1.ท่านมีภูมิหลังด้านการศึกษาและอาชีพการงานเป็นอย่างไร
ตอบ: หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต ผมให้ความสำคัญกับความรู้รอบตัวเป็นอย่างมาก โดยเริ่มจากงานเลขาฯ สมาชิกวุฒิสภา แล้วจึงหันมาทำงานสายทนายประกอบกับมีโอกาสได้เข้าอบรมหลักสูตรผู้ประกอบการยุคใหม่จากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการอบรมดังกล่าวมาใช้ในการบริหารสำนักงานกฎหมาย นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสนำองค์ความรู้ที่แสวงหาเพิ่มเติมมาบูรณาการกับธรรมนิติอีกด้วย
2.ปัจจุบันท่านประกอบวิชาชีพกฎหมายในขอบเขตด้านใดบ้าง
ตอบ: วิชาชีพกฎหมายปัจจุบันที่ผมรับผิดชอบอยู่นั้นมีทั้งกฎหมายเกี่ยวกับคดีความรับผิดทางการแพทย์ กฎหมายครอบครัว และคดีที่มีข้อยุ่งยากเกี่ยวกับข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม ในความคิดเห็นส่วนตัวของผม ผมได้แบ่งนักกฎหมายออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ 1. ว่าความ 2. ให้คำปรึกษา และ 3. ทั้งสองอย่าง โดยผมคิดเห็นว่านักกฎหมายรุ่นหลังควรเริ่มจากงานว่าความตั้งแต่ในช่วงแรกของการทำงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับตัวนักกฎหมายเองในอนาคตของการทำงาน
3.ท่านคิดว่าท่านมีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางใดบ้างที่สามารถเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าของท่านได้
ตอบ: ความสามารถในการสื่อสารและการเจรจาให้บรรลุเป้าหมายในประเด็นข้อพิพาท รวมไปถึงไหวพริบในการแก้ไขปัญหาในเรื่องของข้อเท็จจริงในคดีล้วนเป็นทักษะและความเชี่ยวชาญที่ผมมี แต่ไม่ว่าคุณจะมีกฎหมายข้อใดสนับสนุน หากคุณเรียบเรียงการสืบพยานหรือบกพร่องหรือละเลยในการนำเสนอพยานหลักฐานก็อาจส่งผลเสียต่อรูปคดีได้
4.ท่านคิดว่าสิ่งใดสำคัญเมื่อท่านปฏิบัติงานให้กับลูกค้าของท่าน
ตอบ: สิ่งสำคัญ คือ ความใส่ใจ ความจริงใจ และความเต็มใจ ผู้มีปัญหาด้านกฎหมาย คือ ผู้ที่มีความทุกข์ ซึ่งความเปี่ยมใจเหล่านั้นจะนำไปสู่การร่วมช่วยกันแก้ไขทุกข์ให้คลาย
5.ความสัมฤทธิ์ผลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาชีพการงานด้านกฎหมายของท่านคืออะไร
ตอบ: แน่นอน คือ การได้เห็นรอยยิ้ม ความยินดี ความคลายกังวลจากผู้ใช้บริการกฎหมาย
6.ท่านสนใจปัญหา/ขอบเขตวิชากฎหมายด้านใดบ้าง และเพราะเหตุใด
ตอบ: ผมมีความสนใจในเรื่องของกฎหมายละเมิด เพราะ เป็นเรื่องที่มีความท้าทายในปัญหาข้อเท็จจริงและต้องใช้ความสามารถทางไหวพริบในเชิงคดีอย่างสูงที่จะร้อยเรียงข้อความจริงและโถมทำลายข้อความเท็จ ซึ่งต่างปะปนอยู่ใน “ข้อเท็จจริง”
7.ท่านคิดว่าทักษะและคุณลักษณะใดบ้างที่ทำให้เป็นนักกฎหมายที่ดีและมีประสิทธิผล
ตอบ: 1. มีความรู้ 2. มีไหวพริบ 3. มีความรับผิดชอบ 4. มีหลักธรรมในใจ
8.ท่านมีความเห็นอย่างไรบ้างเกี่ยวกับทิศทางของสำนักงานในสังคมกฎหมายของโลกยุคใหม่
ตอบ: งานกฎหมายในสังคมโลกยุคใหม่ในประเทศไทยนั้นยังเป็นที่รู้จักน้อยและให้คุณค่าซึ่งตีเป็นมูลค่ายังต่ำอยู่มากเมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่นๆ ทั้งๆ ที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถในการแก้ไขปัญหายิ่งกว่าตำราที่เรียนมา แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีทิศทางที่บริษัทจะมีบทบาทในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ หากยังสามารถรักษามาตรฐานการบริการได้ดีต่อไป
9.ท่านเห็นว่าสำนักกฎหมายธรรมนิติ (DLO) ควรจะทำอะไรบ้างเพื่อปรับปรุงขีดความสามารถของนักกฎหมายให้ปฏิบัติงานสนองความประสงค์ของลูกค้าบริษัทได้ดีขึ้น
ตอบ: นอกจากเรื่องความสามารถทางวิชาชีพแล้ว บริษัทควรพัฒนาขีดความสามารถของนักวิชาชีพบริษัทในด้านการบริหารความทุกข์หรือความประสงค์ของลูกค้า ซึ่งความทุกข์และความกังวลของลูกค้านั้นจะมีอยู่ตลอดจนกว่าปัญหาจะสิ้นสุด ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวคืองานของนักวิชาชีพกฎหมาย อีกทั้ง ความทุกข์และความประสงค์ของลูกค้ายังเป็นสิ่งสำคัญตลอดการบริการเช่นกัน