จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter
ฉบับที่ 138 เดือนมกราคม 2566
กฎหมายใหม่ล่าสุด
- หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปในการอบรมสัมมนาภายในประเทศ และกำหนดเขตพื้นที่ท่องเที่ยวสำหรับการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศเพิ่มเติมจากจังหวัดท่องเที่ยวรอง
- หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าเช่าพื้นที่หรือค่าบริการในการเข้าร่วมงาน ออกร้าน งานนิทรรศการ หรืองานแสดงสินค้าภายในประเทศ
- กำหนดสถานที่เพิ่มเติม ในการรับแบบแสดงรายการและรับชำระเงินภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
- หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยกเว้นภาษีอากรสำหรับกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคมและบุคคลซึ่งสนับสนุนกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคม
- มาตรการช้อปดีมีคืนปี 2566
ข่าวภาษี
- มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา
- การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจและการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน
- ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่กิจการของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับการให้กู้ยืมเงินตามโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อยผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11271/2555
ระหว่าง บริษัท ค. โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง การทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ยืมกับสถาบันการเงินให้แก่บริษัทในเครือ
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1.หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยกเว้นสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปในการอบรมสัมมนาภายในประเทศ และกำหนดเขตพื้นที่ท่องเที่ยวสำหรับการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศเพิ่มเติม จากจังหวัดท่องเที่ยวรอง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 429) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยกเว้นภาษีสำหรับเงินที่ได้จ่ายไปในการอบรมสัมมานาภายในประเทศตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 และกำหนดเขตพื้นที่ท่องเที่ยวสำหรับการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศเพิ่มเติมจากจังหวัดท่องเที่ยวรองตามพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 757
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3k9rPsO
2.หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าเช่าพื้นที่หรือค่าบริการในการเข้าร่วมงาน ออกร้าน งานนิทรรศการ หรืองานแสดงสินค้าภายในประเทศ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 430) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าเช่าพื้นที่หรือค่าบริการในออกร้าน งานนิทรรศการ หรืองานแสดงสินค้าภายในประเทศ ตามจำนวนที่ได้จ่ายจริงที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการเข้าร่วมงานจากผู้จัดงาน
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3SfSqRO
3.กำหนดสถานที่เพิ่มเติม ในการรับแบบแสดงรายการและรับชำระเงินภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.349/2565 กำหนดให้เพิ่มหน่วยบริการรับแบบแสดงรายการและชำระภาษีอากรของสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาเมืองสตูลอีกแห่งหนึ่ง
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3SehMiO
4.หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีอากรสำหรับกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคมและบุคคลซึ่งสนับสนุนกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคม
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 47) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคมและบุคคลซึ่งสนับสนุนกิจการของวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับยกเว้นภาษีอากรตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 38)
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3El44om
5.มาตรการช้อปดีมีคืนปี 2566
กฎกระทรวง ฉบับที่ 386 (พ.ศ. 2565) กำหนดให้เงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ซึ่งได้จ่ายให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับในกำกับภาษีเต็มรูป หรือจ่ายให้ผู้ขายที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้ใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 30,000 บาท (ไม่ว่าจะจัดทำใบกำกับภาษีหรือใบรับในรูปแบบกระดาษหรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์) สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือบริการตั้งแต่ 30,001 – 40,000 บาท ให้ยกเว้นเงินได้พึงประเมินเฉพาะกรณีจัดทำใบกำกับภาษีหรือใบรับโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3k3QH5q
ข่าวภาษี
1.มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกายกเว้นรัษฎากร ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว มีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ผู้บริจาคที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาโดยให้หักลดหย่อนหรือหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของจำนวนเงินบริจาค สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3IbvX3z
2.การยกเว้นภาษีเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกายกเว้นรัษฎากร จำนวน 2 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
- กำหนดให้ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตในประเทศตามโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570
- กำหนดให้เพิ่มเติมการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดาและขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินที่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้บริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากรให้แก่กรมป่าไม้ เพื่อสนับสนุนโครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3IbvX3z
3.การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่กิจการของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) สำหรับการให้กู้ยืมเงินตามโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อยผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกายกเว้นรัษฎากร โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้กิจการของ สสว. เฉพาะรายรับจากการให้กู้ยืมเงินตามโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย ผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 เป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นวันที่โครงการเริ่มมีดอกเบี้ยรับ
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3IbvX3z
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11271/2555
ระหว่าง บริษัท ค. โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง การทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ยืมกับบริษัทในเครือ
ประเด็นข้อพิพาท : การทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ยืมกับสถาบันการเงินให้แก่บริษัทในเครือเข้าลักษณะการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์โดยการให้บริการค้ำประกันตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (5) ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่
ข้อเท็จจริง : โจทก์ประกอบธุรกิจหลัก คือ ผลิต ส่งออก และจำหน่ายแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคม และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกประเภท โจทก์ถือหุ้นในบริษัท อ. ถึงร้อยละ 43.9 และบริษัท อ. ถือหุ้นในบริษัท อป. มากกว่าร้อยละ 90 โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันสินเชื่อกับสถาบันการเงินให้แก่บริษัททั้งสองเพื่อให้บริษัททั้งสองนำเงินกู้มาใช้เป็นทุนดำเนินกิจการ และทำสัญญาค้ำประกันเพียงสองบริษัทเท่านั้น โดยโจทก์มิได้คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกันจากบริษัทดังกล่าว
คำพิพากษา : ศาลฎีกาเห็นว่า แม้วัตถุประสงค์ของโจทก์ตามหนังสือรับรองข้อ 25 จะระบุว่า ทำการค้ำประกันหนี้สินและประกอบธุรกิจบริการรับค้ำประกันหนี้สิน ความรับผิดชอบหรือการปฏิบัติตามสัญญาของบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น โดยมีหรือไม่มีบุคคลหรือหลักทรัพย์เป็นประกัน รวมทั้งการค้ำประกัน และรับบริการค้ำประกันบุคคลซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศหรือเดินทางออกไปต่างประเทศตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือการค้ำประกันบุคคลต่างด้าวที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการหรือดำเนินงานของบริษัทกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร กฎหมายแรงงานและกฎหมายอื่น รวมทั้งประกันตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาหรือประกันตัวจำเลยในชั้นศาลหรือประกันตัวบุคคลหรือทรัพย์สินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมายต่าง ๆ แต่ก็เป็นวัตถุที่ประสงค์ตามปกติของบริษัท ซึ่งต้องพิเคราะห์ลักษณะการทำธุรกรรมตามวัตถุที่ประสงค์ของโจทก์ด้วย ดังนั้น แม้โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ยืมบริษัทในเครือทั้งสองหลายฉบับในวงเงินจำนวนมากก็ตาม แต่ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการค้ำประกันตอบแทนจากบริษัทในเครือทั้งสอง และการที่โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันก็เพื่อช่วยเหลือให้บริษัทในเครือทั้งสองได้รับเงินกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ อันเป็นการกระทำเฉพาะในระหว่างนิติบุคคลที่มีส่วนได้เสียผูกพันกันอยู่เท่านั้น และแม้โจทก์จะต้องใช้เงินให้แก่สถาบันการเงินตามสัญญาค้ำประกันแทนบริษัทในเครือทั้งสองเนื่องจากบริษัทในเครือทั้งสองล้มละลาย ซึ่งโจทก์จะสามารถหักวงเงินค้ำประกันดังกล่าวเป็นหนี้สูญนำไปเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวก็เป็นเรื่องของภาษีเงินได้นิติบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับภาษีธุรกิจเฉพาะ การค้ำประกันของโจทก์ดังที่กล่าวมานี้จึงยังไม่เข้าลักษณะการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์โดยการให้บริการค้ำประกันตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 (5) ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ความเห็นของผู้เขียน : ปรึกษามีความเห็นว่า การทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ยืมให้แก่บริษัทในเครือภายใต้เงื่อนไขของสถาบันการเงิน แม้ว่าบริษัทไม่ได้ประกอบกิจการในการรับค้ำประกันการกู้ยืมเงินให้แก่บุคคลอื่นหรือบริษัทอื่นใดในทางการค้ามาก่อน และเป็นการค้ำประกันบริษัทในเครือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวก็ตาม การทำสัญญาดังกล่าวมีประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาว่า เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2 (5) แห่งประมวลรัษฎากร คือ การได้รับผลประโยชน์โดยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือคิดค่าตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใดจากการทำสัญญาดังกล่าวทำนองเดียวกับกิจการของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นปกติธุรกิจ หรือไม่
ตามข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวเป็นอันยุติแล้วว่า โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ยืมของบริษัทในเครือทั้งสองโดยไม่ได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน และทำให้เฉพาะบริษัทในเครือทั้งสองเท่านั้น แม้วัตถุประสงค์ของโจทก์ตามหนังสือรับรองจะระบุให้การค้ำประกันหนี้สินและประกอบธุรกิจบริการรับค้ำประกันหนี้สินจะเป็นการประกอบกิจการเฉกเช่นเดียวกันกับการประกอบกิจการโดยปกติของธนาคารพาณิชย์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน และก็ทำให้เฉพาะแต่บริษัทในเครือทั้งสอง การค้ำประกันของโจทก์เช่นนี้จึงยังไม่เข้าลักษณะการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์โดยการให้บริการค้ำประกันตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 (5) ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
อนึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการตีความกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกาในการนำเสนอนี้มีเพียงวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น
ศุภชัย สังข์มงคล
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725
Email: wannipas@dlo.co.th