ภาษีซื้อต้องห้าม แต่นำไปถือเป็นรายจ่ายได้ (ตอนที่ 1)

ผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อประกอบกิจการจนมีรายรับเกินกว่ามูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม (เกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี) ผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการนั้นๆ มีหน้าที่ต้องยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากร  ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วจะเรียกว่า “ผู้ประกอบการจดทะเบียน”  

ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่สำคัญซึ่งต้องปฏิบัติหลายประการ เช่น หน้าที่จัดทำรายงานและเก็บรักษาหลักฐานและเอกสารต่างๆเกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม, หน้าที่ออกใบกำกับภาษีและเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มทุกครั้งเมื่อขายสินค้าหรือให้บริการแล้วส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ นอกจากนั้นหน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนทุกรายไม่ว่าผู้ประกอบการรายนั้นจะมีฐานะเป็นบุคคลธรรมดา,  คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล หรือนิติบุคคล  คือ หน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม(ถ้ามี) เป็นรายเดือนต่อกรมสรรพากรทุกเดือนไม่ว่าจะได้ขายสินค้าหรือให้บริการในเดือนภาษีนั้นหรือไม่ก็ตาม ด้วยแบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยใช้วิธีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยการนำภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ ดังนี้

ภาษีขาย – ภาษีซื้อ =  ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ(เครดิตภาษีที่เหลืออยู่)    

การคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยวิธีการนำภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อจะก่อให้เกิดผล 2 ประการด้วยกัน  ประการแรก  ถ้าผลการคำนวณมีภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ จำนวนส่วนต่างที่เกิดขึ้นคือภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องชำระสำหรับเดือนนั้น ประการที่สอง ถ้าผลการคำนวณมีภาษีซื้อมากกว่าภาษีขายผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนนั้น และจำนวนส่วนต่างถือเป็นเครดิตภาษีที่เหลืออยู่ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถเลือกใช้สิทธิที่จะขอคืนเป็นเงินหรือยกไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไปก็ได้หรือที่เรียกกันว่าพันยอด

สำหรับการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยวิธีนำภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ มีประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องพิจารณาเสมอก่อนนำภาษีซื้อมาใช้  คือ ภาษีซื้อใดที่สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ และภาษีซื้อใดเป็นภาษีซื้อต้องห้ามไม่สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายได้ เพราะ ไม่ใช่ภาษีซื้อทุกกรณีที่กฎหมายอนุญาตให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนำมาหักออกจากภาษีขายได้  และในกรณีที่เกิดความผิดพลาดในการนำภาษีซื้อมาใช้ โดยผู้ประกอบการจดทะเบียนนำเอาภาษีซื้อต้องห้ามไปหักออกจากภาษีขาย ผลที่ตามมาคือผู้ประกอบการจดทะเบียนอาจต้องรับผิดในเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนดไว้

แต่อย่างไรก็ตามมีภาษีซื้อบางประเภทแม้เป็นภาษีซื้อต้องห้าม ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลก็สามารถนำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้  ตามมาตรา 65ตรี (6ทวิ) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

1.  ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือเพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกันตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด ตามมาตรา 82/5 (4) แห่งประมวลรัษฎากร
2.  ภาษีซื้อตามมาตรา 82/5(6) แห่งประมวลรัษฎากร

ผู้อ่านบางคนอาจเกิดคำถามว่า ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นจากรายจ่ายเพื่อการรับรอง หรือเพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกัน ตามมาตรา 82/5 (4) แห่งประมวลรัษฎากรที่สามารถนำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร  กรณีนี้กรมสรรพากรได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับภาษีซื้อดังกล่าวไว้ในข้อ 5 แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 17) ดังนี้

(ก)  ค่ารับรอง หรือค่าบริการไม่ว่าจะจ่ายเพื่อการรับรองหรือให้บริการแก่บุคคลใด ๆ และไม่ว่าจะอำนวยประโยชน์แก่กิจการหรือไม่ก็ตาม เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่ามหรสพ  ค่าใช้จ่ายเพื่อการกีฬา และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน
(ข)  ค่าสิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่บุคคลซึ่งได้รับการรับรองหรือรับบริการตาม (ก) และบุคคลอื่น

ตัวอย่างคำวินิจฉัยของกรมสรรพากรที่วินิจฉัยว่าเป็นภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายค่ารับรองฯ

– บริษัทฯ เช่าห้องชุดติดกับสำนักงานของบริษัทฯ เพื่อใช้เป็นห้องพักรับรองสำหรับลูกค้าที่ไม่พักที่โรงแรม ซึ่งพนักงานของบริษัทฯ ไม่มีสิทธิเข้าไปพักอาศัย ภาษีซื้อที่เกิดจากค่าซื้อม่าน พรม โต๊ะ เก้าอี้ โซฟา เตียง แอร์ ตู้เย็น เพื่อใช้ติดตั้งในห้องรับรองลูกค้า, ค่าซื้อโทรทัศน์ วีดีโอ วิทยุ และติดตั้ง UBC เพื่อใช้เป็นข่าวสารให้บริการลูกค้าในห้องรับรอง และค่าซักแห้ง ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ในกรณีลูกค้าได้พักที่ห้องรับรองนี้  ไม่สามารถขอคืนหรือนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้เนื่องจากถือเป็นภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรอง ตามมาตรา 82/5(4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 5 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2534  (กค 0811/พ./5697 วันที่ 26 มิถุนายน 2545)  

– กระเช้าของขวัญที่บริษัทแจกให้เป็นของขวัญแก่ลูกค้า เนื่องในพิธีหรือโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ การเปิดแนะนำสินค้าใหม่โดยมีนามบัตรของบริษัทที่ระบุชื่อ ที่อยู่ และเครื่องหมายการค้าของบริษัทติดที่กระเช้าของขวัญดังกล่าว หากกระเช้าดังกล่าวเป็นสิ่งของที่บริษัทพึงให้แก่ลูกค้าตามประเพณีทั่วไป และมีราคาหรือมูลค่าไม่เกินสมควรแล้ว บริษัทไม่ต้องนำมูลค่าของกระเช้าของขวัญดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79(4) และตามข้อ 2(6) แห่งประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม(ฉบับที่ 40) ภาษีซื้ออันเกิดจากการซื้อกระเช้าของขวัญมาแจกหรือให้เป็นของขวัญแก่ลูกค้าดังกล่าวเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5(4) และตามข้อ 5 แห่งประกาศอธิบดีฯ เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) (กค 0811/พ.6945 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2539)