากช่วง 3 ปีแรกไปแล้ว ให้นำหลักเกณฑ์ตามข้อ 1.1 มาใช้ต่อไป
2.2 บรรเทาภาระภาษีสำหรับจำนวนภาษีที่ต้องชำระในช่วง 3 ปีแรก5 โดยหากต้องชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวสูงกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือภาษีบำรุงท้องที่ในปีก่อน ส่วนต่างระหว่างภาษีดังกล่าวนั้นให้ชำระ ดังนี้
ปีแรก (2563) ชำระ 25% ของส่วนต่าง
ปีที่สอง (2564) ชำระ 50% ของส่วนต่าง
ปีที่สาม (2565) ชำระ 75% ของส่วนต่าง
เช่น ในปี 2562 นาย A ต้องชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน 100 บาท แต่ในปี 2563 นาย A ต้องชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนวน 200 บาท เพราะฉะนั้นในปี 2563 นาย A ต้องเสียภาษีเท่ากับภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน 100 บาท บวกกับ 25 บาท ( 25% ของ 100 บาท ซึ่งเป็นส่วนต่างระหว่างภาษี 2 ประเภท (200 – 100) ดังนั้น นาย A จึงต้องเสียภาษีในปี 2563 เป็นเงินจำนวน 125 บาท
สำหรับการดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งได้มีการขยายระยะเวลาการดำเนินการตามกฎหมายออกไปนั้น ทำให้ปัจจุบันยังคงอยู่ในช่วงของการจัดทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกาศและจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้กับผู้เสียภาษีแต่ละรายทราบ โดยจากเดิมให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 ขยายออกเป็นภายในเดือนมีนาคม 2563 และขยายระยะเวลาการดำเนินการอื่น ๆ ตามกฎหมาย
หลังจากนั้น ก็จะเป็นช่วงของการประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษี และรายละเอียดอื่น ๆ ที่จำเป็น โดยต้องประกาศให้แล้วเสร็จจากเดิมก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ขยายออกไปเป็นก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2563
ทั้งนี้ สำหรับหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ทรัพย์สินแต่ละประเภทจะเป็นอย่างไร เมื่อได้รับหนังสือแจ้งการประเมินแล้ว แต่ไม่ชำระภาษีตามกำหนดเวลา จะมีโทษอย่างไร หรือหากไม่เห็นด้วยกับหนังสือแจ้งการประเมิน แล้วต้องการคัดค้านหรืออุทธรณ์จะต้องทำอย่างไรนั้น ติดตามได้ในตอนต่อไปครับ/ค่ะ
1 มาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
2 มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
3 มาตรา 41 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
4 มาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
5 มาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใดๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
โทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9725
Email: warinthorns@dlo.co.th