รายจ่ายที่เป็นค่าจ้างนักเรียนหรือนักศึกษาสาขาบัญชี นำมาหักรายจ่ายได้อีก 1 เท่า

ราชศักดิ์ กุลกัลยา

 บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

 

        เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการจัดทำบัญชีให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 607) พ.ศ. 2559 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจ้างนักเรียนหรือนักศึกษาซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในแผนกหรือสาขาบัญชีให้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับบัญชี โดยให้สิทธิผู้ประกอบการสามารถนำค่าจ้างที่จ่ายให้นักเรียนหรือนักศึกษาดังกล่าวนั้นมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้อีก 1 เท่า สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้[1]

 

            1. ผู้ประกอบการต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ดังนั้น กรณีบริษัทต่างประเทศที่เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย หรือสาขาของบริษัทต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย จึงไม่สามารถรับสิทธิตามกฎหมายฉบับนี้ได้

            2. มีสินทรัพย์ถาวรมูลค่าไม่เกิน 200 ล้านบาท ทั้งนี้สินทรัพย์ถาวรดังกล่าวไม่รวมถึงที่ดิน

            3. มีการจ้างแรงงานในการประกอบกิจการไม่เกิน 200 คน

            4. ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด[2]

 

           สำหรับนักเรียนหรือนักศึกษาที่กำลังศึกษาในหลักสูตรบัญชีนั้น ต้องเป็นหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากสถาบันการศึกษาในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ วิทยาลัยชุมชน สถาบันราชภัฏ สถานศึกษาอาชีวศึกษา สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เป็นต้น ทั้งนี้รวมถึงมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน เนื่องจากอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)[3] ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการ จึงถือว่ามหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาที่อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดต่อไป

         ซึ่งโดยปกติแล้ว เมื่อผู้ประกอบการได้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาแล้วแล้ว ค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการ ผู้ประกอบการมีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้[4] และเมื่อผู้ประกอบการปฏิบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขดังที่ได้กล่าวมาแล้ว กิจการนั้นย่อมสามารถได้รับสิทธินำค่าตอบแทนที่จ่ายไปนั้นมาเป็นรายจ่ายได้อีกเท่าหนึ่ง

          ตัวอย่าง   กรณีบริษัทที่เข้าหลักเกณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้น จ่ายค่าจ้างให้แก่พนักงานทั่วไปของบริษัท จำนวน 1,000,000 บาท และจ่ายค่าจ้างพนักงานที่เป็นนักศึกษาที่กำลังศึกษาปริญญาตรี สาขาบัญชีจำนวน 200,000 บาท 

                             ค่าจ้างของพนักงานทั้งหมดรวม                                                                    1,200,000 บาท

                             รายจ่ายที่หักเพิ่มได้อีกตาม พ.ร.ฎ. ฉบับที่ 607                                                200,000  บาท

                             รวมรายจ่ายทั้งหมด                                                                                      1,400,000 บาท

 

            จากการออกพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ก็เพื่อสนับสนุนโครงการบัญชีเล่มเดียวที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการซึ่งรัฐบาลได้ออกกฎหมายดังกล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้[5] ผู้เขียนเห็นว่ามิใช่เฉพาะผู้ประกอบการเท่านั้นที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการนำค่าจ้างมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้อีกเท่าหนึ่ง แต่ยังก่อให้เกิดการจ้างงานจากนักเรียนหรือนักศึกษาเป็นจำนวนมาก อีกทั้งบรรดานักเรียนหรือนักศึกษาที่ถูกจ้างงานย่อมได้รับประสบการณ์ในการทำงาน และฝึกทักษะด้านวิชาชีพบัญชี ไปพร้อมกัน และยังมีรายได้ระหว่างศึกษาอีกด้วย เมื่อนักเรียนหรือนักศึกษาเหล่านี้จบการศึกษาแล้ว ย่อมเป็นบุคลากรด้านวิชาชีพบัญชีที่มีคุณภาพ และเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานต่อไป

               



[1]  มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 607)  พ.ศ. 2559

[2] ยังไม่มี หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ณ วันที่ 17  พฤษภาคม 2559

[3] มาตรา 16 แห่ง พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษา พ.ศ. 2546

[4] มาตรา 65ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

[5] พระราชกำหนด  ยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2558 และ 

  พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 595)  พ.ศ.2558