จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’s Tax Newsletter
ฉบับที่ 157 เดือนสิงหาคม 2567
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1.หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 449) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/47A8LIu
2.หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้เท่าที่ได้จ่ายไปเป็นค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 450) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายไปเป็นค่าซื้อและค่าติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด โดยประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/4eeeNku
3.แก้ไขเพิ่มเติมอัตราเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้สำหรับค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
กฎกระทรวงฉบับที่ 394 (พ.ศ. 2567) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ได้แก้ไขเพิ่มเติมอัตราเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นตามข้อ 2 (51) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126ฯ โดยกำหนดให้ “ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แต่ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับเพราะเหตุเกษียรอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างของการทำงานสี่ร้อยวันสุดท้ายแต่ไม่เกินหกแสนบาท” เป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โดยกฎกระทรวงฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3zifD0F
ข่าวภาษี
1.การยกเว้นค่าธรรมเนียมในการให้บริการของศุลกากรที่เกี่ยวกับการผ่านแดน ตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมในการให้บริการของศุลกากรที่เกี่ยวกับการผ่านแดนตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ โดยกำหนดให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการให้บริการของศุลกากรเกี่ยวกับการผ่านแดนตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรฯ สำหรับรถบรรทุกขนส่งสินค้า รวม 7 ประเภท ได้แก่ รถกระบะบรรทุก รถตู้บรรทุก รถบรรทุก (อัตราค่าธรรมเนียมคันละ 300 บาท) รถพ่วง รถกึ่งพ่วง รถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว และรถลากจูง (อัตราค่าธรรมเนียมคันละ 500 บาท)
2.การยกเว้นค่าธรรมเนียมในการให้บริการของศุลกากรที่เกี่ยวกับการผ่านแดน ตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … (การพิจารณาพิพากษาคดีอาญาเกี่ยวกับภาษีอากร) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว รวมถึงรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยกำหนดให้ศาลภาษีอากรมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่เกี่ยวกับภาษีอากร เพื่อให้คู่ความดำเนินคดีไปคราวเดียวไม่ต้องแยกไปดำเนินคดีในอีกศาลหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3612/2561
ระหว่าง บริษัท จ. โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง ค่าตอบแทนจากการเลิกสัญญาเช่า
ประเด็นข้อพิพาท : ค่าตอบแทนการเลิกสัญญาเช่าถือเป็นเงินชดเชยค่าเสียหายจากการเลิกสัญญาหรือไม่
คำพิพากษา : โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจากนาย ส. เป็นระยะเวลา 15 ปี ต่อมาโจทก์และนาย ส. ได้ตกลงเลิกสัญญากันโดยความสมัครใจ และมีการทำบันทึกข้อตกลงขึ้นใหม่ระหว่างโจทก์ นาย ส. และบริษัท ฮ. ซึ่งเป็นผู้เช่าใหม่ โดยตกลงให้บริษัท ฮ. จ่ายค่าตอบแทนให้แก่โจทก์จากการที่โจทก์ตกลงเลิกสัญญาเช่ากับนาย ส. เมื่อโจทก์และนาย ส. ตกลงให้สัญญาเช่าที่ดินเป็นอันเลิกกันด้วยความสมัครใจ โดยมิใช่เกิดจากการผิดสัญญา เงินที่โจทก์ได้รับจากบริษัท ฮ. จึงไม่อาจถือเป็นเงินชดเชยค่าเสียหายได้ ดังนั้น การที่โจทก์ตกลงเลิกสัญญาเช่ากับนาย ส. เพื่อให้บริษัท ฮ. เข้าทำสัญญาเช่าใหม่จึงถือเป็นการกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์และมีมูลค่าซึ่งมิใช่การขายสินค้าอันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 ประกอบมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร
ความเห็นของผู้เขียน : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาข้างต้น เนื่องจากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ในฐานะผู้เช่าและนาย ส. ในฐานะเจ้าของที่ดินได้ตกลงเลิกสัญญากันด้วยความสมัครใจ การเลิกสัญญาระหว่างโจทก์และนาย ส. จึงไม่ได้เกิดจากการผิดสัญญา คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าเสียหายใด ๆ ต่อกัน อันเป็นเหตุให้เงินที่โจทก์ได้รับจากบริษัท ฮ. ซึ่งเป็นผู้เช่าใหม่ไม่ใช่เงินชดเชยค่าเสียหายจากการเลิกสัญญา หากแต่เป็นค่าตอบแทนจากการที่โจทก์ยินยอมเลิกสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์ยินยอมเลิกสัญญาและได้รับค่าตอบแทนจากการเลิกสัญญานั้นเข้าลักษณะเป็นการกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่การขายสินค้า ซึ่งถือเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 ประกอบมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร
อนึ่ง กรณีดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการตีความกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน การหยิบยกคำพิพากษาศาลฎีกานี้ในการนำเสนอมีเพียงวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกฎหมายภาษีอากรมากขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น
มัญจา บุญช่วย