• ธรรมนิติ
  • /
  • บทความภาษีอากร
  • /
  • ภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา/ ตอนที่ 1 กรณีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยเป็นพนักงานประจำของบริษัทไทย

ภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา/ ตอนที่ 1 กรณีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยเป็นพนักงานประจำของบริษัทไทย

ภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ตอนที่ 1 กรณีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยเป็นพนักงานประจำของบริษัทไทย

 

             ปัจจุบันมีชาวต่างชาติไม่น้อยที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งบางท่านเข้าใจว่าเพียงแค่เข้ามาระยะเวลาสั้น ๆ ก็ไม่ต้องเสียภาษีหรือขอแค่จ่ายภาษีที่ประเทศบ้านเกิดก็ไม่เป็นไร ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดเพราะหากเข้ามาทำงานเป็นพนักงานประจำของบริษัทไทยในประเทศไทยแล้วแม้เพียงหนึ่งวันก็มีหน้าที่ที่ต้องเสียภาษีเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งการเสียภาษีที่ต่างประเทศในเงินก้อนเดียวกันนี้ก็ไม่อาจทำให้พ้นความรับผิดไม่เสียภาษีในประเทศไทย ผู้เขียนจึงขอนำเสนอให้ท่านผู้อ่านทำความเข้าใจดังนี้

            1. กรณีทำงานให้บริษัทไทยอย่างเดียว

             กรณีนี้ถือว่าหน้าที่ในการเสียภาษีในประเทศไทยจะเกิดขึ้นเพราะเหตุเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการของนายจ้างในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคแรกแห่งประมวลรัษฎากร2 ภาระภาษีจะไม่ต่างกับพนักงานซึ่งเป็นคนไทยเลย

             2. กรณีทำงานให้ทั้งบริษัทไทยและบริษัทต่างประเทศ

             กรณีนี้จะต้องพิจารณาก่อนว่าบริษัทต่างประเทศดังกล่าวเกี่ยวข้องกับบริษัทในประเทศไทยหรือไม่ และเงินได้ดังกล่าวท่านนำเข้ามาในไทยหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

             2.1 บริษัทต่างประเทศเกี่ยวข้องเป็นบริษัทแม่/บริษัทในเครือของบริษัทไทย

             หากท่านมีเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร1 เช่น เงินเดือน โบนัส หรือค่าเช่าบ้าน เป็นต้น จากบริษัทในต่างประเทศซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบริษัทไทย นั่นก็อาจจะทำให้ท่านมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากกรมสรรพากรเคยมีแนววินิจฉัยว่า กรณีพนักงานมีฐานะเป็นพนักงานของทั้งบริษัทไทยและบริษัทแม่ในต่างประเทศนั้น จะต้องนำเงินได้ที่ได้รับในประเทศไทยและต่างประเทศมารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย เนื่องจากมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร2กำหนดไว้ว่าต้องเสียภาษีในประเทศไทยไม่ว่าจะจ่ายเงินได้จากในหรือต่างประเทศก็ตาม ประกอบกับอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยและประเทศนั้น ๆ (“อนุสัญญาภาษีซ้อนฯ”) กำหนดให้จัดเก็บภาษีในประเทศไทยได้ ยกเว้นแต่ท่านสามารถพิสูจน์ให้เจ้าพนักงานกรมสรรพากรเชื่อได้ว่าเงินได้จากต่างประเทศนั้นไม่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานของท่านในบริษัทไทย ทั้งนี้ เทียบเคียงข้อหารือกรมสรรพากรที่ กค 0702/4899 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2552

             อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศนั้น ๆ จะยังไม่มีการทำอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย ท่านก็อาจยังคงต้องนำเงินได้จากบริษัทแม่ในต่างประเทศมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยตามมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากรนั่นเอง

             2.2 บริษัทต่างประเทศไม่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทไทย

             หากบริษัทต่างประเทศนั้นไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องใด ๆ กับบริษัทไทย เช่น ไม่ได้เป็นบริษัทแม่/บริษัทในเครือของบริษัทไทย ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านจะไม่ต้องเสียภาษีจากเงินได้นั้นในประเทศไทย ท่านอาจจะต้องนำเงินได้จากต่างประเทศดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยก็ได้ หากเป็นเงินได้จากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ และท่านได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีที่ได้รับเงินนั้น ตามมาตรา 41 วรรคสองแห่งประมวลรัษฎากร2

             3.  การเครดิตภาษี

             การทำงานเป็นพนักงานประจำให้แก่บริษัทไทยในประเทศไทยจะส่งผลให้ท่านมีภาระภาษีเสมือนคนไทยแม้จะทำงานแค่วันเดียวก็ตาม แต่ระยะเวลาดังกล่าวก็ยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องคำนึงเพื่อพิจารณาว่าท่านเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ เพื่อทำการขอเครดิตภาษีกรณีที่ท่านยังคงมีหน้าที่ในการเสียภาษีในต่างประเทศจากเงินได้ที่ท่านต้องเสียภาษีในประเทศไทยนี้

                ยกตัวอย่างเช่น หากท่านเป็นคนอเมริกันซึ่งมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยและประเทศอเมริกาในเงินได้เดียวกัน จะสามารถทำการเครดิตภาษีภายใต้เงื่อนไขดังนี้

(1) กรณีท่านอยู่ในประเทศไทยมากกว่าหรือเท่ากับ 180 วัน ถือว่ามีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ดังนั้น จึงต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ประเทศอเมริกา พร้อมทั้งขอหนังสือรับรองเพื่อการรัษฎากรจากกรมสรรพากรอเมริกา จากนั้นให้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย โดยนำเงินได้ที่ได้รับทั้งในและต่างประเทศทั้งหมดมารวมคำนวณโดยสามารถนำจำนวนที่ได้รับและเสียภาษีในประเทศอเมริกาแล้วมาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระในประเทศไทย ทั้งนี้ไม่เกินกว่าภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคสามแห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ข้อ 4 ข้อ 16 และข้อ 25 ของอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ3

(2)  กรณีท่านอยู่ในประเทศไทยน้อยกว่า 180 วัน ถือว่ามีถิ่นที่อยู่ในประเทศอเมริกา ดังนั้น จึงต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ประเทศไทย พร้อมทั้งขอหนังสือรับรองเพื่อการรัษฎากรจากกรมสรรพากรไทย จากนั้นให้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศอเมริกา โดยนำเงินได้ที่ได้รับทั้งในและต่างประเทศทั้งหมดมารวมคำนวณโดยสามารถนำจำนวนที่ได้รับและเสียภาษีในประเทศไทยแล้วมาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระในประเทศอเมริกา ทั้งนี้ไม่เกินกว่าภาษีที่ต้องเสียในประเทศอเมริกา ตามมาตรา 41 วรรคสามแห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ข้อ 4 ข้อ 16 และข้อ 25 ของอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ

             อย่างไรก็ตาม กฎหมายภาษีเป็นเรื่องละเอียดอ่อนซึ่งบางครั้งอาจมีการยกเว้นภาษีแก่ชาวต่างชาติในบางกรณี เช่น กรณีที่ท่านเป็นครูชาวต่างชาติซึ่งเข้ามาสอนในประเทศไทยโดยมีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปีจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย เป็นต้น นอกจากนี้ การเข้าใจในข้อเท็จจริงผิดไปแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้ผลของภาระภาษีต่างกันได้

 

ผู้เขียน  หทัยรัตน์ สุขประเสริฐ

 

——————————————————–

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

1มาตรา 40 เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้ รวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่าง ๆ ดังกล่าว ไม่ว่าในทอดใด

    (1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน

2มาตรา 41 ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทำในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย ต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้ไม่ว่าเงินได้นั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ

             ผู้อยู่ในประเทศไทยมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้เมื่อนำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย

             ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีปีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย

3อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้

            ข้อ 4. ผู้มีถิ่นที่อยู่

            ข้อ 16. บริการส่วนบุคคลที่ไม่เป็นอิสระ

             ข้อ 25. การบรรเทาภาระจากภาษีซ้อน