จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมกราคม 2563

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 105 เดือนมกราคม 2563

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค
2. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ
3. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบริษัทการค้าระหว่างประเทศ
4. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินบริจาคให้แก่โครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5. เงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
6. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีจ่ายเงินได้ให้แก่กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
7. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมอาคารและรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนโพดุล พายุโซนร้อนคาจิกิ หรือมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

ข่าวภาษี

1. มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนและเงินชดเชยตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้”
2. มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง งดหรือลดเบี้ยปรับ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณมูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีราคาประเมินทุนทรัพย์
3. มาตรการภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ
4. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของ SMEs (มาตรการพี่ช่วยน้อง)
5. มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินชดเชยตามมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5450/2561
ระหว่าง
     นาย พ.          โจทก์
     กรมสรรพากร      จำเลย
เรื่อง ฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 685) พ.ศ. 2562 กำหนดให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 405) พ.ศ. 2545 ดังนี้
1.1 ให้ยกเลิกความใน (3) ของมาตรา 8 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(3) ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ เฉพาะค่าสิทธิที่เกิดจากผลการวิจัยและพัฒนาที่กระทำาขึ้นในประเทศไทย โดยสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคได้วิจัยและพัฒนาเองหรือผู้อื่นวิจัย และพัฒนา ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ทั้งนี้ สำหรับค่าสิทธิที่ได้รับก่อนวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562”
1.2 ให้ยกเลิกความในมาตรา 10/2 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 10/2 ให้สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคที่มีคุณสมบัติตามมาตรา 10 ได้รับสิทธิลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 8 (1) และ (2) และมาตรา 9 จนถึงรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563”
1.3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา 11/1
“ให้คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคและยังคงได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่ง ได้รับสิทธิลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562”
1.4 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 11/2 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 11/2 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ ให้แก่สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค สำหรับรายได้ที่ได้รับก่อนวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ดังต่อไปนี้
(1) รายได้จากการให้บริการของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคแก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นในประเทศไทย
(2) ดอกเบี้ยที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ หรือสาขาต่างประเทศของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยจากเงินกู้ยืมที่สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคได้กู้มาเพื่อให้กู้ยืมต่อ
(3) ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ เฉพาะค่าสิทธิที่เกิดจากผลการวิจัยและพัฒนา ที่กระทำขึ้นในประเทศไทย โดยสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคได้วิจัยและพัฒนาเองหรือผู้อื่นวิจัยและพัฒนา
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด”
1.5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 11/3 และมาตรา 11/4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 11/3 และมาตรา 11/4
“มาตรา 11/3 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค สำหรับรายได้ที่ได้จากการให้บริการของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคแก่วิสาหกิจในเครือที่อยู่ในต่างประเทศ หรือสาขาต่างประเทศของสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค และสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคต้องได้รับรายได้ดังกล่าวก่อนวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562
มาตรา 11/4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคที่มีรายได้จากการให้บริการหรือค่าสิทธิตามที่กำหนดในมาตรา 11/2 วรรคสอง สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินปันผลที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ และสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ต้องได้รับเงินปันผลดังกล่าวก่อนวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562”
1.6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 11/11 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 11/11 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินปันผลที่ได้รับจากสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคตามมาตรา 11/6 (6) ที่จ่ายจากรายได้จากการให้บริการหรือค่าสิทธิตามมาตรา 11/2 และเกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562
เงินปันผลที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งต้องจ่ายภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563”
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/301DWd6

2. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 686) พ.ศ. 2562 กำหนดให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 586) พ.ศ. 2558 ดังนี้
1. ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา 6
“ให้คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศและยังคงได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่ง ได้รับสิทธิลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562”
2. ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 7 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 7 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลแห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ ให้แก่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ สำหรับรายได้ที่ได้รับก่อนวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ดังต่อไปนี้
(1) รายได้จากการให้บริการด้านการบริหารหรือด้านเทคนิค การให้บริการสนับสนุน หรือการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
(2) ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เฉพาะค่าสิทธิที่เกิดจากผลการวิจัยและพัฒนาที่กระทำในประเทศไทย โดยสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศได้วิจัยและพัฒนาเอง หรือจ้างผู้อื่นวิจัยและพัฒนา ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด ทั้งนี้ สำหรับค่าสิทธิที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป”
3. ให้ยกเลิกความในมาตรา 8 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 8 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ สำหรับรายได้ที่ได้รับก่อนวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ดังต่อไปนี้
(1) รายได้จากการให้บริการด้านการบริหารหรือด้านเทคนิค การให้บริการสนับสนุน หรือการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
(2) ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ เฉพาะค่าสิทธิที่เกิดจากผลการวิจัยและพัฒนาที่กระทำขึ้นในประเทศไทย โดยสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศได้วิจัยและพัฒนาเองหรือจ้างผู้อื่นวิจัยและพัฒนา ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนดทั้งนี้ สำหรับค่าสิทธิที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป
(3) เงินปันผลที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
(4) รายได้จากการโอนหุ้นของวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะการโอนหุ้นที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
(5) รายได้จากการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศ โดยสินค้าดังกล่าวมิได้ถูกนำเข้ามา
ในประเทศไทย หรือเข้ามาในประเทศไทยในลักษณะการผ่านแดนหรือการถ่ายล าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และรายได้จากการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศแก่นิติบุคคลที่ตั้งขึ้น
ตามกฎหมายต่างประเทศที่ได้รับจากหรือในต่างประเทศ”
4. ให้ยกเลิกความในมาตรา 11 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 11 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับรายได้ดังต่อไปนี้
(1) เงินปันผลที่ได้รับจากสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศตามมาตรา 9 (4) ที่จ่ายจากรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 8 ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ ต้องจ่ายเงินปันผลภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563
(2) ดอกเบี้ยที่ได้รับจากสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยจากเงินกู้ยืมที่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศได้กู้มาเพื่อให้กู้ยืมต่อแก่วิสาหกิจในเครือที่เป็นการบริหารเงิน และต้องได้รับก่อนวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562”
5. ให้ยกเลิกความในมาตรา 12 ให้ยกเลิกความในมาตรา 12
“มาตรา 12 ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศที่มีคุณสมบัติตามมาตรา 9 สำหรับรายรับจากการบริหารเงินให้แก่วิสาหกิจในเครือที่ได้รับก่อนวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562”
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/37GriTu

3. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบริษัทการค้าระหว่างประเทศ

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 687) พ.ศ. 2562 กำหนดให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 587) พ.ศ. 2558 ดังนี้
1. ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของมาตรา 6
“ให้คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำบริษัทการค้าระหว่างประเทศและยังคงได้รับสิทธิตามวรรคหนึ่งได้รับสิทธิลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562”
2. ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 7 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทการค้าระหว่างประเทศ สำหรับรายได้จากการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศ โดยสินค้าดังกล่าวมิได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย หรือเข้ามาในประเทศไทยในลักษณะการผ่านแดน หรือการถ่ายลำตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และรายได้จากการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศแก่นิติบุคคลในต่างประเทศที่ได้รับจากหรือในต่างประเทศ ทั้งนี้ บริษัทการค้าระหว่างประเทศต้องได้รับรายได้ดังกล่าวก่อนวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562”
3. ให้ยกเลิกความในมาตรา 10 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 10 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทการค้าระหว่างประเทศตามมาตรา 8 (3) ที่จ่ายจากรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 7 ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562
เงินปันผลที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งต้องจ่ายภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563”
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2SY01rA

4. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินบริจาคให้แก่โครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 688) พ.ศ. 2562 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนเงินเท่าที่บริจาคแก่โครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2FAAoFn

5. เงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

กฎกระทรวงฉบับที่ 352 (พ.ศ. 2562) กำหนดให้เงินได้พึงประเมินดังนี้ ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
1. ดอกเบี้ยและรางวัลสลากออมทรัพย์ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ แต่ไม่รวมถึงดอกเบี้ยซึ่งผู้รับมิใช่ผู้ทรงคนแรก ทั้งนี้ สำหรับสลากออมทรัพย์ที่ออกจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป
2. ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ทั้งนี้ สำหรับดอกเบี้ยที่คำนวณตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/36tBBKi

6. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีจ่ายเงินได้ให้แก่กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

กฎกระทรวงฉบับที่ 353 (พ.ศ. 2562) กำหนดให้ผู้จ่ายซึ่งได้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ก) อันได้แก่ ดอกเบี้ยเงินพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ให้แก่กองทุนรวมที่เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 15
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2MXjgxi

7. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมอาคารและรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนโพดุล พายุโซนร้อนคาจิกิ หรือมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

กฎกระทรวงฉบับที่ 354 (พ.ศ. 2562) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมอาคารและรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนโพดุล พายุโซนร้อนคาจิกิ หรือมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ดังนี้
1. เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซม หรือค่าวัสดุ หรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอาคาร หรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งกับตัวอาคาร หรือในที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคาร หรือในการซ่อมแซมห้องชุดในอาคารชุด หรือทรัพย์สินที่ประกอบติดตั้งกับห้องชุดในอาคารชุด และจ่ายระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 100,000 บาท
2. กำหนดให้เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก หรืออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถ และจ่ายระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 30,000 บาท
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/35qPZlf

ข่าวภาษี

1. มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนและเงินชดเชยตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้”

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนและเงินชดเชยตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิม
ช้อปใช้” ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/304CGGd

2. มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง งดหรือลดเบี้ยปรับ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณมูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีราคาประเมินทุนทรัพย์

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง งดหรือลดเบี้ยปรับ และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณมูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีราคาประเมินทุนทรัพย์ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. หลักการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
1.1 กำหนดให้ลดภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 50 ดังต่อไปนี้
1.1.1 ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้มาทางมรดก โดยใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ทั้งนี้ ต้องได้รับโอนมรดกและจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมก่อนวันที่ 13 มีนาคม 2562
1.1.2 ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงผลิตไฟฟ้า และโรงผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้ ให้รวมถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นที่ใช้ประโยชน์เกี่ยวเนื่องกับการผลิตไฟฟ้า
1.2 กำหนดให้ลดภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างร้อยละ 90 ดังต่อไปนี้
1.2.1 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นอสังหาริมทรัพย์รอการขายของสถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น สถาบันการเงินประชาชน บริษัทบริหารสินทรัพย์ เป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตกเป็นของหน่วยงาน
1.2.2 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นโครงการจัดสรรเพื่ออยู่อาศัยหรืออุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินเป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินดังกล่าว
1.2.3 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างอาคารชุดดังกล่าว
1.2.4 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว
1.2.5 ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน กฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หรือกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแล้ว ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้ขายเป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ 13 มีนาคม 2562
1.2.6 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในกิจการของสถาบันอุดมศึกษา ตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในกิจการของโรงเรียน ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
1.2.7 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นสถานที่ให้บริการแก่ประชาชนเป็นการทั่วไป ได้แก่ เล่นกีฬา สวนสัตว์ สวนสนุกที่มีเครื่องเล่นที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย
1.2.8 ที่จอดรถของการรถไฟฟ้า ที่ดินที่เป็นลานจอดรถสาธารณะในสถานีขนส่งผู้โดยสาร ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ตั้งของถนนหรือทางยกระดับ ที่เป็นทางพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือเป็นทางหลวงสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงสัมปทาน
2. หลักการงดหรือลดเบี้ยปรับ ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการของดเบี้ยปรับของภาษีที่ค้างชำระสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ถูกยึดหรืออายัดตามกฎหมาย
3. หลักการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณมูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีราคาประเมินทุนทรัพย์ ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณมูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีราคาประเมินทุนทรัพย์กำหนด ดังนี้
3.1 กรณีที่ดิน
3.1.1 ที่ดินที่มีโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (นส. 3 ก.) ให้พนักงานประเมินเทียบเคียงราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินกับแปลงที่ดินใกล้เคียงที่มีสภาพคล้ายคลึงกัน
3.1.2 ที่ดินที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินอื่น หรือที่ดินที่ไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน ให้พนักงานประเมินใช้ราคาที่ดินตามบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินรายเขตปกครองกรมธนารักษ์หรือสำนักงานกรมธนารักษ์พื้นที่จัดส่งให้เป็นฐานในการคำนวณภาษีของที่ดิน
3.2 กรณีสิ่งปลูกสร้าง ให้พนักงานประเมินใช้ราคาสิ่งปลูกสร้างตามบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ของสิ่งปลูกสร้างที่กรมธนารักษ์หรือสำนักงานธนารักษ์พื้นที่จัดส่งให้ เป็นฐานในการคำนวณภาษีของสิ่งปลูกสร้าง และกรณีไม่มีราคาประเมินทุนทรัพย์ของสิ่งปลูกสร้างให้พนักงานประเมินเทียบเคียงราคาประเมินทุนทรัพย์ของสิ่งปลูกสร้างตามบัญชีเทียบเคียงสิ่งปลูกสร้างที่กรมธนารักษ์หรือสำนักงานธนารักษ์พื้นที่จัดส่งให้
3.3 กรณีสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะอื่นซึ่งไม่สามารถเทียบเคียงตามบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ ให้พนักงานประเมินแจ้งให้เจ้าของสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวนำส่งเอกสารหรือหลักฐานแสดงมูลค่าสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกอบการพิจารณากำหนดราคาของสิ่งปลูกสร้างต่อ อปท.
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/304CGGd

3. มาตรการภาษีสำหรับการบริจาคให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร ให้แก่สถานศึกษาที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับทบวงการชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/37FyZci

4. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของ SMEs (มาตรการพี่ช่วยน้อง)

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการขยายระยะเวลาตามมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจจของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) (มาตรการพี่ช่วยน้อง) ออกไปอีก 2 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/37FyZci

5. มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินชดเชยตามมาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการ และการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการกำหนดให้เงินชดเชยที่ได้รับตามมาตรการส่งเสริมการชำระเงินด้วยบัตรเดบิตหรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น สำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ เงินชดเชยดังกล่าวต้องมีจำนวนไม่เกินหนึ่งพันบาท
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/37FyZci

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5450/2561
ระหว่าง              นาย พ.             โจทก์
กรมสรรพากร     จำเลย
เรื่อง ฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์
ประเด็นข้อพิพาท : การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมจากการขายที่ดินพิพาทชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ข้อเท็จจริง : นาย พ. ขายที่ดินให้แก่นาย ส. ในราคา 3,500,000 บาท ซึ่งในวันจดทะเบียนโอนขายที่ดินต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดินของสำนักงานที่ดิน เจ้าพนักงานแจ้งราคาประเมินที่ดินดังกล่าวว่ามีราคาตารางวาละ 4,000 บาท รวมทั้งแปลงราคาประเมิน 3,154,800 บาท ค่าธรรมเนียม 63,079 บาท ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 122,740 บาท และอากรแสตมป์ 17,505 บาท และนาย พ. ได้ชำระตามที่เจ้าพนักงานที่ดินเรียกเก็บครบถ้วนถูกต้องแล้ว

ต่อมาสำนักงานที่ดินอ้างว่า มีการเรียกเก็บและการชำระเงินค่าธรรมเนียม ภาษีเงินได้และอากรแสตมป์ไม่ถูกต้องขาดหายไป เนื่องจากขณะที่จดทะเบียนซื้อขาย ที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมินตารางวาละ 45,000 บาท จากการเปลี่ยนแปลงราคาประเมินของกรมธนารักษ์ที่มีผลบังคับใช้ก่อนวันที่นาย พ.และ นาย ส. ทำการจดทะเบียนซื้อขายกัน รวมราคาประเมินที่แท้จริง 35,491,500 บาท แต่เจ้าพนักงานที่ดินที่รับจดทะเบียนแจ้งราคาประเมินที่ยังมิได้เปลี่ยนแปลงให้นาย พ.ทราบแทน เจ้าพนักงานประเมินจึงมีหนังสือแจ้งให้นาย พ.นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม 4,115,984.98 บาท และเงินเพิ่ม 4,115,984.98 บาท รวม 8,21,969.96 บาท
นาย พ.จึงฟ้องขอให้ศาลภาษีอากรเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าว โดยอ้างว่า นาย พ.ได้รับเงินจากการขายที่ดินเพียง 3,500,000 บาท ไม่ใช่ 35,491,500 บาท เงินได้พึงประเมินที่นำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจึงต้องเป็นจำนวนเท่าที่นาย พ.ได้รับมาจากการขายที่ดินเท่านั้น

คำพิพากษา : ศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา 49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “ในกรณีที่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยมีหรือไม่มีค่าตอบแทน ไม่ว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์นั้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม ให้เจ้าพนักงานประเมินกำหนดราคาขายโดยถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น” เมื่อในวันที่นาย พ. โอนขายที่ดิน ตามบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ของกรมธนารักษ์ ที่ดินแปลงดังกล่าวมีราคาประเมินตารางวาละ 45,000 บาท ดังนั้น ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนาย พ. จะต้องถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมาย โดยถือว่าราคาประเมินที่ดินดังกล่าวเป็นรายได้ของนาย พ. ไม่ว่านาย พ. และ นาย ส. จะซื้อขายที่ดินกันในราคาใดก็ตาม การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงชอบแล้ว แต่มีเหตุให้ลดเงินเพิ่ม เนื่องจากการที่นาย พ.ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขาดไปนั้น เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าพนักงานที่ดินที่แจ้งราคาประเมินต่ำกว่าราคาประเมินที่แท้จริง ซึ่งเป็นเหตุที่ไม่ใช่ความผิดของนาย พ. กรณีจึงมีเหตุงดเงินเพิ่มแก่นาย พ.

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว เนื่องจากมาตรา 49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ใช้อยู่ในวันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นฐานภาษีในการคำนวณภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดา เมื่อราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินแปลงดังกล่าวได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็น ตารางวาละ 45,000 บาท ก่อนวันที่โอนกรรมสิทธิ์แล้ว ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจึงต้องคำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงใหม่ และนาย พ. มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่คำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ใช้อยู่ ณ วันที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ดังนั้น ก่อนจะมีการจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรมใด ๆ คู่สัญญาอาจร่วมกันตรวจสอบราคาประเมินทุนทรัพย์ก่อนเพื่อป้องกันความผิดพลาดและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นภายหลัง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการชำระภาษีขาดไปจะเกิดจากการที่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ได้แจ้งให้นาย พ. ทราบถึงราคาประเมินทุนทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงใหม่ และใช้อยู่ในวันที่โอนกรรมสิทธิ์นั้นก็ตาม แต่การนั้นก็เป็นคนละส่วนกับมูลค่าของที่ดินที่ต้องนำมาคำนวณภาษีตามมาตรา 49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ด้วยเหตุนี้ นาย พ. จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีส่วนที่ขาดตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน แต่ในส่วนความประมาทเลินเล่อของเจ้าพนักงานที่ดินในการปฏิบัติหน้าที่ ที่ทำให้นาย พ. ได้รับความเสียหายนั้น นาย พ. อาจใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เพื่อเยียวยาความเสียหายนั้นภายหลังได้

นอกจากนี้ ตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกา จะเห็นได้ว่า กรณีดังกล่าวศาลฎีกาได้พิจารณางดเงินเพิ่มให้ เนื่องจากเห็นได้ชัดว่าเป็นกรณีที่ไม่ได้เกิดจากเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี และไม่ได้เกิดจากความผิดของนาย พ. โดยตรง ซึ่งแตกต่างจากกรณีทั่วไปที่เมื่อผู้เสียภาษีได้ชำระภาษีไม่ถูกต้อง ทั้งจากการไม่ยื่นแบบเพื่อเสียภาษีก็ดี ชำระภาษีขาดไปก็ดี นอกจากผู้เสียภาษีจะต้องรับผิดเสียภาษีให้ถูกต้องแล้ว ก็ยังต้องรับผิดในเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอันเป็นบทลงโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งอาจทำให้กระทบต่อการประกอบธุรกิจหรือสถานภาพทางการเงินของผู้เสียภาษีได้ ดังนั้น เมื่อการเสียภาษีเป็นหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว บุคคลทุกคนควรศึกษาวิธีการเสียภาษีให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อที่จะป้องกันความเสี่ยงที่จะต้องรับผิดตามบทลงโทษดังกล่าวด้วย

นางสาวอชิรญาณ์ สุทธิสุนทรินทร์

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760
Email: achirayas@dlo.co.th