ภาษีซื้อต้องห้าม แต่นำไปถือเป็นรายจ่ายได้ (ตอนที่ 2)

ตอนที่ 1 ผู้เขียนได้กล่าวถึงภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองไปแล้ว ว่าเป็นภาษีซื้อต้องห้ามที่กฎหมายยอมให้ผู้ประกอบการนำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ สำหรับตอนที่ 2 ผู้เขียนจะกล่าวต่อไปถึงภาษีซื้อต้องห้ามประเภทอื่นๆ บ้าง ซึ่งก็คือ ภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (4) แห่งประมวลรัษฎากร  ดังนี้
1.  ภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์
ผู้เขียนเชื่อว่ากิจการเกือบทุกกิจการต้องมีการซื้อหรือเช่ารถยนต์มาใช้ในการประกอบกิจการอย่างแน่นอน  ซึ่งก็แล้วแต่สภาพของกิจการว่ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้รถยนต์ประเภทใด บางกิจการก็อาจมีนโยบายซื้อรถยนต์ให้แก่ผู้บริหารใช้  ซึ่งกรณีนี้ผู้เขียนก็เคยเห็นอยู่มากทีเดียว
เมื่อผู้ประกอบการซื้อรถยนต์มาใช้ในการประกอบกิจการก็จะถูกผู้ขายเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีซื้อ) ตามกฎหมายไม่ว่ารถยนต์นั้นจะเป็นรถกระบะราคาไม่แพงมากหรือรถเก๋งราคาแพงหลายล้านบาท และนอกจากนั้น ต่อมามีการจ่ายค่าอะไหล่ ค่าอุปกรณ์ ค่าซ่อมรถยนต์นั้นๆ ผู้ประกอบการก็จะถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีซื้อ) เช่นกัน ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกผู้ประกอบการอื่นเรียกเก็บนั้นคือภาษีซื้อของผู้ประกอบการนั่นเอง  และเรื่องภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 42ฯ ได้กำหนดไว้ว่า ภาษีซื้อดังต่อไปนี้ ไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
(1)  ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 42 ฯ )
(2)  ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่เกี่ยวกับรถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 42 ฯ )
แม้ว่าภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ทั้ง 2 กรณีข้างต้น (ข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 42 ฯ ) จะไม่อนุญาตให้นำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ แต่เป็นภาษีซื้อต้องห้ามอีกรายการหนึ่งที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ เช่นเดียวกับภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากรายจ่ายค่ารับรอง แต่เมื่อพิจารณาจาก(ข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 42 ฯ )แล้ว  หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วรถประเภทไหนล่ะคือ  “รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน” ที่ภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องเป็นภาษีซื้อต้องห้ามแต่นำไปหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้

ผู้เขียนขอเรียนว่า การพิจารณาว่ารถยนต์ใดเป็นรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนนั้น ให้พิจารณาจากนิยามความหมายตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ดังนี้
รถยนต์นั่ง  คือ รถเก๋งหรือรถยนต์ที่ออกแบบเพื่อใช้สำหรับนั่งเป็นปกติวิสัย และให้หมายความรวมถึงรถยนต์ในลักษณะทำนองเดียวกัน เช่น รถยนต์ที่มีหลังคาติดต่อเป็นเนื้อเดียวกันในลักษณะถาวรด้านข้าง หรือด้านหลังคนขับมีประตูหรือหน้าต่างและมีที่นั่ง ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีที่นั่งเท่าใด
รถยนต์โดยสาร  คือ รถตู้หรือรถยนต์ที่ออกแบบเพื่อใช้ขนส่งคนโดยสารจำนวนมาก รวมทั้งรถยนต์ในลักษณะทำนองเดียวกัน
รถยนต์กระบะ  คือ รถยนต์ที่มีที่นั่งด้านหน้าตอนเดียวสำหรับคนขับ และตอนหลังเป็นกระบะบรรทุก ซึ่งเปิดโล่งจนถึงท้ายรถโดยไม่มีหลังคา

จากคำนิยามตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ท่านผู้อ่านโปรดสังเกตว่า รถยนต์นั่งก็นั้นคือรถเก๋งหรือรถยนต์ที่ออกแบบเพื่อใช้สำหรับนั่งเป็นปกติวิสัย โดยไม่คำนึงว่ารถยนต์นั่งนั้นจะมีที่นั่งเท่าใด ดังนั้น รถเก๋งที่ออกแบบเพื่อใช้สำหรับนั่งเป็นปกติวิสัยแม้มีที่นั่งเกินสิบที่นั่งหรือร้อยที่นั่งรถเก๋งนั้นก็ยังคงถือเป็นรถยนต์นั่งอยู่ดี ประเด็นคือจำนวนที่นั่งมิใช่สาระสำคัญในการนำมาพิจารณาว่ารถยนต์นั้นๆใช่หรือไม่ใช่รถยนต์นั่งที่ภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องเป็นภาษีซื้อต้องห้าม แต่สิ่งสำคัญในการพิจารณาคือสภาพและลักษณะการใช้งานของตัวรถยนต์นั้นๆ มากกว่า ในทางกลับกันสำหรับรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนนั้น จำนวนที่นั่งยังคงเป็นสาระสำคัญในการพิจารณาประเภทของรถยนต์อยู่

ข้อสังเกตอีกประการซึ่งมีความสำคัญมาก หลายท่านเข้าใจว่าการที่จะดูว่ารถยนต์แต่ละคันเป็นรถยนต์ประเภทใดให้พิจารณาตามประเภทรถที่ระบุในคู่มือทะเบียนรถยนต์ ผู้เขียนขอเรียนเน้นย้ำว่าประเภทรถยนต์ที่ระบุไว้ในคู่มือทะเบียนรถยนต์นั้นเป็นการระบุประเภทรถยนต์ตามพระราชบัญญัติขนส่งทางบกเท่านั้น ไม่สามารถนำมาพิจารณาว่ารถยนต์ใดคือรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนในทางภาษีอากรได้ และในทางภาษีอากรกรมสรรพากรยอมรับให้พิจารณาประเภทของรถยนต์โดยอ้างอิงตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตเท่านั้น 

เมื่อท่านผู้อ่านพอพิจารณาประเภทของรถยนต์ได้แล้ว ต่อไปเราจะมาพิจารณาด้านเนื้อหาเกี่ยวกับภาษีซื้อต้องห้ามที่เกี่ยวกับรถยนต์ทั้ง 2 กรณี ซึ่งผู้เขียนได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
(1)  ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 42 ฯ )
จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่แค่ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนเท่านั้นที่ผู้ประกอบการไม่สามารถนำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ภาษีซื้อต้องห้ามในกรณีนี้ยังรวมถึงภาษีซื้อที่เกิดจากการที่ผู้ประกอบการเช่ารถยนต์ดังกล่าวมาจากผู้ประกอบการรายอื่นด้วย  แต่ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ รับโอนรถยนต์ประเภทรถบรรทุก, รถกระบะตอนเดียว, กระบะ space cap หรือ smart cap ไม่เป็นภาษีซื้อต้องห้ามแต่อย่างใด ทั้งนี้ผู้เขียนได้รวบรวมข้อหารือที่เกี่ยวข้องบางส่วนมานำเสนอแก่ท่านผู้อ่าน ดังนี้
–   กรณีบริษัทฯ ซื้อรถยนต์นั่งหรือเช่ารถยนต์นั่ง เพื่อนำไปใช้ในการวิ่งทดสอบสมรรถนะของยางรถยนต์ เข้าลักษณะเป็นการนำรถยนต์นั่งไปใช้ในการประกอบกิจการของตนเอง โดยไม่ได้นำไปขายหรือให้เช่า ดังนั้น ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อรถยนต์หรือเช่ารถยนต์นั่ง เพื่อใช้ในการวิ่งทดสอบสมรรถนะของยาง ถือเป็นภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร (กค 0811/พ.2673 วันที่ 3 เมษายน 2543)
–   บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ หากบริษัทซื้อรถยนต์ทดลองขับมีจุดประสงค์เพื่อใช้ประกอบกิจการของบริษัทและขายให้ลูกค้าในเวลาต่อมา ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากการซื้อรถยนต์ดังกล่าว ย่อมต้องห้ามตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 42ฯ (กค 0702/พ./4808 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2551)
–   บริษัทเช่ารถยนต์นั่งมาใช้เป็นรถประจำตำแหน่งผู้บริหาร บริษัทนำภาษีซื้อที่เกิดจากค่าเช่ารถยนต์นั่งดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายได้บริษัทไม่ต้องเรียกเก็บภาษีจากผู้บริหารซึ่งใช้รถยนต์นั้น (กค 0802/พ.11334 30 มิถุนายน 2536)
–   รถยนต์กระบะบรรทุก ประเภทรถยนต์ส่วนบุคคล 2 ประตู มีที่นั่งหลังคนขับ(Space Cab) โดยไม่ได้ทำการดัดแปลงหรือตกแต่งใดๆ เพื่อใช้ประกอบกิจการโดยจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก เป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล รถยนต์ดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต จึงนำภาษีซื้อสำหรับรถยนต์กระบะดังกล่าวมาหักจากภาษีขายได้ ไม่ต้องห้ามแต่อย่างใด (กค 0802/พ.2830 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2540)

2.  ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่เกี่ยวกับรถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 42 ฯ ) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่เกี่ยวกับรถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เช่น  ค่าน้ำมันรถ ค่าอะไหล่ อุปกรณ์ ค่าซ่อมรถยนต์ ฯลฯ  ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้ามด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ผู้เขียนได้รวบรวมข้อหารือที่เกี่ยวข้องบางส่วนมานำเสนอแก่ท่านผู้อ่าน ดังนี้
–   ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อยางรถยนต์เพื่อใช้ในการทดสอบ โดยนำไปประกอบกับรถยนต์นั่ง และนำไปวิ่งในสนามทดสอบหรือบนท้องถนนเพื่อทดสอบการยึดเกาะถนน การสึกหรอ การรับน้ำหนักและการหยุดรถ รวมทั้งภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อน้ำมัน หรือจากการซ่อมบำรุง และการประกันภัยรถยนต์นั่งดังกล่าว ถือเป็นภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่ง บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธินำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามมาตรา82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 (กค 0811/พ.2673 วันที่ 3 เมษายน 2543)
–   ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากการซื้อค่าบัตรทางด่วน (express way) สำหรับรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน ที่ทางการพิเศษฯ เรียกเก็บจากการใช้ทางพิเศษ เข้าลักษณะเป็นบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนฯ จึงไม่สามารถนำภาษีซื้อมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เพราะเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ตามข้อ 2 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม  ฉบับที่ 42 ฯ (กค 0809/1331 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2539)

ข้อยกเว้น
ภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน สำหรับกิจการดังต่อไปนี้ผู้ประกอบการสามารถนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
1.  กิจการขายรถยนต์หรือให้เช่ารถยนต์
หากผู้ประกอบการนั้นซื้อรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคนมาเพื่อขายหรือเพื่อให้เช่าในกิจการมิได้ซื้อมาไว้เพื่อใช้ในการประกอบกิจการโดยตรง ภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับการซื้อรถยนต์ฯ ดังกล่าว เป็นภาษีซื้อที่ผู้ประกอบการสามารถนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
2.  กิจการรับประกันภัยสำหรับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีนั่งไม่เกินสิบคน เช่น บริษัทประกันภัยจ่ายค่าซ่อมรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบที่นั่งแก่ร้านซ่อมรถ แทนเจ้าของรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัย ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากค่าซ่อมรถยนต์ฯ นั้นไม่ใช่ภาษีซื้อต้องห้าม

สรุป
ภาษีซื้อที่เกิดจากรถยนต์ในกรณีดังต่อไปนี้เป็นภาษีซื้อต้องห้ามแต่กฎหมายยอมให้นำมาหักรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้
1.  ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต
2.  ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่เกี่ยวกับรถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต
ยกเว้น กิจการขายรถยนต์หรือให้เช่ารถยนต์ซึ่งซื้อรถยนต์ฯ ดังกล่าวมาเพื่อขายหรือให้เช่า และกิจการรับประกันภัยสำหรับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีนั่งไม่เกินสิบคน