พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอันยิ่งใหญ่เรียกได้ว่าตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ซึ่งบางโครงการได้จัดตั้งในรูปแบบมูลนิธิเพื่อสืบสานพระราชปณิธานและเปิดโอกาสให้พสกนิกรชาวไทยได้ร่วมทำบุญทำกุศลตามแนวทางที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระมหากรุณาธิคุณมีพระราชดำริริเริ่มโครงการต่างๆ ไว้ โดยผู้บริจาคสามารถนำหลักฐานการบริจาคไปหักเป็นค่าลดหย่อน หรือค่าใช้จ่ายได้ตามเงื่อนไขดังนี้
1). กรณีบุคคลธรรมดา บริจาคเป็นเงินเท่านั้นจึงสามารถนำหลักฐานการบริจาคไปหักลดหย่อนได้เท่ากับจำนวนเงินที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว[1]
2). กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บริจาคเป็นเงินหรือทรัพย์สินก็ได้ สามารถนำรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ[2]
ผู้เขียนขอนำเสนอข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับมูลนิธิและโครงการต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นโดยลำดับดังนี้
1. มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นองค์การสถานสาธารณกุศล ลำดับที่ (43) มีประวัติความเป็นมาดังนี้ [3]
เมื่อคืนวันที่ 25 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2505 พายุโซนร้อน “แฮเรียต” พัดผ่านภาคใต้ยังความเสียหายให้เกิดแก่ 12 จังหวัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นห่วงผู้ประสบภัย อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ในขณะนั้นรับสนองพระบรมราชโองการให้เดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถานีวิทยุ อส.[4] ประกาศเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์และสิ่งของ โดยทรงรับและพระราชทานสิ่งของด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเงินให้กระทรวงศึกษาธิการ สร้างโรงเรียนประชาบาลที่ถูกพายุพัดพัง รวม 12 โรงเรียน และภายหลัง พระราชทานชื่อว่า “โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 1 ถึง 12” ตามลำดับ
ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้ ผู้เขียนเองได้มีโอกาสชมไฟล์ภาพยนตร์สั้น ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้ตรัสถึงการพระราชทานสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ประชาชนเห็นกันทางโทรทัศน์ ล้วนมาจากพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น มิได้มีเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังหรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นผู้พิจารณาดำเนินการไปโดยลำพังตามระบบงาน จึงทำให้เห็นได้ว่าพระองค์ท่านทรงห่วงใยชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทรงคำนึงถึงความทุกข์ร้อนของประชาชนตลอดเวลาไม่เว้นแม้แต่กระทั่งในขณะที่พระองค์ทรงพระประชวร
2. มูลนิธิสายใจไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นองค์การสถานสาธารณกุศล ลำดับที่ (49)[5] มีประวัติความเป็นมาดังนี้ [6]
ในช่วงเวลาที่โลกมีความขัดแย้งทางอุดมการณ์การเมืองระหว่างประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ ประเทศไทยมีปัญหาความไม่สงบ ระบบคอมมิวนิสต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากภายนอกประเทศ เข้ามาทำสงครามแย่งชิงประชาชน รัฐบาลในสมัยนั้นจัดให้มีการปราบปราม เกิดการสูญเสียชีวิตการบาดเจ็บพิการและความเดือดร้อน กระทบถึงราษฎร โดยทั่ว ๆ ไปอีกเป็นจำนวนมาก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ทรงห่วงใยในความทุกข์ของราษฎร จึงได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์เยี่ยมผู้ปฏิบัติหน้าที่และในขณะเดียวกันก็ได้ทรงเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ครอบครัวผู้เสียสละเหล่านี้ ในงานพระราชทานเพลิงศพวีรชน ได้ทรงมีพระราชปฏิสันถารไต่ถามชีวิตความเป็นอยู่ นอกจากนี้ยังได้ทรงมีพระราชปรารภถึงผู้ที่อยู่ในเมืองว่า ควรสำนึกถึงความเสียสละอันใหญ่หลวงนี้ให้มาก บางคราวบุคคลเหล่านี้ต่อสู้จนร่างกายพิการไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม ประเทศชาตินั้นเปรียบเสมือนครอบครัวใหญ่ บุคคลในชาติควรมีความรักสามัคคีและเห็นอกเห็นใจกัน เมื่อญาติพี่น้องส่วนหนึ่งทำหน้าที่ป้องกันประเทศชาติด้วยความกล้าหาญ จนต้องประสบชะตากรรมที่น่าสงสารเช่นนี้แล้ว พี่น้องส่วนหนึ่งควรเห็นอกเห็นใจร่วมทุกข์ช่วยเหลือเกื้อกูลเขาเหล่านั้น
การตอบแทนจากเงินบำเหน็จและเงินช่วยเหลือจากทางราชการในขณะนั้นเป็นจำนวนเงินไม่มากนักและต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาเป็นเวลานาน จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของผู้สละชีพเพื่อประเทศชาติในทันที โดยเฉพาะราษฎรอาสาสมัครที่ได้รับบาดเจ็บทุพพลภาพหรือเสียชีวิตจะไม่มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือ
ในวันที่ 2 เมษายน 2518 พระองค์ท่านและสมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญทหาร ตำรวจ ราษฎร อาสาสมัครอื่นๆ ที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศชาติ มารับพระราชทานเลี้ยง พร้อมกันนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญผู้มีจิตกุศลเป็นจำนวนมากมาร่วมในงานด้วย ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนเริ่มแรก และร่วมสมทบโดยพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์และมีผู้มีจิตศรัทธาที่ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์ประธานมูลนิธิ นับแต่นั้นเป็นต้นมา
ผู้เขียนได้มีโอกาสชมไฟล์ภาพยนตร์สั้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสกับนักข่าวต่างประเทศ[7] ได้ทูลถามพระองค์ท่านขณะทรงเสด็จไปเป็นขวัญและกำลังใจผู้ที่ทำงานสร้างเขื่อนในพื้นที่ทุรกันดารในสมัยที่ประเทศไทยมีการต่อสู้กับพวกนิยมลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง โดยนักข่าวได้สอบถามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพระองค์ท่านได้ทรงมีพระราชดำรัสตอบนักข่าว ดังนี้
นักข่าว : ท่านคิดว่าคอมมิวนิสต์จะคิดอย่างไรกับกรณีที่ท่านมาสร้างเขื่อน
รัชกาลที่ 9 : บางคนก็อาจจะพูดว่านี่คือโครงการปิศาจก็แล้วแต่ใครจะพูด
นักข่าว : ถ้าไม่มีคอมมิวนิสต์ทางรัฐบาลและพระองค์ก็คงไม่มาทำโครงการนี้
รัชกาลที่ 9 : พวกท่านชอบถามแบบนี้ เรื่องนี้มันเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว ถ้าไม่มีพวกเขา (คอมมิวนิสต์) ประเทศเราก็จะไม่มีปัญหาและเขื่อนนี้ก็อาจจะทำการก่อสร้างเสร็จไปนานแล้ว แต่ในเมื่อมีพวกเขาอยู่ที่นั่น เราก็ต้องยอมลำบากมาเยี่ยมเยือน เพราะคนที่ทำงานสร้างเขื่อนนี้ต้องการขวัญและกำลังใจ
นักข่าว : สร้างเขื่อนแล้วท่านคิดว่าท่านจะชนะในการต่อสู้ใช่ไหม
รัชกาลที่ 9 : ชนะใคร ต่อสู้กับใคร
นักข่าว : ก็พวกคอมมิวนิสต์
รัชกาลที่ 9 : ก็ไม่รู้สิ แต่เราชนะความอดอยากหิวโหยนี่คือสิ่งที่เราทำ เราไม่ได้ต่อสู้กับประชาชนเราต่อสู้กับความอดอยากหิวโหย เราปรารถนาให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าประชาชนเหล่านี้มีชีวิตที่ดีขึ้น พวกฝ่ายที่ท่านเรียกว่าคอมมิวนิสต์ ก็จะมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยเช่นกันทุก ๆ คนต่างก็จะมีความสุขทั้งหมด
จากพระราชดำรัสดังกล่าวข้างต้น อาจจะพอช่วยให้ประชาชนที่เกิดไม่ทันในยุคนั้นได้รับรู้ถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้ พระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรนี้ ไม่มีการยกเว้นหรือเลือกที่รักมักที่ชังแม้แต่ต่อบุคคลที่ไปเข้ากับฝ่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งมีความคิดว่าพระองค์คือศัตรูของการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์
นอกจากนี้ยังมีองค์การสถานสาธารณกุศลในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์อีกเป็นจำนวนมาก อาทิ
สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประสงค์จะบริจาคทรัพย์สินหรือสินค้าให้แก่องค์การ สถานสาธารณกุศลดังกล่าวมาข้างต้น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคสามารถหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ตามเงื่อนไขที่กล่าวมาแล้ว และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยังได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริจาคทรัพย์สินหรือสินค้า[8]อีกด้วย แต่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้บริจาคทรัพย์สินหรือสินค้าดังกล่าวจะไม่สามารถนำภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อทรัพย์สินหรือสินค้าเพื่อนำไปบริจาคมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มนำส่งกรมสรรพากรได้ เพราะเป็นภาษีซื้อที่มิได้นำไปใช้ในกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม[9] แต่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคคลผู้บริจาคทรัพย์สินหรือสินค้าให้แก่องค์การสถานสาธารณกุศลดังที่กล่าวมาข้างต้นสามารถนำภาษีซื้อดังกล่าวไปหักเป็นรายจ่ายได้[10] เช่น บริจาคสิ่งของมูลค่าจำนวน 10,000 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 700 บาท บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวสามารถนำต้นทุนจำนวนรวม 10,700 บาทไปหักเป็นรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะได้ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลฯ[11]
ดังนั้น หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลประสงค์จะบริจาคให้แก่องค์การสถานสาธารณกุศล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้บริจาคนั้นต้องไม่นำภาษีซื้อมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มนำส่งกรมสรรพากร หากกระทำโดยถูกต้องแล้วกรณีจึงจะไม่ต้องถูกประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม และเบี้ยปรับเงินเพิ่มจากเจ้าหน้าที่สรรพากรแต่อย่างใด
จากโครงการในพระราชดำริที่ได้ทรงริเริ่ม ที่กล่าวถึงมานั้นเป็นเพียงส่วนน้อยนิดในโครงการพระราชดำริทั้งหมด 4,596 โครงการ[12] ตลอด 70 ปีที่พระองค์ทรงครองราชย์ พระองค์ท่านไม่เคยที่มีพระราชดำริที่จะแบ่งแยกว่าประชาชนคนไหนเลือกหรือรักหรือบูชาพระองค์ท่านจึงจะได้รับการดูแลที่ดี ส่วนผู้ที่ไม่เลือกไม่รักหรือไม่บูชาพระองค์ท่านจะได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างออกไป พระองค์ท่านไม่ทรงมีพระราชดำริในลักษณะนี้แม้แต่น้อย ทุกพระราชจริยวัตร ทุกพระราชดำริของพระองค์ท่านเป็นไปเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี และเพื่อบรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชนในประเทศทุกคนอย่างแท้จริง โดยไม่มีข้อแม้หรือข้อยกเว้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่านับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ในโอกาสนี้จึงขอน้อมรำลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นและขอทำหน้าที่ในฐานะพสกนิกรชาวไทย นำเสนอข้อมูลบางส่วนของโครงการในพระราชดำริและโครงการในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งได้จัดตั้งเป็นองค์การสถานสาธารณกุศล ตลอดจนการใช้สิทธิประโยชน์ในทางภาษีจากการบริจาค ในกรณีที่พสกนิกรจะใช้โอกาสนี้ในการทำบุญอุทิศถวายเป็นพระราชกุศล อีกทั้งเพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทยต่อไป
————————————————-
[1]ประมวลรัษฎากร มาตรา 47 (7)
[2]ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (3)
[3]สืบค้นจาก http://www.rajaprajanugroh.org/ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559
[4]อส. เป็นอักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถาน ผู้ที่สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก https://goo.gl/U1HswD
[5]ประมวลรัษฎากร มาตรา 47 (7)(ข) ประกอบกับ ประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม เรื่อง กำหนดองค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล และสถานศึกษาตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
[6]สืบค้นจาก http://www.saijaithai.or.th/ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559
[7]สืบค้นจาก https://goo.gl/dKl2Ol เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559
[8]ประมวลรัษฎากร มาตรา 81 (1) (น) ประกอบกับพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 239) พ.ศ.2534 มาตรา 3 (4) (ข)
[9]ประมวลรัษฎากร มาตรา 82/5 (6) ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) ข้อ 2 (3)
[10]ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) ประกอบกับพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 243) พ.ศ.2534 มาตรา 3
[11]ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (3)
[12]สืบค้นจาก https://goo.gl/lA3iz1 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559