จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนกรกฎาคม 2565

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

 

ฉบับที่ 132 เดือนกรกฎาคม 2565

กฎหมายใหม่ล่าสุด

  1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ
  2. สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ลงทุนในบริษัทเป้าหมาย

ข่าวภาษี

  1. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการพื้นที่ของเซิร์ฟเวอร์ให้แก่ผู้ประกอบกิจการศูนย์ข้อมูล (Data Centre)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 1304/2559

ระหว่าง                   บริษัท ส.                      โจทก์

               กรมสรรพากร                จำเลย

เรื่อง     อายุความขอคืนภาษี

กฎหมายใหม่ล่าสุด

     1.ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 749) พ.ศ.2565 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 25 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพตามประเภทที่อธิบดีประกาศกำหนดและได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์จากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ทั้งนี้ สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567

     ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dc749.pdf และ      https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dg425A.pdf

     2.สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ลงทุนในบริษัทเป้าหมาย

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 750) พ.ศ.2565 กำหนดให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ลงทุนในบริษัทเป้าหมาย รวมทั้งบุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุน หรือเป็นผู้ถือหน่วยทรัสต์ในกิจการเงินร่วมลงทุนซึ่งลงทุนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งประกอบกิจการที่รัฐต้องการสนับสนุน (บริษัทเป้าหมาย)

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dc750.pdf

ข่าวภาษี

     1.ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการพื้นที่ของเซิร์ฟเวอร์ให้แก่ผู้ประกอบกิจการศูนย์ข้อมูล (Data Centre)

     เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการพื้นที่ของเซิร์ฟเวอร์ให้แก่ผู้ประกอบกิจการศูนย์ข้อมูล (Data Centre) เพื่อส่งเสริมการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกิจการศูนย์ข้อมูลของประเทศในการเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาค (Regional Digital Hub)

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/56270

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 1304/2559

ระหว่าง                   บริษัท ส.                      โจทก์

               กรมสรรพากร                จำเลย

เรื่อง     อายุความขอคืนภาษี

ประเด็นข้อพิพาท       : จำเลยต้องคืนเงินภาษีอากรตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด

ข้อเท็จจริง               :

  1. โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดจากการขายทอดตลาด ราคา 24,020,000 บาท ตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีพื้นที่เขตมีนบุรี สำนักงานบังคับคดีพื้นที่เขตมีนบุรี
  2. วันที่ 26 มกราคม 2547 มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยโจทก์เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม 938,165 บาท ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 5,486,200 บาท รวมเป็นเงิน 6,424,365 บาท
  3. วันที่ 29 เมษายน 2548 ศาลจังหวัดมีนบุรีมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินแปลงดังกล่าว และสำนักงานบังคับคดีพื้นที่เขตมีนบุรีมีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาหนองจอกให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์และให้คู่สัญญากลับสู่ฐานะเดิม และกรมบังคับคดีได้คืนเงินค่าซื้อที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์
  4. วันที่ 29 มกราคม 2552 โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) ขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จำนวน 5,486,200 บาท จำเลยมีหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร เนื่องจากพ้นกำหนดเวลาขอคืนภาษีอากรตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

คำพิพากษา              : ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า มาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่การขอคืนภาษีอากรและภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีหรือไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีในกรณีทั่วไปที่ประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นโดยเฉพาะ แต่กรณีนี้โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดเป็นผู้จ่ายเงินค่าซื้อที่ดินอันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร แก่ผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 50 (5) แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีที่คำนวณหักไว้ตามมาตรา 50 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ให้นำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่ดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดิน เงินภาษีจำนวน 5,486,200 บาท ที่โจทก์ขอคืนในคดีนี้ เป็นเงินที่ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายส่งพนักงาน เจ้าหน้าที่ตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

เมื่อต่อมาศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินที่โจทก์ซื้อมา และเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือ แจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์และให้คู่สัญญากลับสู่ฐานะเดิม อันมีผลเท่ากับว่าโจทก์ไม่ได้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาด และไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การฟ้องขอคืนเงินภาษีจากจำเลยในคดีนี้จึงไม่ใช่การขอคืนเงินภาษีและภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วเป็นจำนวนเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือไม่มีหน้าที่ต้องเสียที่อยู่ภายใต้บังคับที่จะต้องยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ตรี วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงมีสิทธิขอคืนเงินภาษี 5,486,200 บาท จากจำเลย

ความเห็นของผู้เขียน   : ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น เนื่องจากในการพิจารณาตีความกฎหมาย จะต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง ประกอบกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายนั้นๆ โดยในการขอคืนภาษีตามข้อเท็จจริงข้างต้น เป็นกรณีที่โจทก์ได้ดำเนินการเสียภาษีโดยถูกต้องตามกฎหมายในขณะที่มีข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นนั้น แต่เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ผู้ซื้อทรัพย์ ทำให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามมาตรา 391 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือ ถือว่าโจทก์ไม่ได้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาด และโจทก์ย่อมไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีดังกล่าว

ดังนั้น กรณีข้างต้นจึงไม่ใช่เป็นการที่ผู้เสียภาษีอากรหรือผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือผู้มีหน้าที่ยื่นรายการในกรณีโดยทั่วไปในการขอคืนภาษีอากร เนื่องจากถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเกินไปจากจำนวนที่ต้องเสียจริง หรือชำระค่าภาษีมากกว่าจำนวนที่ต้องเสียจริงอันเกิดจากการคำนวณผิดพลาดไป หรือกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีสิทธิขอคืนได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ที่จะอยู่ในบังคับต้องขอคืนภาษีภายใน 3 ปี ตามที่กล่าวข้างต้น แต่เป็นกรณีที่โจทก์เป็นเจ้าของเงินจำนวนที่ขอคืน จึงมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งเงินของตนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม มาตรา 1336 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำเลยจึงต้องคืนเงินภาษีอากรตามฟ้องแก่โจทก์

เมษยา สีลาวรรณ

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725

Email: wannipas@dlo.co.th