จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือน กันยายน 2567

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’s Tax Newsletter

ฉบับที่ 158 เดือนกันยายน 2567

กฎหมายใหม่ล่าสุด

     1.มอบอำนาจให้สรรพากรพื้นที่สั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร

     คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 360/2567 อธิบดีกรมสรรพากรได้มอบอำนาจให้สรรพากรพื้นที่สั่งและปฏิบัติราชการแทนในการพิจารณาคำขอของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ขออนุมัติเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 787) พ.ศ.2567 ตามคำร้องขออนุมัติเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 448) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจสำหรับกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่ออนุมัติหรือไม่อนุมัติตามคำขอ และลงนามในหนังสือแจ้งผลการพิจารณาดังกล่าว

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/47H08Me

     2.แต่งตั้งเจ้าหนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร

ประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 78) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร โดยให้ข้าราชการตำรวจตามประกาศดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16 แห่งประมวลรัษฎากรเฉพาะในการเข้าถึงข้อมูลผู้เสียภาษีอากรของกรมสรรพากร เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับคดีภาษีอากร โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 4 แห่งประมวลรัษฎากร

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/47JSwJa

     3.การจัดทำบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนตามประมวลรัษฎากร

     ประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การจัดทำบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนตามประมวลรัษฎากร เพื่อให้การจัดทำบัญชีงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุน และการแนบบัญชีดังกล่าวตามมาตรา 68 ทวิและมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากรเป็นไปโดยถูกต้อง และอำนวยความสะดวกแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ กรมสรรพากรจึงกำหนดให้ “งบฐานะการเงิน” ในงบการเงินที่ต้องจัดทำตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีเป็น“บัญชีงบดุล”และ “งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ”,“งบกำไรขาดทุน” ในงบการเงินที่ต้องจัดทำตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีเป็น “บัญชีกำไรขาดทุน” ตามมาตรา 68 ทวิ และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร โดยประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

     ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://bit.ly/3BdJTKs

 

ข่าวภาษี

     1.การกำหนดให้ไม้พะยูงเป็นสินค้าที่ต้องห้าม ให้ไม้ท่อนไม้ แปรรูป และไม้ล้อมบางชนิด เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และให้สิ่งประดิษฐ์ของไม้และถ่านไม้เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรอง ในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

     เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ไม้พะยูงเป็นสินค้าที่ต้องห้าม ให้ไม้ท่อนไม้แปรรูป และไม้ล้อมบางชนิด เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และให้สิ่งประดิษฐ์ของไม้และถ่านไม้เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรอง ในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ โดยกำหนดให้ยกเลิกการควบคุมการส่งออกสิ่งประดิษฐ์ของไม้ เช่น ตู้ เตียง เก้าอี้ บานหน้าต่าง (ที่ไม่ใช่ไม้พะยูง) ไม่ต้องมีหนังสือรับรองฯ ประกอบการส่งออก เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลาและต้นทุนในการดำเนินการของผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ และเพื่อประโยชน์ต่อกรมศุลกากรในการทำให้เกิดความชัดเจนว่าห้ามส่งออกไม้พะยูงท่อน ไม้พะยูงแปรรูป ไม้พะยูงล้อมและสิ่งประดิษฐ์ของไม้พะยูงภายใต้พิกัดอัตราศุลกากรที่ปรากฏในบัญชีแนบท้ายประกาศ พณ. ฯ พ.ศ. 2556 เท่านั้น

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่    1703/2553

ระหว่าง                      บริษัท ธ. จำกัด                               โจทก์

                                กรมสรรพากร                                 จำเลย

เรื่อง เงินจองหรือเงินดาวน์

ประเด็นข้อพิพาท         : กรณีเงินจองหรือเงินดาวน์ที่ผู้เช่าซื้อได้ชำระให้แก่ผู้จำหน่ายรถยนต์ถือเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าฐานภาษีตามสัญญาให้เช่าซื้อระหว่างโจทก์กับผู้เช่าซื้อหรือไม่

คำพิพากษา                : ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า โจทก์ซื้อรถยนต์จากผู้จำหน่ายรถยนต์มาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ในราคาที่หักเงินจองที่ผู้เช่าซื้อจ่ายให้แก่ผู้จำหน่ายรถยนต์แล้วโจทก์ขายให้แก่ผู้เช่าซื้อ โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์โดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนในส่วนนี้ ถือได้ว่าโจทก์ได้รับประโยชน์ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงินตามมูลค่าเงินจอง เงินจองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์จึงเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าของฐานภาษีตามสัญญาให้เช่าซื้อระหว่างโจทก์กับผู้เช่าซื้อด้วย

ความเห็นของผู้เขียน     : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาข้างต้น เงินจองหรือเงินดาวน์เป็นการชำระเงินบางส่วนให้แก่ผู้จำหน่ายรถยนต์ ก่อนที่จะมีการทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้ให้เช่าซื้อ เมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้ซื้อรถยนต์มาจากผู้จำหน่ายรถยนต์ในราคาที่หักเงินจองหรือเงินดาวน์ที่ผู้เช่าซื้อได้ชำระให้แก่ผู้จำหน่ายรถยนต์ไปแล้วจึงเป็นการที่ผู้ให้เช่าซื้อได้รับประโยชน์ใด ๆ ที่อาจคิดคำนวณเป็นเงินได้ ตามมาตรา 79 วรรค 2 เงินจองหรือเงินดาวน์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าของฐานภาษีตามสัญญาให้เช่าซื้อระหว่างผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เช่าซื้อจึงถูกต้องแล้ว กรณีมีปัญหาน่าคิดอีกต่อไปว่า เงินได้ของบริษัทผู้ให้เช่าซื้อเป็นเท่าไหร่ บริษัทต้องรับรู้เงินได้จากยอดราคารถยนต์ที่ผู้เช่าซื้อได้ชำระเงินจองหรือเงินดาวน์ให้แก่ผู้จำหน่ายรถยนต์ไปแล้วหรือรับรู้เงินได้จากยอดก่อนที่ผู้เช่าซื้อจะชำระเงินจองหรือเงินดาวน์ให้แก่ผู้จำหน่ายรถยนต์

     อนึ่ง การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวนี้เป็นเพียงการแสดงความเห็นทางกฎหมายของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายภาษีอากรเป็นกฎหมายที่ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ประกอบด้วย ซึ่งกรณีอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามการตีความกฎหมายในมุมมองที่แตกต่างภายใต้บทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน การนำเสนอคำพิพากษาของศาลฎีกาดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อต้องการให้ผู้อ่านมีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายภาษีอากรมากยิ่งขึ้น และเสียภาษีอากรได้อย่างถูกต้องเท่านั้น

ศิรประภา พิมพการ