ผลทางภาษีในกรณีสินค้า/ทรัพย์สิน เสียหายจากอุทกภัย

มหาอุทกภัยในปีนี้ ได้ก่อความเสียหายต่อภาคธุรกิจของไทยอย่างมหาศาล บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ได้พยายามปกป้องกิจการจากอุทกภัยดังกล่าว ทั้งด้วยการป้องกันสารพัดวิธี การขนย้ายทรัพย์สินและสินค้าไปที่สูงหรือที่ปลอดภัย บางแห่งสามารถจัดการได้ทันท่วงที แต่บางแห่งก็ได้รับความเสียหาย เช่น กรณีน้ำเข้าท่วมรถถยนต์ที่ประกอบเสร็จ ซึ่งเป็นสินค้ารอการขายร่วม 200 คัน ของบริษัทผลิตรถยนต์ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง บทความนี้ จะวิเคราะห์ผลทางภาษีในกรณีสินค้า/ทรัพย์สินได้รับความเสียหายจากอุทกภัย

ในกรณีรถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าของบริษัทได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ บริษัทย่อมสามารถนำมูลค่าต้นทุนของสินค้าทั้งจำนวน ไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เสมอหากสินค้าดังกล่าวไม่ได้มีการทำประกันไว้ เนื่องจากถือเป็นผลเสียหายของกิจการ แต่การนำมูลค่าต้นทุนของสินค้าไปหักเป็นรายจ่ายนั้น สิ่งที่บริษัทควรต้องพิจารณาประกอบจัดให้มีขึ้น คือ หลักฐานแสดงว่า สินค้านั้นเกิดความเสียหายจริง เช่น บันทึกการแจ้งความหรือบันทึกว่า น้ำท่วมขังสูงเท่าไรและเป็นระยะเวลานานเพียงใด มีสิ่งใดเสียหายบ้าง ภาพถ่ายทรัพย์สินที่เสียหาย เป็นต้น ซึ่งหากบริษัทมีสินค้าสูญหายจากการถูกโจรกรรม1 ในช่วงน้ำท่วม หรือถูกน้ำพัดพาไป ก็สามารถใช้หลักเกณฑ์ในการลงรายจ่ายได้เช่นเดียวกับกรณีสินค้าเสียหายข้างต้น

แต่หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า สินค้าของบริษัทได้มีการทำประกันภัยสินค้าไว้กับบริษัทประกันภัย เมื่อบริษัทได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากการที่สินค้าเสียหาย ผลทางภาษีอากรก็จะแตกต่างกัน กล่าวคือ หากทำประกันไว้เท่ากับต้นทุนสินค้าอาจจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวน กรณีย่อมไม่มีเงินได้เกิดขึ้น แต่หากทำประกันไว้เกินกว่ามูลค่าต้นทุนสินค้า เช่น ทำประกันไว้เท่ากับราคาที่คาดว่าจะขายได้ คือ 1.5 ล้านบาท แต่ต้นทุนจริงคือ 1 ล้านบาท ส่วนเกิน 500,000 บาทดังกล่าวยังถือเป็นเงินได้ที่จะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อการเสียภาษี

เนื่องจากรัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาใหม่2 เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยยกเว้นภาษีเงินได้ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกัน แต่กฎใหม่นี้ใช้กับกรณีของทรัพย์สินเท่านั้น สังเกตจากการที่กฎหมายใช้คำว่า “เฉพาะส่วนที่เกินมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหลือหลังจากหักค่าสึกหรอค่าเสื่อมราคาแล้ว” ดังนั้นความหมายจึงแคบลง คำว่าทรัพย์สินดังกล่าวจึงไม่รวมถึงสินค้า ในกรณีของบริษัทรถยนต์ดังกล่าว ค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกัน ส่วนที่เกินจากต้นทุนของสินค้า จึงถือเป็นเงินได้ของบริษัทที่จะต้องนำไปรวมคำนวนกำไรสุทธิต่อไป

ในกรณีสินค้าเสียหายทั้งหมดหรือบางส่วน ในส่วนที่เสียหายจนซ่อมแซมไม่ได้ บริษัทย่อมนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ซึ่งต้องมีหลักฐานว่า ความเสียหายเกิดจากเหตุน้ำท่วมจริง เช่น ภาพถ่ายทรัพย์สินที่ถูกน้ำท่วม โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามคำสั่งกรมสรรพากร3  ซึ่งให้ใช้วิธีทำลาย หากเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้

1. ต้องมีการตรวจสอบสภาพสินค้าดังกล่าวว่า เสียหายตามเงื่อนไขที่แต่ละกิจการได้กำหนดไว้หรือไม่ และต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจในการพิจารณาให้เป็นสินค้าเสียหายตามเงื่อนไขที่กำหนดดังกล่าว

2. เมื่อได้รับอนุมัติให้ทำลายของเสียหรือสินค้าหรือเศษซากจากผู้มีอำนาจอนุมัติให้ทำลายแล้ว ให้มีบุคคลอย่างน้อยประกอบด้วย ฝ่ายคลังสินค้า ฝ่ายบัญชี ฝ่ายขาย หรือฝ่ายตรวจสอบ (ถ้ามี) ร่วมสังเกตการณ์ และลงลายมือชื่อเป็นพยานในการทำลาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการบันทึกบัญชี พร้อมทั้งให้เชิญผู้สอบบัญชีมาเป็นพยานในการทำลาย

ทั้งนี้ ในกรณีที่สินค้านั้นไม่สามารถเก็บไว้รอทำลายได้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรร่วมเป็นพยานในการทำลายก็ได้ แต่หากสามารถรอทำลายเมื่อมีปริมาณมาก ๆ ได้ ก็ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรร่วมเป็นพยานในการทำลายด้วย

สำหรับในมุมของภาษีมูลค่าเพิ่ม การที่สินค้าสูญหาย เสียหาย ย่อมทำให้สินค้านั้นขาดไปจากรายงานสินค้า หรือวัตถุดิบ ที่เรียกกันว่า สต๊อคสินค้า ซึ่งตามหลักปกติ จะถือว่าเป็นการขาย คือแม้ไม่ได้ขายจริงแต่กฎหมายให้ถือว่าได้ขายแล้ว จึงต้องนำมูลค่าต้นทุนสินค้านั้นมาคำนวณเป็นภาษีขาย โดยสามารถนำภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขายได้ตามปกติ แต่กรณีนี้ ก็จะไม่มีภาษีขายในส่วนของสินค้าที่เสียหายจากน้ำท่วม เนื่องจากได้ทำลายสินค้าไปแล้ว สมมุติว่า บริษัทจ่ายค่าซื้อชิ้นส่วนเพื่อนำมาประกอบเป็นตัวรถยนต์ไป 1 ล้านบาท สามารถนำมาประกอบเป็นรถยนต์ได้ 10 คัน มีภาษีซื้อ 7,000 บาท รถยนต์เสียหายไป 5 คัน รถยนต์คันที่เหลืออยู่ก็นำไปขายตามปกติ บริษัทยังสามารถนำภาษีซื้อทั้งหมดนี้ไปหักออกจากภาษีขายได้เต็มจำนวน

หากทรัพย์สินของกิจการได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ผลคือ หากทรัพย์สินนั้นซ่อมแซมได้ ก็เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพ เพื่อนำทรัพย์สินกลับมาใช้งานได้ตามปกติ ค่าซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหาย สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ เพราะถือเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ  เช่น บริษัทซื้อเครื่องจักรมาราคา 1 แสนบาท ที่ใช้ในการผลิตสินค้า มีอายุการใช้งาน 5 ปี ใช้มาแล้ว 2 ปี หักค่าสึกหรอ ค่าเสื่อมราคาไปแล้ว 40,000 บาท ยังเหลือมูลค่าอยู่ 60,000 บาท ถูกน้ำท่วมเสียหาย จ่ายค่าซ่อมเป็นเงิน 20,000 บาท ก็เพื่อให้เครื่องจักรนั้นสามารถใช้งานได้ตามปกติ คือเป็นการคงสภาพเดิมนั่นเอง จึงไม่ต้องห้ามหักเป็นรายจ่าย4

ในกรณีที่บริษัททำประกันภัยทรัพย์สิน ผลทางภาษีอากร จะแตกต่างกันคือ ไม่ว่าจะซ่อมแซมได้หรือไม่ บริษัทประกันย่อมชดเชยให้ตามที่เสียหายจริง แต่หากได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าที่เสียหายจริง หรือเกินกว่ามูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่หลังหักค่าเสื่อมราคา บริษัทก็ยังได้รับยกเว้นภาษี เพราะเป็นทรัพย์สินซึ่งเข้าเกณฑ์กฎใหม่ดังที่ได้อธิบายมาแล้วข้างต้น แต่บริษัทจะนำค่าซ่อมมาหักเป็นรายจ่ายอีกไม่ได้ เพราะได้รับการชดเชยครบถ้วนแล้ว

หากข้อเท็จจริงคล้ายกรณีเดิม เพียงแต่ค่าซ่อมสูงมากถึง 900,000 บาท จนใกล้เคียงกับราคาที่ซื้อมาแล้ว กล่าวคือ ซื้อใหม่ยังจะเหมาะสมกว่า และสามารถทำให้เครื่องจักรมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น ก็จะเป็นค่าใช้จ่ายที่มีลักษณะเป็นการลงทุน ในกรณีนี้ บริษัทต้องนำค่าเสื่อมราคามาหัก ตามหลักเกณฑ์ปกติ5

ในมหาอุทกภัยครั้งนี้ บางบริษัทห้างร้าน ได้เตรียมตัวรับมือกับน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี เช่น ขนสินค้าไปเก็บในสถานที่ปลอดภัย ตั้งกระสอบทรายและก่อกำแพงปูนที่แข็งแรงและสูงเพียงพอ แม้น้ำมาไม่ถึง แต่ก็ดีกว่าไม่ป้องกันเลย ดังภาษิตที่ว่า “เตรียมตัวมาก เสียหายน้อย เตรียมตัวน้อย เสียหายมาก” หากใครอยากเสียหายน้อย ก็ควรเตรียมป้องกันไว้ให้มากสักหน่อย ไม่ควรรอพึ่งรัฐบาลหรือคนอื่น

—————————————————————————-

1  หนังสือตอบข้อหารือกรมสรรพากร เลขที่ กค 0706/34060  ลงวันที่ 5 เมษายน 2549 

มาตรา 4 พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 527)พ.ศ. 2554

คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.79/2541

มาตรา 65 ตรี (5) รายจ่ายต้องห้าม ได้แก่ รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน หรือรายจ่ายในการต่อเติมเปลี่ยนแปลงขยายออกหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม

5  พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145)