ยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้กรณีโอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตร
นายธรดล จันทรศัพท์
ที่ปรึกษากฎหมายภาษีอากร
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
อีเมล์ : taradolc@dlo.co.th
เดิมทีกรณีบิดา มารดา โอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายโดยไม่มีค่าตอบแทน ผู้โอนจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ทั้งหมด[1] แต่ต่อมาเนื่องจากรัฐบาลได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับภาษีการรับมรดก[2]ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวส่งผลให้ต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรโดยกำหนดภาระภาษีเกี่ยวกับการให้ควบคู่ไปด้วย ซึ่งในส่วนของภาระภาษีเกี่ยวกับการให้นั้นกฎหมายกำหนดให้การโอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายโดยไม่มีค่าตอบแทนในปีหนึ่งๆนั้น หากอสังหาริมทรัพย์นั้นมีมูลค่าเกิน 20 ล้านบาท[3] บิดา มารดาผู้โอนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5[4]
จากการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากรณีที่บิดา มารดา โอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายโดยไม่มีค่าตอบแทนในปีหนึ่งๆนั้น ประมวลรัษฎากรกำหนดเพดานขั้นสูงของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีคือต้องมีมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าข้อ 2(18) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ยังคงยกเว้นภาษีเงินได้จากกรณีดังกล่าวทั้งหมดโดยไม่ได้มีการกำหนดเพดานขั้นสูงของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่โอนไปแต่อย่างใด
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่นระหว่างมาตรา 42(26) ของประมวลรัษฎากรกับข้อ 2(18) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมารัฐบาลจึงได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 312 (พ.ศ.2559) ยกเลิกข้อ 2(18) ของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวโดยกำหนดไม่ให้เงินได้ที่เกิดจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายโดยไม่มีค่าตอบแทนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้อีกต่อไป[5]
อย่างไรก็ดี ท่านผู้อ่านโปรดอย่าลืมว่าแม้จะมีกฎกระทรวงฉบับที่ 312 (พ.ศ.2559) กำหนดข้อความยกเลิกไว้เช่นนั้นแต่สำหรับภาระภาษีกรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ลักษณะนี้นั้น ท่านยังคงต้องกลับไปพิจารณาตามประมวลรัษฎากรที่แก้ไขใหม่ซึ่งผู้เขียนกล่าวไว้ในตอนต้นว่าเข้าเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีหรือไม่ อย่างไร
เพื่อความเข้าใจ ผู้เขียนขอยกคำถาม คำตอบพอสังเขปดังนี้
คำถาม หากบิดา มารดาประสงค์จะโอนที่ดินมูลค่า 25 ล้านบาทให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายโดยให้เปล่า ต้องเสียภาษีหรือไม่ อย่างไร
คำตอบ หากบิดา มารดาโอนที่ดินให้แก่บุตรก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 บิดา มารดาจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ทั้งหมดตามข้อ 2(18) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) แต่หากบิดา มารดาโอนให้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นเวลาที่ประมวลรัษฎากรและกฎกระทรวงฉบับที่ 312 (พ.ศ.2559) ใช้บังคับ บิดา มารดา ผู้โอนจะได้รับยกเว้นเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทแต่ยังคงต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าที่ดินส่วนที่เกิน 20 ล้านบาทนั้น
อนึ่ง อาจมีผู้อ่านบางท่านสงสัยว่าเหตุใดบิดา มารดาผู้โอนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆเพราะเป็นการให้เปล่าแก่บุตรของตนต้องกลายเป็นผู้เสียภาษี สำหรับเรื่องนี้นั้นมาตรา 41 ทวิของประมวลรัษฎากรได้กำหนดไว้ว่าการโอนทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนไม่ว่าผู้โอนและผู้รับโอนจะมีความสัมพันธ์พิเศษหรือไม่นั้นถือว่าผู้โอนเป็นผู้มีเงินได้และมีหน้าที่ต้องเสียภาษี[6]ด้วยเพราะหากกฎหมายไม่กำหนดเช่นนั้นแล้ว คู่สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์คงต่างจะจูงมือกันมาจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์และกล่าวอ้างว่าเป็นการให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีก็เป็นได้ ดังนั้น กฎหมายจึงถือว่าผู้โอนอสังหาริมทรัพย์แม้จะไม่มีค่าตอบแทนก็ตามถือว่าตนเป็นผู้ขายและได้รับเงินมา และเมื่อพิจารณาประกอบกับประมวลรัษฎากรมาตรา 39 ก็ได้กำหนดนิยามคำว่า “ขาย” ว่าหมายความว่าให้รวมถึงการให้ไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่[7] จากหลักกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นคำตอบว่าเหตุใดแม้ว่าบิดา มารดา โอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรโดยไม่มีค่าตอบแทนแต่ยังคงต้องเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้
สุดท้าย นี้ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านจะเข้าใจที่มา ที่ไปของการออกกฎกระทรวงฉบับที่ 312 (พ.ศ.2559) ตลอดจนมีความเข้าใจถึงภาระภาษีที่เกิดขึ้นจากกรณีบิดา มารดา โอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรของตน