จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือน มกราคม 2568

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’s Tax Newsletter

ฉบับที่ 162 เดือนมกราคม 2568

กฎหมายใหม่ล่าสุด

     1.หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีสำหรับการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG)

     กฎกระทรวงฉบับที่ 395 (พ.ศ. 2567) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีสำหรับการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) เพื่อส่งเสริมการลงทุนในกองทุนที่สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย โดยให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/4bZgJx3

 

     2.กำหนดให้ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร

     ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 451) ได้กำหนดให้ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษียื่นแบบพร้อมแสดงรายการภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร หรือระบบอื่นใดในทำนองเดียวกัน โดยประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับสำหรับการจ่ายเงินได้ซึ่งต้องหัก ณ ที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/41V2V1Y

 

     3.การประกาศใช้พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 เพื่อจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มจากกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

     เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศและสนับสนุนมาตรการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีระหว่างประเทศ ประเทศไทยจึงได้ตราพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 เพื่อจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จากกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/4l2uPSw

ข่าวภาษี

     1.มาตรการภาษีในการสนับสนุนคนไทยที่มีศักยภาพที่ทำงานในต่างประเทศให้กลับเข้ามาในงานในประเทศ

     เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลัง (คค.) เสนอ โดยเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่บุคคลธรรมดา (ลูกจ้าง) สำหรับคนไทยที่เคยทำงานอยู่ในต่างประเทศและจะกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยในสาขาความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (นายจ้าง) ที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งได้จ่ายเงินเดือนให้แก่บุคคลธรรมดา (ลูกจ้าง) ที่เดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศ

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/42lS9lN

 

     2.การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรการ Easy E-Receipt 2.0

     เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการ “Easy E-Receipt 2.0”) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ โดยกำหนดให้ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท เฉพาะที่มีหลักฐานใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/42lS9lN

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่    7700/2548

ระหว่าง                        นาย ว.                                         โจทก์

                         กรมสรรพากร                                 จำเลย

เรื่อง การใช้สิทธิหักลดหย่อนเงินบริจาค

ประเด็นข้อพิพาท         : ใบอนุโมทนาบัตรที่ระบุชื่อโจทก์และครอบครัวเป็นผู้บริจาค สามารถนำไปหักลดหย่อนเงินบริจาคได้หรือไม่ เพียงใด

คำพิพากษา                :  ตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ให้สิทธิผู้มีเงินได้พึงประเมินนำเงินที่ตนบริจาคมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ โดยหักได้เท่าจำนวนที่บริจาคแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายแล้ว เมื่อใบอนุโมทนาบัตรที่โจทก์นำมาขอหักเป็นค่าลดหย่อนระบุชื่อโจทก์และครอบครัวเป็นผู้บริจาค ย่อมมีเหตุให้เชื่อได้ว่าโจทก์ได้บริจาคเงินจริง โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีชื่อในใบอนุโมทนาบัตรดังกล่าวจึงมีสิทธิหักเป็นค่าลดหย่อนได้ ส่วนปัญหาว่าโจทก์สามารถนำเงินบริจาคตามที่ปรากฏในใบอนุโมทนาบัตรทั้งจำนวนมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้หรือไม่นั้น การที่ใบอนุโมทนาบัตรระบุชื่อโจทก์และครอบครัวเป็นผู้บริจาคก็เพื่อเหตุผลทางด้านจิตใจและความเชื่อทางศาสนาว่าบุคคลในครอบครัวของโจทก์ทุกคนได้ร่วมกันทำบุญกุศล เมื่อโจทก์เป็นผู้มีชื่อระบุในใบอนุโมทนาบัตร โดยไม่มีชื่อบุคคลอื่นร่วมด้วย โจทก์จึงมีสิทธิที่จะนำเงินบริจาคทั้งจำนวนตามที่ปรากฏในใบอนุโมทนาบัตรนั้นมาหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ได้ ทั้งนี้ไม่เกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนด

ความเห็นของผู้เขียน     : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น เนื่องจากการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วยการบริจาคเงินที่ไม่ได้กระทำผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ผู้บริจาคจำเป็นต้องมีหลักฐานที่สามารถใช้พิสูจน์ต่อสรรพากรว่าได้มีการบริจาคเงินแล้วจริง จึงจะมีสิทธินำเงินบริจาคดังกล่าวไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร

     อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะสามารถหักลดหย่อนค่าบริจาคได้ แต่การพิจารณาว่าผู้บริจาคจะได้รับสิทธิลดหย่อนเงินบริจาคเต็มจำนวนหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาจากชื่อที่ปรากฏในหลักฐานการบริจาคด้วย เช่นดังกรณีดังต่อไปนี้

     1.กรณีที่หลักฐานการบริจาคปรากฏชื่อผู้บริจาคเพียงคนเดียว เช่น ระบุว่า “นาย ก.” แม้ว่าจะมีผู้บริจาคหลายคน แต่จะมีเพียงผู้ที่มีชื่อระบุไว้ในหลักฐานการบริจาคเท่านั้น (นาย ก.) ที่สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนได้เต็มจำนวน หรือ

     2.กรณีที่หลักฐานการบริจาคปรากฏชื่อผู้บริจาคร่วมกันหลายคน เช่น ระบุว่า “นาย ก. นาย ข. และนาย ค.” ผู้บริจาคทุกคนที่มีชื่อระบุในหลักฐานการบริจาค (นาย ก. นาย ข. และนาย ค.) สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนได้ตามสัดส่วนที่ได้บริจาค

     จากคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่า การระบุเพียงคำว่า “และครอบครัว” ต่อท้ายชื่อโจทก์ โดยไม่ได้ระบุชื่อบุคคลใดในครอบครัวโจทก์ไว้เป็นการเฉพาะ จะถือว่าเป็นกรณีเดียวกับกรณีที่ 1. ซึ่งหมายความว่าโจทก์ถือเป็นผู้บริจาคเพียงคนเดียว และสามารถหักลดหย่อนค่าบริจาคได้เต็มจำนวน แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อน คำวินิจฉัยของศาลจึงชอบแล้ว

     นอกจากนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาทกับกรมสรรพากรและรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษี ผู้มีเงินได้ที่ประสงค์จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วยการบริจาคเงิน ควรระบุชื่อและจำนวนเงินที่แต่ละคนบริจาคในหลักฐานการบริจาคไว้อย่างชัดเจน

     อนึ่ง กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการตีความกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้ในการนำเสนอมีเพียงวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น

ณัฏฐณิชา ศรีเจริญวณิชกุล