จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter
ฉบับที่ 111 เดือนกรกฎาคม 2563
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเบี้ยประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้
2. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าตอบแทนให้แก่บุคคลที่ปฏิบัติงานด้าน COVID
3. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
4. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ
5. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรเป็นจำนวน 1.5 เท่า
6. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนการกีฬา
7. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปในการอบรมสัมมนาภายในประเทศเป็นจำนวน 2 เท่า
8. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปในรีโนเวทโรงแรมเป็นจำนวน 2 เท่า
9. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายที่ได้บริจาคทรัพย์สินให้แก่ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0
10. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้สำหรับการนำเข้าสินค้าต้าน COVID-19 เพื่อการบริจาค
11. ยกเว้นภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรค COVID-19
12. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายจ่ายค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพเป็นจำนวน 1.25 เท่า
13. ลดอัตราภาษีเงินได้ของมูลนิธิหรือสมาคม
14. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าจ้างแรงงานผู้พ้นโทษ
15. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่สภากาชาดไทยเป็นจำนวน 2 เท่า
ข่าวภาษี
1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา
2. มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท
3. มาตรการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service)
4. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ในพระอุปถัมภ์ฯ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
9145/2560
ระหว่าง
บริษัท ฮ. จำกัด
โจทก์
กรมสรรพากร
จำเลย
เรื่อง การหักกลบลบหนี้เงินค่าภาษี
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเบี้ยประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้
กฎกระทรวง ฉบับที่ 365 (พ.ศ. 2563) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันสุขภาพตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 25,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนประกันชีวิต ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ แล้วแต่กรณีต้องไม่เกิน 100,000 บาท
ทั้งนี้ สำหรับเบี้ยประกันที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป และตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2ZgOypo
2. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับค่าตอบแทนให้แก่บุคคลที่ปฏิบัติงานด้าน COVID
กฎกระทรวง ฉบับที่ 366 (พ.ศ. 2563) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้ที่ได้รับเป็นค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยโรค Covid – 19 และค่าตอบแทนในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโรค Covid – 19
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/32acsES
3. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 693) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ่นส่วนนิติบุคคซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรือรายได้ที่เกิดจากการให้บริการและมีการใช้บริการนั้นในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/32acsES
4. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 694) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการขายคาร์บอนเครดิตในประเทศตามโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่ได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นระยะเวลาสามรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3i9LK4x
5. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรเป็นจำนวน 1.5 เท่า
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 695) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรเป็นจำนวน 1.5 เท่า
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3m4TSGa
6. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อสนับสนุนการกีฬา
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 696) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสนับสนุนการกีฬาเป็นจำนวน 2 เท่า
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2R6iOyw
7. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปในการอบรมสัมมนาภายในประเทศเป็นจำนวน 2 เท่า
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 697) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่ได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563เป็นจำนวน 2 เท่า
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3hbeJ6G
8. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปในรีโนเวทโรงแรมเป็นจำนวน 2 เท่า
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 698) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายเพื่อการรีโนเวทโรงแรมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นจำนวน 2 เท่า
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/32chuRd
9. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายที่ได้บริจาคทรัพย์สินให้แก่ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 699) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายที่ได้บริจาคทรัพย์สินให้แก่ศูนย์ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 ที่ตั้งขึ้นโดยสถานศึกษาที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นจำนวนสูงสุด 2.6 เท่า
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3hhKX05
10. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้สำหรับการนำเข้าสินค้าต้าน COVID-19 เพื่อการบริจาค
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 700) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการนำเข้าสินค้าที่ใช้รักษา วินิจฉัยหรือป้องกันโรค COVID-19 เพื่อบริจาคให้แก่สถานพยาบาลที่กำหนด โดยไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินที่บริจาคนั้นมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
ทั้งนี้ สำหรับการนำเข้าและบริจาคตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2DGMXBq
11. ยกเว้นภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรค COVID-19
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 701) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริจาคให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรค COVID-19 ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 5 มีนาคม 2564
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2FautKg
12. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายจ่ายค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพเป็นจำนวน 1.25 เท่า
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 702) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เป็นจำนวน 1.25 เท่า
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3i7ZbSF
13. ลดอัตราภาษีเงินได้ของมูลนิธิหรือสมาคม
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 703) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้ของมูลนิธิหรือสมาคมตามมาตรา 67 (2) แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร คงเหลือให้จัดเก็บในอัตราร้อยละ 2 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ
และกำหนดให้ลดอัตราภาษีเงินได้ของมูลนิธิหรือสมาคมสำหรับรายได้ที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 จนถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2563 คงเหลือให้จัดเก็บในอัตราร้อยละ 2 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใด ๆ
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3m3vNiP
14. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าจ้างแรงงานผู้พ้นโทษ
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 704) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายจ่ายค่าจ้างแรงงานผู้พ้นโทษส่วนที่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นจำนวน 1.5 เท่า สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2563 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2563
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2ZlNGzx
15. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่สภากาชาดไทยเป็นจำนวน 2 เท่า
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 706) พ.ศ. 2563 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่สภากาชาดไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นจำนวน 2 เท่า
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3ibWHTe
ข่าวภาษี
1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สถานศึกษา ผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร (e-Donation) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2R8S1BH
2. มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราร้อยละ 90 ให้แก่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากประกอบเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย และที่ทิ้งไว้รกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพสำหรับปีภาษี พ.ศ. 2563
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2R8S1BH
3. มาตรการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-Service)
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรที่ให้บริการแก่ผู้รับบริการในประเทศไทยโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามประมวลรัษฎากร และใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยหากมีรายรับจากการให้บริการดังกล่าวเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/32exqCy
4. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ในพระอุปถัมภ์ฯ
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากรให้แก่มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ในพระอุปถัมภ์ฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นจำนวน 2 เท่า
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/32exqCy
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
9145/2560
ระหว่าง
บริษัท ฮ. จำกัด
โจทก์
กรมสรรพากร
จำเลย
เรื่อง การหักกลบลบหนี้เงินค่าภาษี
ประเด็นข้อพิพาท : วิธีการหักกลบลบหนี้ของเจ้าพนักงานสรรพากรถูกต้องหรือไม่
ข้อเท็จจริง : บริษัท ฮ. จำกัด ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีนิติบุคคล จำนวน 11,393,460 บาท และเงินเพิ่ม จำนวน 4,101,643.60 บาท รวมเป็นเงิน 15,495,103.60 บาท ระหว่างนั้น บริษัท ฮ. ก็ได้รับหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน จำนวน 16,225,120.76 บาท โดยเจ้าพนักงานนำเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัท ฮ. มีสิทธิได้รับคืนไปหักกลบลบหนี้กับภาษีเงินได้นิติบุคคลบางส่วน จำนวน 6,297,369.07 บาท และนำไปหักกลบลบหนี้กับเงินเพิ่ม จำนวน 2,476,263.69 บาท รวมจำนวนเงินที่นำไปหักกลบลบหนี้ทั้งสิ้น 8,773,632.76 บาท
บริษัท ฮ. อ้างว่า กรมสรรพากรจะต้องทำการหักกลบลบหนี้ในส่วนของเงินภาษีให้หมดสิ้นเสียก่อนจึงจะไปทำการหักกลบลบหนี้ในส่วนของเงินเพิ่มได้ เนื่องจากเงินเพิ่มมิใช่ดอกเบี้ย นอกจากนี้ ภายหลังหักกลบลบหนี้แล้ว จะเหลือเงินภาษีเพียงจำนวน 2,619,827.24 บาท ดังนั้น การคิดเงินเพิ่มจะต้องคิดจากจำนวนเงินภาษีที่เหลืออยู่เท่านั้น และจะต้องไม่เกินจำนวนของเงินภาษีที่คงเหลืออยู่
กรมสรรพากรให้การว่า ได้ทำการหักกลบลบหนี้ตามข้อ 1 (3) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 65/2539 ที่กำหนดให้หักกลบลบหนี้เฉลี่ยตามสัดส่วนของจำนวนเงินภาษี เงินเพิ่ม และเบี้ยปรับตามแบบแสดงรายการ การหักกลบลบหนี้จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย และในส่วนของการคิดเงินเพิ่มนั้น จะต้องคำนวณจากเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่ง กล่าวคือ ตัวภาษีที่ตั้งค้างชำระตามแบบแจ้งการประเมินภาษีอากร มิใช้จำนวนภาษีที่คงค้าง ณ ปัจจุบัน
คำพิพากษา : ศาลฎีกาเห็นว่า เงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่ดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 วรรคหนึ่ง กรมสรรพากรจึงไม่อาจนำเงินที่บริษัท ฮ. มีสิทธิได้รับมาหักชำระหนี้เงินเพิ่มก่อนได้ เมื่อหนี้เงินภาษีและเงินเพิ่มถึงกำหนดพร้อมกัน หนี้ค่าภาษีซึ่งเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดภาระและเป็นฐานในการคำนวณเงินเพิ่มจึงเป็นหนี้รายที่ตกหนักที่สุดย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนตามมาตรา 328 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และที่กรมสรรพากรอ้างว่าได้ดำเนินการตามคำสั่งที่ ป. 65/2539 นั้น ประกาศดังกล่าวเป็นเพียงระเบียบภายในของกรมสรรพากรที่ถือเป็นแนวปฏิบัติเท่านั้น ไม่สามารถนำมาใช้กับกรณีของบริษัท ฮ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ดังนั้น การนำเงินที่บริษัท ฮ. มีสิทธิได้รับคืนไปหักกลบลบหนี้ในส่วนเงินค่าภาษีบางส่วน และเฉลี่ยไปหักในส่วนเงินเพิ่มจึงเป็นการไม่ชอบ กรมสรรพากรจึงต้องนำเงินที่บริษัท ฮ. มีสิทธิได้รับคืนไปหักชำระค่าภาษีอากรให้หมดก่อนแล้วจึงจะไปหักในส่วนเงินเพิ่มได้
สำหรับฐานในการคำนวณเงินเพิ่มนั้น ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร ให้คำนวณเงินเพิ่มได้ไม่เกินจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียหรือต้องนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ซึ่งเป็นการกำหนดจำนวนเงินเพิ่มสูงสุดไว้ให้มีจำนวนที่แน่นอนสอดคล้องกับจำนวนภาษีที่ผู้เสียภาษีต้องชำระหรือนำส่ง ส่วนการหักกลบลบหนี้ซึ่งทำให้จำนวนภาษีอากรที่ต้องชำระหรือนำส่งลดลงนั้น เป็นเพียงกรณีที่ทำให้การคำนวณเงินเพิ่มเปลี่ยนแปลงไปตามจำนวนที่ลดลงของภาษีอากรที่ผู้เสียภาษีต้องชำระหรือนำส่งเท่านั้น แต่ไม่เป็นเหตุให้จำนวนเงินเพิ่มสูงสุดที่ผู้เสียภาษีต้องรับผิดนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น จำนวนเงินเพิ่มสูงสุดที่บริษัท ฮ. ต้องรับผิด คือ เท่ากับจำนวนเงินภาษีที่ระบุไว้ในแบบแจ้งการประเมินภาษีอากร มิใช่จำนวนภาษีอากรหลังจากที่ได้หักกลบลบหนี้แล้วตามที่บริษัท ฮ. กล่าวอ้าง
ความเห็น : ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาฎีกาที่วินิจฉัยให้กรมสรรพากรจะต้องนำเงินที่บริษัท ฮ. มีสิทธิได้รับคืนไปหักกลบลบหนี้กับเงินค่าภาษีจนครบจำนวนก่อน ซึ่งหากยังเหลืออยู่จึงค่อยนำไปหักกับเงินเพิ่มได้ เพราะถึงแม้เงินเพิ่มจะใช้วิธีการคำนวณคล้ายกับการคำนวณดอกเบี้ยก็ตาม แต่เงินเพิ่มก็มิใช่ดอกเบี้ย จึงไม่ควรนำหลักกฎหมายทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบังคับใช้กับการชำระเงินค่าภาษีอากร ซึ่งในปัจจุบันกรมสรรพากรได้ออกคำสั่งที่ ป. 98/2543 ยกเลิกคำสั่งที่ ป. 65/2539 แล้ว โดยกำหนดให้เจ้าพนักงานนำเงินที่ผู้เสียภาษีที่มาชำระไว้ หากเป็นการชำระเพียงบางส่วน ให้ถือว่าเป็นการชำระค่าภาษีก่อน ส่วนที่เหลือ (ถ้ามี) จึงให้ชำระเงินเพิ่ม เบี้ยปรับ ตามลำดับ ดังนั้น ถึงแม้จะเป็นการหักกลบลบหนี้จากเงินที่ผู้เสียภาษีมีสิทธิได้รับคืนมิใช่การชำระภาษีโดยตรงแล้ว ก็ต้องใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับการชำระภาษีตามวิธีปกติ โดยนำเงินดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้จากเงินค่าภาษี เงินเพิ่ม และเบี้ยปรับ ตามลำดับ
สำหรับในประเด็นฐานภาษีในการคำนวณเงินเพิ่มนั้น ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ เนื่องจากการหักกลบลบหนี้เป็นการชำระภาษีวิธีหนึ่ง ซึ่งเป็นขั้นตอนหลังจากมีการประเมินภาษีมาแล้ว ดังนั้น จำนวนภาษีที่ผู้เสียภาษีที่ต้องชำระย่อมเป็นจำนวนที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งการประเมิน มิใช่เป็นจำนวนหลังจากที่ได้มีการหักกลบลบหนี้แล้ว ดังนั้น เมื่อกฎหมายได้กำหนดให้จำนวนเงินเพิ่มสูงสุดที่ผู้เสียภาษีอาจต้องรับผิดมีจำนวนเท่ากับค่าภาษีอากร จึงต้องถือตามจำนวนที่ระบุในหนังสือแจ้งการประเมินที่ยังมิได้ผ่านการชำระภาษีหรือการหักกลบลบหนี้มาก่อน แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินเพิ่มสูงสุดนั้น มิใช่จำนวนเงินเพิ่มที่ผู้เสียภาษีต้องชำระเสมอไป เพราะเมื่อผู้เสียภาษีชำระเงินภาษีไปบางส่วนแล้ว ฐานในการคำนวณเงินเพิ่มย่อมลดลงตามไปด้วย ซึ่งยิ่งผู้เสียภาษีชำระเงินค่าภาษีเร็ว ผู้เสียภาษีก็จะต้องรับผิดในเงินเพิ่มน้อยลง ดังนั้น จำนวนเงินเพิ่มที่ผู้เสียภาษีต้องชำระ จึงอาจไม่ใช่จำนวนเงินเพิ่มสูงสุดก็ได้
นางสาวอชิรญาณ์ สุทธิสุนทรินทร์
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
โทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9725
Email: achirayas@dlo.co.th