จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter
ฉบับที่ 123 เดือนตุลาคม 2564
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนในระบบการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการนำส่งภาษี และรายจ่ายที่เป็นค่าบริการที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ให้บริการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือผู้ให้บริการนำส่งเงินภาษี
2. ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณี การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ
3. ยกเว้นภาษีเงินได้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำหรับเงินได้ที่ได้รับเป็นเงินสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน
4. ยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มแก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในบางกรณี
ข่าวภาษี
1. ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่นิติบุคคลสำหรับรายรับที่เป็นเงินค่าทดแทนเฉพาะตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการขายหรือถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายดังกล่าว
2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายจ่ายค่าซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit)
3. การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4980/2561
ระหว่าง
บริษัท อ จำกัด
โจทก์
กรมสรรพากร
จำเลย
เรื่อง การยื่นแบบ ภ.พ.30 ล่าช้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนในระบบการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการนำส่งภาษี และรายจ่ายที่เป็นค่าบริการที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ให้บริการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือผู้ให้บริการนำส่งเงินภาษี
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายที่ได้จ่ายไป เพื่อการลงทุนในระบบการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการนำส่งภาษี และรายจ่ายค่าบริการที่ได้จ่ายให้แก่ ผู้ให้บริการจัดทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือผู้ให้บริการนำส่งเงินภาษี ที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dg406.pdf
2. ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณี การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ
ประกาศกระทรวงการคลัง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ขยายเวลาในการยื่นแบบรายการภาษี (แบบ P.P.30.9) และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ หรือ ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ จากเดิมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ขยายเป็นภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไป
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ประกาศกระทรวงการคลังกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/mfves_expand.pdf
3. ยกเว้นภาษีเงินได้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำหรับเงินได้ที่ได้รับเป็นเงินสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน
พระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 722 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ยกเว้นภาษีเงินได้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำหรับเงินได้ที่ได้รับเป็นเงินสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษ และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนทางการเงิน
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่พระราชกฤษฎีกากำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dc722.pdf
4. ยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มแก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในบางกรณี
พระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 723 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลสำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการเฉพาะการบริจาคสินค้าให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุน การแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่พระราชกฤษฎีกากำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dc723.pdf
ข่าวภาษี
1. ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่นิติบุคคลสำหรับรายรับที่เป็นเงินค่าทดแทนเฉพาะตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการขายหรือถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายดังกล่าว
เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร กรณียกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่นิติบุคคลสำหรับรายรับที่เป็นเงินค่าทดแทนเฉพาะตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการขายหรือถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/45605
2. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายจ่ายค่าซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit)
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนรายจ่ายค่าซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) ภายใต้หลักการ ดังนี้
1) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 50 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) เพื่อใช้สำหรับพนักงานหรือลูกจ้างของตนเอง ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565
2) ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/45805
3. การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโรโรนา 2019 ที่ได้รับจากกระทรวงสาธารณสุขออกไปอีก 1 ปีภาษี (สำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี 2564) เพื่อให้บุคลากร ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการระบาดของ COVID-19 ได้รับการบรรเทาภาระภาษีและมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/46045
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4980/2561
ระหว่าง
บริษัท อ จำกัด
โจทก์
กรมสรรพากร
จำเลย
เรื่อง การยื่นแบบ ภ.พ.30 ล่าช้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร
ประเด็นข้อพิพาท : การประเมินเบี้ยปรับของเจ้าพนักงาน ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ข้อเท็จจริง : โจทก์ตรวจพบความผิดปกติของข้อมูลการจำหน่ายรถยนต์และยอดภาษีที่ต้องชำระสำหรับเดือนสิงหาคม จึงได้นำเรื่องไปปรึกษาและขอให้เจ้าพนักงานสรรพากรพื้นที่ช่วยตรวจสอบ ในระหว่างรอผล โจทก์ยื่นแบบ ภ.พ.30 สำหรับเดือนสิงหาคม และชำระภาษีโดยเทียบเคียงกับเดือนภาษีก่อน โจทก์ไม่ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 และไม่ได้ชำระภาษีสำหรับเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม เมื่อโจทก์ไปติดตามเร่งผลการตรวจสอบจากเจ้าพนักงาน จึงได้รับแจ้งโจทก์ว่าโจทก์ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้ครบ รวมถึงเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มตามกฎหมาย โจทก์รู้สึกไม่เป็นธรรม จึงของดเบี้ยปรับทั้งหมด แม้ว่าจำเลยจะได้ปรับลดให้บางส่วนตามกฎหมายแล้วก็ตาม
คำพิพากษาย่อ : แม้ว่าโจทก์จะตรวจพบความผิดปกติของข้อมูลการจำหน่ายรถยนต์และยอดภาษีที่ต้องชำระสำหรับเดือนสิงหาคม จึงได้นำเรื่องไปปรึกษาและขอให้เจ้าพนักงานสรรพากรพื้นที่ช่วยตรวจสอบ แต่โจทก์เป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มมากว่า 17 ปี ย่อมต้องทราบดีว่าโจทก์มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งข้อมูลที่ต้องใช้ในการยื่นแบบเป็นสิ่งที่อยู่ในความรู้เห็นของโจทก์อยู่แล้วจึงตรวจสอบเองได้ กรณีของโจทก์ไม่ปรากฏว่าเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบ โจทก์มีเหตุผลสมควรประการใดที่จะทำให้โจทก์ไม่ทราบถึงยอดขายที่ถูกต้องแท้จริงตามใบกำกับภาษีขายที่โจทก์เป็นผู้ออกเองทั้งหมดในเดือนภาษีก่อนได้ จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น การที่จำเลยมีคำสั่งไม่งดหรือลดเบี้ยปรับอีกตามที่โจทก์ร้องขอ จึงชอบแล้ว
ความเห็น : คำพิพากษาศาลฎีกานี้ มีประเด็นที่น่าสนใจว่าเราจะสามารถยกเหตุเรื่องของความล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่มาเป็นเหตุในการยื่นแบบและนำส่งภาษีล่าช้าได้หรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้ศาลก็ได้ตัดสินออกมาได้น่าสนใจ โดยแม้ว่าโจทก์จะได้นำปัญหาที่ตนตรวจพบไปปรึกษาและขอให้เจ้าพนักงานสรรพากรพื้นที่ช่วยตรวจสอบ และเกิดความล่าช้าในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานสรรพากรก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุอันสมควรที่จะทำให้โจทก์สามารถยื่นแบบและนำส่งภาษีต่อจำเลยล่าช้าเกินกว่าเวลาที่กฎหมายกำหนดได้
ผู้เขียนมีความเห็นว่า คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้สามารถนำไปปรับใช้กับการยื่นแบบและเสียภาษีได้ทุกประเภทไม่เพียงแต่เฉพาะการยื่นแบบและการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามแบบ ภ.พ.30 อันเป็นกรณีพิพาทตามคำพิพากษา ความขัดข้องของผู้มีหน้ายื่นแบบเองไม่เป็นเหตุให้ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบนั้น ได้รับการผ่อนผันไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายทางหนึ่งของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน ที่ต้องพิจารณาถึงข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ ไป การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้มานำเสนอ ก็เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น
นภัทร วงศ์ลิมปิยะรัตน์
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9785, 0-2680-9777
Email: napatw@dlo.co.th