การสัมภาษณ์นางสาวสสิตา พรพานิช กรรมการบริหารสำรอง สำนักกฎหมายธรรมนิติ

1. ท่านมีภูมิหลังด้านการศึกษาและอาชีพการงานเป็นอย่างไร
ตอบ: สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และระดับปริญญาโท นิติศาสตร์มหาบัณฑิต สาขากฎหมายธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาโทแล้ว ดิฉันมีความสนใจงานด้านที่ปรึกกฎหมาย จึงมุ่งมั่นทำงานในสายอาชีพด้านที่ปรึกษากฎหมายมาจนถึงปัจจุบัน รวมประสบการณ์ทำงานทั้งสิ้น 9 ปี

2. ปัจจุบันท่านประกอบวิชาชีพกฎหมายในขอบเขตด้านใดบ้าง
ตอบ: ขอบเขตวิชาชีพกฎหมายที่ดิฉันรับผิดชอบคืองานด้านที่ปรึกษากฎหมายเกี่ยวกับการควบรวมบริษัท (Mergers and Acquisitions: M&A) การโอนกิจการทั้งหมด (Entire Business Transfer: EBT) การโอนกิจการบางส่วน (Partial Business Transfer: PBT) การซื้อขายกิจการ (Take Over) การร่วมทุน (Joint Venture) การตรวจสอบสถานะทางกฎหมาย (Legal Due Diligence) การแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดและนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การปรับโครงสร้างบริษัท ธรรมนูญครอบครัว รวมทั้งงานด้านที่ปรึกษากฎหมายทั่วไปและการจัดร่างสัญญา

3.ท่านคิดว่าท่านมีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางใดบ้างที่สามารถเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าของท่านได้
ตอบ: การที่ลูกค้าจะได้รับประโยชน์จากงานที่นักกฎหมายดำเนินการนั้น นอกจากความเชี่ยวชาญในสาขาที่ตนเองถนัดตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว จะต้องมีความเข้าใจในประเภทธุรกิจของลูกค้าประกอบด้วย

4.ท่านคิดว่าสิ่งใดสำคัญเมื่อท่านปฏิบัติงานให้กับลูกค้าของท่าน
ตอบ: การรักษามาตรฐานทางวิชาชีพ ความรับผิดชอบ การเอาใจใส่ รวมถึงความเข้าใจต่อความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มและงานแต่ละประเภท

5. ความสัมฤทธิ์ผลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาชีพการงานด้านกฎหมายของท่านคืออะไร
ตอบ: ความสำเร็จของงานทุกงานบนพื้นฐานของการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าและเพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้า

6. ท่านสนใจปัญหา/ขอบเขตวิชากฎหมายด้านใดบ้าง และเพราะเหตุใด
ตอบ: ขอบเขตวิชาชีพกฎหมายที่สนใจคือกฎหมายธุรกิจ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มลูกค้าในวงกว้าง ซึ่งทำให้สามารถเข้าถึงความต้องการของลูกค้าได้ทุกกลุ่ม และสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจกระทบกับลูกค้าได้อย่างตรงเป้าหมายและทันท่วงที

7. ท่านคิดว่าทักษะและคุณลักษณะใดบ้างที่ทำให้เป็นนักกฎหมายที่ดีและมีประสิทธิผล
ตอบ: ความเป็นมืออาชีพ ความรับผิดชอบ ความเอาใจใส่ การพัฒนาตนเอง และการับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง

8. ท่านมีความเห็นอย่างไรบ้างเกี่ยวกับทิศทางของสำนักงานในสังคมกฎหมายของโลกยุคใหม่
ตอบ: ทิศทางของสำนักกฎหมายในปัจจุบันต้องก้าวทันกับวิวัฒนาการทั้งทางด้านกฎหมาย ด้านธุรกิจ และด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถขยายขอบเขตงานให้ครอบคลุมและรองรับงานในรูปแบบใหม่ได้

9. ท่านเห็นว่าสำนักกฎหมายธรรมนิติ (DLO) ควรจะทำอะไรบ้างเพื่อปรับปรุงขีดความสามารถของนักกฎหมายให้ปฏิบัติงานสนองความประสงค์ของลูกค้าบริษัทได้ดีขึ้น
ตอบ: นอกจากนโยบายของบริษัทที่ดำเนินการในปัจจุบันนั้น การส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของนักกฎหมายอย่างสม่ำเสมอถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักกฎหมายได้เรียนรู้กฎหมายใหม่ ๆ และเข้าใจแนวทางการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ ให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป