จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter
ฉบับที่ 120 เดือนกรกฎาคม 2564
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีนำส่งภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เหลืออัตราร้อยละ 2
ข่าวภาษี
1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำหรับเงินสนับสนุนที่ได้รับจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน
2. มาตรการภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
3. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาค เพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
4. การขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 702/2552
ระหว่าง
บริษัท ด. จำกัด
โจทก์
กรมสรรพากร
จำเลย
เรื่อง
การประเมินดอกเบี้ย กรณีบริษัทให้กู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาด โดยไม่มีเหตุอันสมควร
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีนำส่งภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เหลืออัตราร้อยละ 2
กฎกระทรวง ฉบับที่ 373 (พ.ศ. 2564) ลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เฉพาะกรณีนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เหลืออัตราร้อยละ 2
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3AswCsH
ข่าวภาษี
1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำหรับเงินสนับสนุนที่ได้รับจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญคือ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำหรับเงินสนับสนุนที่ได้รับจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/36crRWb
2. มาตรการภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำหรับการบริจาคที่กระทำผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e – Donation) ให้แก่ กสศ. ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เป็นจำนวน 2 เท่า
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3Am2hMi
3. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาค เพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ให้แก่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2565 เป็นจำนวนเท่ากับที่บริจาค
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3Am2hMi
4. การขยายเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ ขยายกำหนดเวลาของมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 6 มาตรการ จากเดิมที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3Am2hMi
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 702/2552
ระหว่าง
บริษัท ด. จำกัด
โจทก์
กรมสรรพากร
จำเลย
เรื่อง
การประเมินดอกเบี้ยรับ กรณีบริษัทให้กู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาด โดยไม่มีเหตุอันสมควร
ประเด็นข้อพิพาท : การประเมินดอกเบี้ยรับ กรณีบริษัทให้กู้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยต่ำ
กว่าราคาตลาด ของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ข้อเท็จจริง : เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2538 โจทก์บันทึกรับเงินสดจากการขายที่ดินรวม 66,492,563 บาท และโจทก์ครอบครองเงินสดจำนวนดังกล่าวไว้ที่สำนักงาน โดยไม่ปรากฏว่าได้นำเงินไปฝากธนาคารหรือนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่กรรมการหรือบริษัท ซ. จำกัด ทั้งที่โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่บริษัท ซ. จำกัด ในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี จนวันที่ 11 กันยายน 2538 โจทก์จึงได้นำเงินไปชำระหนี้คืนกรรมการจำนวน 30,000,000 บาท และวันที่ 13 กันยายน 2538 ชำระหนี้คืนให้แก่บริษัท ซ. จำกัด จำนวน 32,130,287.95 บาท
คำพิพากษาย่อ : กรณีโจทก์ลงบัญชีรับเงินสดจากการขายที่ดินจำนวน 66,492,563 บาท ไม่ปรากฏว่าโจทก์นำเงินดังกล่าวไปชำระหนี้ที่โจทก์กู้ยืมมาซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยหรือนำไปฝากธนาคารเพื่อให้เกิดดอกเบี้ย เจ้าพนักงานประเมินถือว่าเป็นการให้กรรมการนำเงินดังกล่าวไปใช้ เข้าลักษณะเป็นการให้กู้ยืมเงินโดยไม่มีเหตุอันสมควรที่โจทก์จะไม่คิดดอกเบี้ย เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยรับจากเงินดังกล่าวได้ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดรายรับขึ้นเองโดยผิดข้อเท็จจริงและผิดหลักการบัญชี
ความเห็น : คำพิพากษาศาลฎีกานี้ มีประเด็นที่น่าสนใจว่า แม้ข้อเท็จจริงจะไม่ปรากฏว่าโจทก์ ให้กรรมการกู้ยืมเงินก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์มีต้นทุนทางการเงิน ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่บริษัท ซ. จำกัด ในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี เมื่อโจทก์ได้รับเงินจากการขายที่ดิน 66,492,563 บาท ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์นำเงินไปชำระหนี้ที่กู้ยืมมาที่ต้องเสียดอกเบี้ย หรือนำเงินไปฝากธนาคารเพื่อให้ได้รับดอกเบี้ย หรือนำไปหาผลประโยชน์อื่นใด แต่โจทก์กลับเลือกที่จะถือเงินสด 66,492,563 บาท ไว้ถึง 6 เดือนกว่า ซึ่งผิดปกติวิสัยของผู้ประกอบการที่จะต้องแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่บริษัท เจ้าพนักงานประเมินจึงถือว่าเป็นกรณีที่โจทก์ให้กรรมการนำเงินดังกล่าวไปใช้ และถือเป็นการให้กรรมการกู้ยืมเงินโดยไม่มีเหตุอันสมควรที่จะไม่คิดดอกเบี้ย ทำให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยรับ (ตามราคาตลาด) ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากรได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 702/2552 จึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า แม้บริษัทจะไม่มีการกู้ยืมกันจริง เจ้าพนักงานประเมินก็มีอำนาจประเมินดอกเบี้ยรับตามราคาตลาดได้
นอกจากนี้มีประเด็นที่น่าสนใจว่า หากมีข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปว่า โจทก์นำเงินไปชำระหนี้ที่กู้ยืมมา หรือนำไปหาผลประโยชน์ในทางอื่นต่อ กรณีก็น่าจะไม่สามารถรับฟังได้ว่าโจทก์นำเงินไปให้กรรมการใช้ และไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ให้กรรมการกู้ยืมเงินโดยไม่คิดดอกเบี้ยโดยไม่มีเหตุอันสมควร และส่งผลให้เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจประเมินดอกเบี้ยรับตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฏากรได้ อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายทางหนึ่งของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อน ที่ต้องพิจารณาถึงข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้มานำเสนอ ก็เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น
นายรัฐวุฒิ จิตร์ชนะ
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9753, 0-2680-9777
Email: rattawutc@dlo.co.th