จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมิถุนายน 2565

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

 

ฉบับที่ 131 เดือนมิถุนายน 2565

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

  1. ยกเว้นภาษีเงินได้ กรณีผู้มีเงินได้ได้รับเป็นเงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใดจากภาครัฐ
  2. ลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้แก่คนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง
  3. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร
  4. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล
  5. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนสกุลเงินดิจิทัลตามโครงการพัฒนาและทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
  6. กิจการให้บริการ e-book สามารถจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้
  7. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับเป็นเงินสนับสนุนจากภาครัฐ
  8. ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกิจการของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

ข่าวภาษี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คําพิพากษาศาลฎีกาที่   6578/2559

ระหว่าง                    Mr. K                      โจทก์

               บริษัท ว.                    จำเลย

เรื่อง    กฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายภาษี กรณีภาษีเงินได้ที่นายจ้างออกแทนให้

กฎหมายใหม่ล่าสุด

     1.ยกเว้นภาษีเงินได้ กรณีผู้มีเงินได้ได้รับเป็นเงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใดจากภาครัฐ

     กฎกระทวงฉบับที่ 382 (พ.ศ. 2565) กำหนดให้เงินได้ที่ผู้มีเงินได้ได้รับเป็นเงินสนับสนุนหรือประโยชน์อื่นใดจากภาครัฐ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการ ม.33 เรารักกัน โดยกฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษี พ.ศ. 2564

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/MR382.PDF

     2.ลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้แก่คนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 743) พ.ศ.2565 กำหนดให้ลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้แก่คนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงเพื่อจูงใจให้เข้ามาพักอาศัยหรือทำงานในประเทศไทย อันจะเป็นการส่งเสริมการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน รวมทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dc743.pdf

     3.แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร

     กฎกระทวงฉบับที่ 383 (พ.ศ. 2565) กำหนดให้แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร โดยผู้นั้นจะต้องยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรภายในกำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการ สำหรับกรณีผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรต้องยื่นแบบแสดงรายการเกี่ยวกับเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย และกรณีการคืนเงินภาษีอากรให้แก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร ซึ่งได้ดำเนินการตามข้อบทว่าด้วยวิธีการดำเนินการเพื่อความตกลงร่วมกันของสัญญาหรือข้อผูกพันว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อน

     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/mr383.pdf

     4.ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 744) พ.ศ.2565 กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลที่กระทำในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dc744.pdf

     5.ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนสกุลเงินดิจิทัลตามโครงการพัฒนาและทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 745) พ.ศ.2565 กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนสกุลเงินดิจิทัลตามโครงการพัฒนาและทดสอบการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยสำหรับการใช้งานในภาคประชาชนที่กระทำ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dc745.pdf

     6.กิจการให้บริการ e-book สามารถจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 746) พ.ศ.2565 กำหนดให้การให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน ที่อยู่ในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เช่นเดียวกับการขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน ที่อยู่ในรูปของกระดาษ

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dc746.pdf

     7.ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับเป็นเงินสนับสนุนจากภาครัฐ

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 747) พ.ศ.2565 ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับเป็นเงินสนับสนุนจากภาครัฐ ได้แก่ 1) เงินสนับสนุนที่ได้รับตามโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และ 2) เงินสนับสนุนที่ได้รับตามโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dc747.pdf

     8.ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกิจการของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 748) พ.ศ.2565 กำหนดให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกิจการของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dc748.pdf

ข่าวภาษี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คําพิพากษาศาลฎีกาที่   6578/2559

ระหว่าง                     Mr. K                           โจทก์

                บริษัท ว.                        จำเลย

เรื่อง    กฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายภาษี กรณีภาษีเงินได้ที่นายจ้างออกแทนให้

ประเด็นข้อพิพาท :

1.ภาษีเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้แก่ส่วนราชการเพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย ถือเป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 (“พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน”) หรือไม่

2.ภาษีเงินได้ตามประเด็นพิพาท 1. นายจ้างมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่

ข้อเท็จจริง : โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยส่วนที่ขาด ซึ่งจำเลยมิได้นำภาษีเงินได้ที่จำเลยนำส่งกรมสรรพากรมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ตามมาตรา 118 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน กับให้จ่ายดอกเบี้ยและค่าตั๋วเครื่องบิน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินแก่โจทก์ไม่เกิน 40,000 บาท เมื่อโจทก์ต้องการเดินทางกลับประเทศออสเตรเลียและแจ้งให้จำเลยชำระ หากจำเลยไม่ชำระให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ถือว่าจำเลยผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำงานให้แก่โจทก์ โดยมิได้นำภาษีเงินได้ที่จำเลยนำส่งกรมสรรพากรมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชยเพื่อจ่ายให้แก่โจทก์ และไม่ได้กำหนดให้จำเลยออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่โจทก์

คำพิพากษา :

1.ประเด็นเงินภาษีที่จำเลยจ่ายแทนโจทก์เป็นค่าจ้างหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานเห็นว่า เงินภาษีที่จำเลยออกแทนแก่โจทก์และนำส่งกรมสรรพากรนั้น โจทก์ในฐานะผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ โดยจำเลยหักเงินดังกล่าวไว้จากค่าจ้างและนำส่งกรมสรรพากร ภาษีเงินได้ที่จำเลยออกให้แก่โจทก์เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่กรมสรรพากรเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายและเป็นการจ่ายให้แทนโจทก์ มิได้จ่ายให้แก่โจทก์ จึงเป็นเงินประเภทอื่นมิใช่เงินที่จำเลยและโจทก์ตกลงจ่ายให้แก่กันเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง จึงไม่ใช่ค่าจ้างตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน

2.ประเด็นจำเลยต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานเห็นว่า ตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดเป็นหน้าที่ของผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน และมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วในปีภาษีให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์จ่ายค่าจ้างและยอมชำระเงินภาษีแทนโจทก์ทั้งที่โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระ เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จำเลยจึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่หักเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 50 และมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางยกคำขอในส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

ความเห็นของผู้เขียน : ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานข้างต้น เนื่องจากในการพิจารณาตีความกฎหมาย จะต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง ประกอบกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายนั้นๆ

จากข้อเท็จจริงข้างต้น เมื่อพิจารณาในประเด็นว่า เงินภาษีที่จำเลยจ่ายแทนโจทก์เป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ที่จำเลยต้องนำมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชยให้แก่โจทก์หรือไม่ ต้องพิจารณาประกอบนิยามของค่าจ้างตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน ซึ่งวางหลักไว้ว่า

“ค่าจ้าง หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน … ”

เมื่อพิจารณาตามนิยามข้างต้นประกอบกับข้อเท็จจริงแล้ว ภาษีเงินได้ที่จำเลยออกแทนโจทก์ดังกล่าว จำเลยไม่ได้จ่ายให้แก่โจทก์โดยตรง แต่เป็นการจ่ายให้แก่กรมสรรพากรเพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย อีกทั้งภาษีเงินได้นั้น ก็มิใช่เงินที่จำเลยและโจทก์ตกลงจ่ายให้แก่กันเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง ดังนั้น ภาษีเงินได้ที่จำเลยจ่ายแทนโจทก์จึงไม่ใช่ค่าจ้าง ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน

สำหรับประเด็นว่า จำเลยจะต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่า เมื่อพิจารณาในทางกฎหมายภาษีแล้ว ต้องพิจารณาตามประมวลรัษฎากรเป็นหลัก โดยตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้กรณีผู้จ่ายเงินจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้ โดยตามประเด็นนี้ ได้แก่ มาตรา 40 (1) เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 คือ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งรวมตลอดถึงเงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ ไม่ว่าในทอดใด และผู้จ่ายเงินได้ ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ด้วย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

เมื่อพิจารณาข้างต้นประกอบกับข้อเท็จจริงแล้ว แม้กรณีภาษีเงินได้ที่จำเลยออกแทนโจทก์จะไม่ใช่ค่าจ้าง ตามนิยามของมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน แต่เมื่อพิจารณาตามกฎหมายภาษีตามประมวลรัษฎากรแล้ว การที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้ออกภาษีเงินได้แทนโจทก์นั้น เนื่องมาจากการที่โจทก์เป็นลูกจ้างซึ่งทำงานให้แก่จำเลย แม้จะไม่ใช่เงินที่โจทก์ได้รับโดยตรง แต่ในทางกฎหมายภาษี ย่อมเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 1 เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ซึ่งรวมถึงภาษีเงินได้ที่จำเลยออกแทนโจทก์ด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยออกภาษีเงินได้แทนโจทก์ ภาษีเงินได้ที่ออกแทนนั้น ย่อมถือเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ ซึ่งจำเลยจะต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และจำเลยมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่โจทก์ด้วย

เมษยา สีลาวรรณ

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่

บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด

2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330

หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725

Email: wannipas@dlo.co.th