สิทธิประโยชน์ทางภาษี เที่ยวทั่วไทย สุขใจทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง
โดย ธนัชชา กิจสุวรรณ
ที่ปรึกษากฎหมายภาษีอากร
สืบเนื่องจากรัฐบาลต้องการที่จะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวภายในประเทศมาตรการทางภาษีเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่รัฐบาลนำกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งแบ่งประเภทของการใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการนี้ได้เป็น 2 กรณี คือ
1. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ ตาม พ.ร.ฎ. (ฉบับที่580) ประกอบ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 251) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง มีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้
1) เป็นรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่นค่าวิทยากร อุปกรณ์ เอกสารประกอบการสัมมนา หรือรายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เพื่อ การอบรมสัมมนา เฉพาะการอบรมสัมมนาและห้องพักภายในประเทศ
2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องจัดทำโครงการอบรมสัมมนาโดยมีหลักฐานเอกสารประกอบโครงการ
3) ไม่ใช่สิทธิซ้ำกับกรณียกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 437) พ.ศ. 2548
ดังนั้น รายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ ซึ่งปกติจะต้องขออนุมัติหลักสูตรหรืออมรมกับสถานอบรมของทางราชการหรือเอกชนตามที่กฎหมายกำหนด จึงจะลงเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า แต่สำหรับการพาพนักงานไปสัมมนาภายในประเทศโดยปกติถ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของกิจการสามารถลงรายจ่ายได้อยู่แล้ว แต่กฎหมายฉบับนี้ให้ลงรายจ่ายได้อีก ร้อยละ 100 ซึ่งหมายความว่าทางภาษีลงได้ 2 เท่า ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2557 ไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2558
2. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ หรือที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 305 ประกอบประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 250) ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2557 ไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2558 ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1) ได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะบุคคลธรรมดา ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท
2) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียวให้ได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะฝ่ายซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท
3) กรณีสามีหรือภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้
– ต่างฝ่ายต่างแยกยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้เพื่อคำนวณให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท
– ถ้าตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกันไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่ง ได้รับยกเว้นเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท และได้รับยกเว้นภาษีของคู่สมรสได้อีกตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท
4) ต้องเป็นการจ่ายเพื่อการท่องเที่ยวของตนเองและมีหลักฐานการรับเงินจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวหรือผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม โดยระบุชื่อผู้มีเงินได้ จำนวนเงิน วัน เดือน ปี ที่จ่ายเงิน
จึงอาจกล่าวได้ว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากมาตรการนี้เป็นการคืนความสุขให้กับผู้เสียภาษีทั้งหลาย และระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สุดท้ายนี้ก็ของให้ทุกท่านท่องเที่ยวทั่วไทยอย่างมีความสุขใจ สบายกระเป๋า ตลอดปี 2558 ค่ะ