จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมีนาคม 2563

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 107 เดือนมีนาคม 2563

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ
2. ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
3. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินชดเชยที่ได้รับตามมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่ม

ข่าวภาษี
1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษเข้าทำงาน
2. มาตรการภาษีสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0
3. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15365/2557
ระหว่าง          กรมสรรพากร        โจทก์
              ห้างหุ้นส่วนจำกัด ท.    จำเลย
เรื่อง อายุความสะดุดหยุดลง

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ

     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 691) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ ดังนี้

     1. สำหรับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้ยกเว้นเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนเป็นจำนวน 2 เท่าของเงินที่บริจาค
     2. สำหรับการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้ยกเว้นเป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายซึ่งเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่บริษัทได้บริจาค
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3gxBkLF

2. ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
     พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 692) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายเพื่อส่งเสริมการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นจำนวน 2 เท่า จากเดิมที่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2561 เป็นไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2563
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2XFSI8o

3. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินชดเชยที่ได้รับตามมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่ม
     กฎกระทรวง ฉบับที่ 356 (พ.ศ. 2563) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินชดเชยตามมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม อันเนื่องมาจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการในประเทศไทยด้วยบัตรเดบิตหรือภาพรหัสคิวอาร์ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 จากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งได้นำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร ตามจำนวนที่ได้รับแต่ไม่เกิน 1,000 บาท
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3cahEKk

ข่าวภาษี

1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจ้างงานผู้พ้นโทษเข้าทำงาน
     เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งรับผู้ที่พ้นโทษจากเรือนจำไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับการปล่อยตัว เข้าทำงาน เป็นจำนวนร้อยละ 50 ของค่าจ้างแรงงานผู้พ้นโทษเฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3eAs1JU
2. มาตรการภาษีสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0
     เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเว้นภาษี ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินที่ได้จ่ายไปเพื่อการบริจาคให้ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 สถานศึกษาของรัฐหรือโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบ ดังนี้
     1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นจำนวน 3 เท่าของที่จ่ายจริง ดังนี้
       1.1 ให้หักรายจ่าย 1 เท่าแรกตามที่จ่ายจริง
       1.2 ให้หักรายจ่ายเท่าที่ 2 เพิ่มขึ้นจากเท่าที่ 1 ตามจำนวนที่จ่ายจริง
       1.3 ให้หักรายจ่ายเท่าที่ 3 เพิ่มเติมจากเท่าที่ 2 แต่เมื่อรวมกันต้องไม่เกินเพดาน ดังนี้
         1.3.1 ร้อยละ 60 เฉพาะส่วนของรายได้ที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท
         1.3.2 ร้อยละ 9 เฉพาะส่วนของรายได้ที่เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท
         1.3.3 ร้อยละ 6 เฉพาะส่วนของรายได้ที่เกิน 200 ล้านบาท
         1.4 การหักรายจ่ายตาม 1.1 – 1.3 รวมกันต้องไม่เกินกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือไม่เกิน 100 ล้านบาท แล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่า
     2. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคทรัพย์สินระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และต้องไม่นำรายจ่ายที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีตาม 1. ไปหักเป็นรายจ่ายตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3ezXpIt
3. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
     เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการขยายระยะเวลาการจดแจ้งการขอใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการประกอบกิจการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 เป็นเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ สำหรับกำไรสุทธิจากรายได้ที่เกิดจากการผลิตสินค้าหรือการให้บริการและมีการใช้บริการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ได้จดแจ้งการขอใช้สิทธิ ตั้งแต่วันที่กฎหมายใช้บังคับถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3ezXpIt

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  15365/2557
ระหว่าง          กรมสรรพากร        โจทก์
              ห้างหุ้นส่วนจำกัด ท.    จำเลย
เรื่อง อายุความสะดุดหยุดลง

ประเด็นข้อพิพาท : อายุความการฟ้องคดีภาษีอากร

ข้อเท็จจริง : ห้างหุ้นส่วน ท. ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 51) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 ถึง 2540 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2541 เจ้าพนักงานสรรพากรจึงออกหมายเรียกให้ห้างหุ้นส่วน ท. เข้าพบเพื่อชี้แจงและส่งมอบเอกสาร แต่ห้างหุ้นส่วน ท. มิได้เข้าพบเจ้าพนักงานตามหมายเรียก เจ้าพนักงานสรรพากรจึงออกหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ห้างหุ้นส่วน ท. เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2542

     ต่อมา ห้างหุ้นส่วน ท. ยื่นอุทธรณ์การประเมินเพื่อขอลดหรืองดเบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ลดเบี้ยปรับเหลือเพียงร้อยละ 30 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย แต่ห้างหุ้นส่วน ท. ก็ไม่ชำระค่าภาษี

     เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2549 ห้างหุ้นส่วน ท. ยื่นคำร้องขอผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรตามการประเมิน แต่ห้างหุ้นส่วน ท. ผิดนัดชำระหนี้ตามคำร้องขอผ่อนชำระหนี้ กรมสรรพากรจึงฟ้องห้างหุ้นส่วน ท. เป็นคดีนี้ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2552 โดยห้างหุ้นส่วน ท. อ้างว่า กรมสรรพากรทราบว่าห้างหุ้นส่วน ท. ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่วันออกหมายเรียกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2541 ซึ่งจะครบ 10 ปี ในวันที่ 25 สิงหาคม 2551 คดีนี้ขาดอายุความแล้ว

คำพิพากษา : ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า หนี้ค่าภาษีนั้นประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/31 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 193/32 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น กรมสรรพากรจึงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันสุดท้ายที่ครบกำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ วันที่ 30 สิงหาคม 2539 และวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539

     แต่ต่อมา กรมสรรพากรได้แจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มไปยังห้างหุ้นส่วน ท. อันเป็นการกระทำที่ถือได้ว่ามีผลอย่างเดียวกับการฟ้องคดี เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง โดยระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ ตามมาตรา 193/14 (5) และ 193/15 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อห้างหุ้นส่วน ท. มีเวลาชำระค่าภาษีอากรตามการประเมินภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน อายุความจึงเริ่มต้นนับใหม่เมื่อพ้น 30 วัน นับแต่วันที่ 30 กันยายน 2542 เป็นต้นไป

     ต่อมาเมื่อห้างหุ้นส่วน ท. ได้มายื่นคำร้องขอผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรตามการประเมิน จึงเป็นกรณีที่ห้างหุ้นส่วน ท. รับสภาพหนี้และชำระหนี้ให้บางส่วนถึงเดือนมีนาคม 2550 อันเป็นผลให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อายุความจึงเริ่มนับใหม่อีกครั้งตั้งแต่วันที่ห้างหุ้นส่วน ท. เริ่มผิดนัดผ่อนชำระหนี้ คือ เดือนเมษายน 2550 เมื่อนับถึงวันฟ้องคดีนี้ คือ วันที่ 30 กรกฎาคม 2552 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี ฟ้องของกรมสรรพากรจึงยังไม่ขาดอายุความ

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกา เนื่องด้วยกฎหมายมีการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินคดีไว้ว่าจะต้องดำเนินคดีใดภายในระยะเวลาเท่าใด ซึ่งเรียกว่า “อายุความ” ด้วยเหตุนี้ หากบุคคลใดถูกโต้แย้งสิทธิและประสงค์จะใช้สิทธิทางศาล หรือบุคคลใดประสงค์จะขอให้ศาลมีคำสั่งใด ๆ บุคคลนั้นจำต้องดำเนินคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด มิเช่นนั้นแล้วย่อมไม่อาจดำเนินการทางศาลได้ด้วยเหตุว่าขาดอายุความ

     นอกจากนี้ การนับอายุความจะเริ่มนับเมื่อบุคคลนั้นอาจใช้สิทธิเรียกร้องจากการถูกโต้แย้งสิทธิ หรืออาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งใด ๆ ไปจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด และการนับระยะเวลาดังกล่าวอาจมีการหยุดนับและให้เริ่มนับใหม่ได้ เรียกว่า “อายุความสะดุดหยุดลง” ซึ่งโดยหลักแล้วเหตุการณ์ที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้น จะเกิดจากบุคคลผู้ที่อาจใช้สิทธิทางศาล หรือผู้ที่อาจขอให้ศาลมีคำสั่งใด ๆ ได้ดำเนินการทางกฎหมายตามสิทธิของตน เช่น

     1. ลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ หรือชำระหนี้ให้บางส่วน หรือชำระดอกเบี้ย หรือให้ประกัน เป็นต้น
     2. เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดีต่อศาล
     3. เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
     4. เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี

     ดังนั้น การที่กรมสรรพากรมีหนังสือแจ้งการประเมินไปยังห้างหุ้นส่วน ท. จึงเข้าลักษณะเป็นการกระทำที่มีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี และการที่ห้างหุ้นส่วน ท. ยื่นคำร้องขอผ่อนชำระหนี้ค่าภาษีอากรตามการประเมินนั้น เข้าลักษณะเป็นกรณีที่ลูกหนี้ทำหนังสือรับสถาพหนี้ อันเป็นการทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ดังนั้น ห้างหุ้นส่วน ท. จึงไม่อาจอ้างว่าคดีขาดอายุความตามคำพิพากษาของศาลฎีกาข้างต้นได้

นางสาวอชิรญาณ์ สุทธิสุนทรินทร์

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-26809-751, 0-2680-9760
Email: achirayas@dlo.co.th