จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนพฤศจิกายน 2564

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter
ฉบับที่ 124 เดือนพฤศจิกายน 2564

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าตอบแทนจากทางราชการของเจ้าหน้าที่และบุคคลภายนอกซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
2. กำหนดเอกสารหรือหลักฐานแสดงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์ข้อกำหนดของธุรกรรมระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์
3. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
4. กำหนดให้ผู้ยื่นรายการแจ้งข้อความตามรายงานข้อมูลรายประเทศ (Country-by-Country Report)
5. กำหนดเพิ่มเติมซึ่งองค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล และสถานศึกษา ที่ถือเป็นองค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล และสถานศึกษา ตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1436/2563
ระหว่าง     พนักงานอัยการจังหวัดระยอง                โจทก์
         บริษัทไรวินทร์ บำรุงรักษาและบริการจำกัด กับพวก     จำเลย
เรื่อง การนำใบกำกับภาษีปลอมไปใช้

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าตอบแทนจากทางราชการของเจ้าหน้าที่และบุคคลภายนอกซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
กฎกระทรวง ฉบับที่ 378 (พ.ศ. 2564) กำหนดยกเว้นค่าตอบแทนที่ได้รับจากทางราชการของเจ้าหน้าที่และบุคคลภายนอกซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปีภาษี พ.ศ. 2564
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎกระทรวงกำหนด
     รายละเอียดตาม https://bit.ly/31sHqKn

2. กำหนดเอกสารหรือหลักฐานแสดงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์ข้อกำหนดของธุรกรรมระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 407) กำหนดเอกสารหรือหลักฐานที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์ข้อกำหนดธุรกรรมระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2564 เป็นต้นไป
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     รายละเอียดตาม https://bit.ly/3BKwBzz
3. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 36) กำหนดให้เงินที่บริจาคให้กับสำนักงานปลัดสำนักนายารัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้รับยกเว้นภาษีบุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล หรือภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วแต่กรณี โดยผู้ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากรไม่ต้องแสดงเอกสารหลักฐานการบริจาคต่อเจ้าพนักงานประเมิน
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     รายละเอียดตาม https://bit.ly/3jX4es0

4. กำหนดให้ผู้ยื่นรายการแจ้งข้อความตามรายงานข้อมูลรายประเทศ (Country-by-Country Report)
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 408) กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันตามที่ประกาศกำหนดมีหน้าที่ยื่นรายงานข้อมูลรายประเทศ (Country-by-Country Report) พร้อมยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ให้แก่เจ้าพนักงานประเมิน โดยมีผลใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2564 เป็นต้นไป
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     รายละเอียดตาม https://bit.ly/3bBeqll

5. กำหนดเพิ่มเติมซึ่งองค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล และสถานศึกษา ที่ถือเป็นองค์การสถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล และสถานศึกษา ตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
ประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 777 ถึงฉบับที่ 779) ได้กำหนดให้แก้ไขเพิ่มเติมจาก “มูลนิธิสงเคราะห์ผู้ป่วยจิตเวชโรงพยาบาลสวนปรุง” เป็น “มูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง” รวมถึง ให้เพิ่ม “มูลนิธิสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนจังหวัดพิษณุโลก” และ “มูลนิธิสถาบันพระบรมราชชนก” เป็นองค์การสถานสาธารณกุศล ตามมาตรา 47 (7) (ข)
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ประกาศกระทรวงการคลังกำหนด
     รายละเอียดตาม
https://bit.ly/3CVlfKR (ฉบับที่ 777)
https://bit.ly/3waXonG (ฉบับที่ 778)
https://bit.ly/3bEN0v3 (ฉบับที่ 779)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1436/2563
ระหว่าง     พนักงานอัยการจังหวัดระยอง                โจทก์
         บริษัทไรวินทร์ บำรุงรักษาและบริการจำกัด กับพวก     จำเลย
เรื่อง การนำใบกำกับภาษีปลอมไปใช้

ประเด็นข้อพิพาท : การลงโทษจำเลยทั้งทางแพ่งและทางอาญาเพราะเหตุนำใบกำกับภาษีปลอมไปใช้ เป็นการลงโทษจำเลยมากกว่าหนึ่งครั้งหรือไม่

ข้อเท็จจริง : จำเลยทั้งสองนำใบกำกับภาษีที่ออกโดยบริษัทที่ไม่ได้ประกอบการจริงและที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีมาใช้เป็นเครดิตภาษีในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ตั้งแต่เดือนภาษีมกราคมปี 2552 ถึงเดือนภาษีพฤษภาคมปี 2552 และเดือนภาษีกรกฎาคมปี 2552 ถึงเดือนธันวาคมปี 2552 เจ้าพนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาเมืองระยอง 2 จึงประเมินเบี้ยปรับและเงินเพิ่มและโทษทางอาญาแก่จำเลย จำเลยไม่เห็นด้วย จึงนำเรื่องไปยื่นฟ้องต่อศาล ต่อมาศาลชั้นต้นจึงมีคำพิพากษาให้ปรับจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 11,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 16 เดือน 15 วัน

     จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เมื่อจำเลยชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามที่สรรพากรพื้นที่สาขาเมืองระยอง 2 แจ้งการประเมินครบถ้วนแล้ว ศาลจะลงโทษจำเลยทั้งสองด้วยโทษทางอาญา อันเป็นการลงโทษจำเลยมากกว่าหนึ่งครั้งไม่ได้

คำพิพากษา : ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเข้าข่ายการนำใบกำกับภาษีปลอมและใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้เป็นเครดิตภาษีในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ซึ่งบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรกำหนดให้ผู้ใช้ใบกำกับภาษีปลอมจะต้องรับผิดทางแพ่งโดยเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 89 (7) และ 89/1 และต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 90/4 (7) แห่งประมวลรัษฎากรด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มซึ่งเป็นความรับผิดทางแพ่งแล้ว จำเลยทั้งสองยังคงต้องรับผิดทางอาญาด้วย เนื่องจากเป็นความรับผิดแยกต่างหากจากกัน ไม่ใช่การลงโทษจำเลยมากกว่าหนึ่งครั้ง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกา เนื่องจากประมวลรัษฎากรกำหนดบทลงโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญาแยกต่างหากออกจากกันอย่างชัดเจน การที่จำเลยอ้างว่า เมื่อจำเลยชำระเบี้ยปรับเงินเพิ่มครบถ้วนแล้ว ศาลจะลงโทษให้จำเลยรับผิดทางอาญาอีกไม่ได้ เพราะเป็นการลงโทษจำเลยมากกว่าหนึ่งครั้งนั้น เป็นกรณีที่จำเลยอ้างถึงหลักในกฎหมายอาญา ตามหลักที่ว่า จะลงโทษซ้ำกันหลายครั้งสำหรับการกระทำอันเดียวกันไม่ได้ ซึ่งมีที่มาจากภาษิตละตินที่ว่า “Non bis in idem” แต่จากข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยมิได้รับโทษทางอาญาซ้ำซ้อนสำหรับการกระทำเดียวกัน หากแต่ได้รับโทษทั้งทางแพ่งและอาญา กรณีดังกล่าวจึงไม่ใช่การลงโทษซ้ำซ้อนอย่างที่จำเลยกล่าวอ้าง

     จากเหตุผลข้างต้น การที่ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเบี้ยปรับเงินเพิ่ม และลงโทษปรับกับจำเลยที่ 1 และลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 จึงชอบแล้ว

นางสาวพราว พืชมงคล

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9750
Email: prowp@dlo.co.th