เมษยา สีลาวรรณ
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
สืบเนื่องจากบทความตอนที่ 1 เรื่อง Update!!!… 5 ข้อต้องรู้เพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือกฎหมาย Transfer Pricing ที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปก่อนหน้าแล้ว ซึ่งหนึ่งในประเด็นร้อนแรงที่ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่หลายบริษัทกำลังดำเนินการจัดเตรียมข้อมูลอยู่นั้น คงหนีไม่พ้นเรื่องข้อมูลที่ต้องกรอกลงในรายงานประจำปีสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันตามมาตรา 71 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หรือ Disclosure Form1 ซึ่งต้องยื่นพร้อม ภ.ง.ด.50 ในอีกไม่กี่เดือนนี้ หลายท่านคงมีความกังวลใจว่า จะกรอกข้อมูลอย่างไร ต้องใช้ข้อมูลส่วนใดบ้าง โดยเฉพาะนักบัญชีที่มีหน้าที่ต้องรวบรวมข้อมูลและยื่นต่อกรมสรรพากร เนื่องจากหากกรอกข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วนโดยไม่มีเหตุอันสมควรแล้ว อาจต้องถูกปรับสูงสุดถึง 2 แสนบาท ในครั้งนี้ผู้เขียนจึงขอนำเสนอสิ่งที่ท่านต้องรู้ก่อนยื่น Disclosure Form ดังนี้
1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน
ท่านจะต้องกรอกข้อมูลของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันกับบริษัทท่านใน Disclosure Form ส่วน ก โดยไม่คำนึงถึงว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น จะมีการทำธุรกรรมกับบริษัทท่านในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 หรือไม่
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน ได้แก่ บริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้นไปที่มีความสัมพันธ์กันในลักษณะดังต่อไปนี้2
สำหรับการพิจารณาบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 นั้น กรมสรรพากรจะพิจารณาเฉพาะ ลักษณะความสัมพันธ์ตามลักษณะที่ 1 และ 2 เท่านั้น ดังนั้น ท่านจะต้องพิจารณาบริษัทในเครือเดียวกันกับท่านว่า บริษัทดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาลักษณะความสัมพันธ์ทั้งสองลักษณะนั้น ท่านจะต้องพิจารณาทั้งการถือหุ้นทางตรงและทางอ้อม (ย้ำ!!!) ซึ่งหากบริษัทท่านมีโครงสร้างการถือหุ้นที่ไม่ซับซ้อน หรือมีเพียงการถือหุ้นโดยนิติบุคคลหนึ่งถือหุ้นในอีกนิติบุคคลหนึ่งทางตรงไม่น้อยกว่า 50% ของทุนทั้งหมด ก็เป็นการง่ายในการพิจารณา สำหรับการกรอก Disclosure Form แต่ในทางกลับกัน หากบริษัทท่านมีโครงสร้างการถือหุ้นหลายชั้นหรือมีความซับซ้อนมาก ท่านจะต้องพิจารณาทั้งการถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมร่วมด้วย ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้
ตัวอย่าง บริษัทที่มีความสัมพันธ์กันกับบริษัท ก
จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่า การพิจารณาความสัมพันธ์ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน มีความสำคัญมากในการวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูล ท่านจึงต้องพิจารณาข้อมูลสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทท่านและบริษัทในเครือเดียวกันอย่างละเอียดทั้งที่เป็นบริษัทที่ประกอบกิจการในประเทศไทยและต่างประเทศ และไล่สายจนสุดความสัมพันธ์ทุกชั้น ซึ่งอาจจะต้องให้เวลาในการพิจารณาส่วนนี้พอสมควรทีเดียว แต่อย่างไรก็ดีข้อมูลบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน ที่ท่านจัดเตรียมนี้ ท่านสามารถนำไปเป็นฐานข้อมูลในการกรอก Disclosure Form ในปีต่อๆ ไป รวมถึงสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลในการจัดทำเอกสาร / หลักฐานสำหรับการวิเคราะห์ข้อกำหนดของธุรกรรมระหว่างกัน (TP Document) ได้ด้วย โดยไม่จำต้องจัดเตรียมซ้ำซ้อนหลายคราว เพียงแต่ท่านจะต้องรวบรวมเอกสาร/ข้อมูลให้เป็นหมวดหมู่เพื่อง่ายต่อการจัดทำเอกสาร / หลักฐานที่กฎหมายจะประกาศต่อไป
2. มูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี
เมื่อท่านพิจารณาได้แล้วว่า บริษัทในเครือเดียวกันบริษัทใดบ้างที่เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน ส่วนที่ท่านต้องจัดเตรียมข้อมูลต่อไปคือ การรวบรวมมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี 2562 กรณีที่บริษัทมีการทำธุรกรรมกับบริษัทในเครือเดียวกัน ซึ่งท่านต้องกรอกข้อมูลในส่วน ข ของ Disclosure Form โดยข้อมูลที่ท่านต้องรวบรวมมีรายการดังต่อไปนี้
2.1 รายได้โดยตรงจากการประกอบกิจการ
2.2 รายได้อื่น
2.3 ซื้อวัตถุดิบ/สินค้า
2.4 ซื้อที่ดินอาคารและอุปกรณ์
2.5 รายจ่ายอื่น เช่น ค่าสิทธิ ค่านายหน้า ดอกเบี้ยจ่าย เป็นต้น
2.6 จำนวนเงินกู้ยืม ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี
2.7 จำนวนเงินให้กู้ยืม ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี
ทั้งนี้ ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในคำอธิบายประกอบการกรอกแบบรายงานประจำปีสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันตามมาตรา 71 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร (Disclosure Form) ที่ https://bit.ly/2IHRenb
จากที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างต้น น่าจะพอเป็นแนวทางให้กับท่านในการจัดเตรียมข้อมูลสำหรับการจัดทำ Disclosure Form ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2562 นี้ ส่วนข้อมูลที่ท่านต้องจัดเตรียมในรอบระยะเวลาบัญชีถัดไป จะต้องติดตามกฎหมายและแนวทางของกรมสรรพากรและผู้เขียนจะอัพเดตข้อมูลให้ท่านทราบต่อไป
1ตามมาตรา 71 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
2ตามมาตรา 71 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9716
Email: maysayas@dlo.co.th