จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนพฤษภาคม 2563

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 109 เดือนพฤษภาคม 2563

ข่าวภาษี
1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทย
2. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  12538/2557
ระหว่าง          บริษัท บ.        โจทก์
              กรมสรรพากร      จำเลย
เรื่อง ราคาตลาดสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์

ข่าวภาษี
1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทย
     เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการหักค่าลดหย่อน หรือหักรายจ่าย และยกเว้นภาษีภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ อันเกิดจากการบริจาคเงิน หรือทรัพย์สินแล้วแต่กรณี ให้กับสภากาชาดไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ได้เป็นจำนวน 2 เท่า
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2A18N0b

2. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ
     เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 25 ของรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพตามที่กฎหมายกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
     ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
     ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2A18N0b

คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่  12538/2557
ระหว่าง          บริษัท บ.        โจทก์
              กรมสรรพากร      จำเลย
เรื่อง : ราคาตลาดสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์

ประเด็นข้อพิพาท : ราคาขายอสังหาริมทรัพย์ตามที่ระบุในสัญญาซื้อขายเป็นราคาตลาด อันถือเป็นรายรับในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่

ข้อเท็จจริง : บริษัท บ. กำหนดราคาขายห้องชุดโดยคำนวณจากต้นทุนของโครงการรวมกับอัตรากำไรที่บริษัท บ. กำหนดไว้เป็นราคาขาย แต่เนื่องจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีการแข่งขันกันสูงและภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น บริษัท บ. จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดราคาขายต่ำกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อให้บริษัท บ. สามารถขายห้องชุดที่ก่อสร้างเสร็จแล้วได้ อันจะทำให้กิจการของบริษัท บ. ดำเนินต่อไปได้ โดยบริษัท บ. ขายห้องชุดในราคานี้ให้แก่ผู้ซื้อทุกรายอย่างเท่าเทียมกันและถือว่าเป็นราคาตลาดที่แท้จริง ณ ขณะที่มีการตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขาย และเป็นราคาเดียวกับราคาที่ปรากฏในสัญญาซื้อขายในวันจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดิน

     อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกรมสรรพากรเห็นว่าเป็นการขายต่ำกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่ใช้อยู่ในวันโอน และเป็นการขายต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินรายได้ของบริษัท บ. เพิ่มขึ้นโดยกำหนดให้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ใช้อยู่ในวันโอนเป็นรายได้ของบริษัท

คำพิพากษา : ศาลฎีกา เห็นว่า บทบัญญัติของประมวลรัษฎากรในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคลมิได้กำหนดนิยามคำว่า “ราคาตลาด” ไว้ แต่เมื่อพิจารณาแล้วคงมีความหมายในทำนองเดียวกับมาตรา 91/1 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นบทบัญญัติในส่วนของภาษีธุรกิจเฉพาะที่กำหนดนิยามว่า “ราคาตลาด คือ ราคาสินค้าที่มีการซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในขณะใดขณะหนึ่ง โดยราคาตลาดในแต่ละช่วงเวลาย่อมอาจเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อราคาสินค้านั้น”

     จากการพิจารณาข้อโต้แย้งของคู่ความ ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามประมวลกฎหมายที่ดินที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น ย่อมเห็นได้ว่า การออกราคาประเมินดังกล่าวมีรายละเอียดหลักเกณฑ์และเหตุผลที่น่าจะแสดงถึงราคาซื้อขายทรัพย์สินที่ปกติได้อย่างหนึ่ง โดยบริษัท บ. ก็มิได้โต้แย้งราคาประเมินดังกล่าว ประกอบกับบริษัท บ. ไม่นำสืบพยานหลักฐานแสดงรายละเอียดให้เห็นว่า ราคาขายห้องชุดที่บริษัท บ. ทำสัญญาซื้อขายกับลูกค้าและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มาจากต้นทุนของบริษัท บ. อย่างไร ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์และภาวะเศรษฐกิจนั้นมีผลกระทบที่เป็นเหตุให้บริษัท บ. กำหนดราคาดังกล่าวอย่างไร จึงปราศจากพยานหลักฐานและเหตุผลสนับสนุนว่าข้ออ้างของบริษัท บ. น่าเชื่อถือ

     นอกจากนี้ ยังปรากฏว่าห้องชุดบางห้องยังมีราคาตามสัญญาจะซื้อจะขายสูงกว่าราคาประเมิน ซึ่งเป็นข้อพิรุธต่อข้ออ้างของบริษัท บ. ที่อ้างว่า ได้ทำสัญญาจดทะเบียนโอนห้องชุดกับลูกค้าในราคาเท่ากับราคาตามสัญญาจะซื้อจะขาย และแสดงให้เห็นว่าบริษัท บ. ขายห้องชุดได้ในราคาสูงกว่าราคาที่ทำสัญญาและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จึงมีเหตุอันควรเชื่อว่า ราคาห้องชุดตามที่บริษัท บ. ทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาที่ควรซื้อขายกันตามปกติในขณะนั้น และไม่น่าเชื่อว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาตลาดในขณะนั้นหรือเป็นการขายห้องชุดโดยมีราคาต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันสมควร และไม่มีเหตุผลที่เชื่อได้ว่า การที่กรมสรรพากรถือเอาราคาประเมินดังกล่าวเป็นราคาตลาดนั้นไม่ชอบแต่อย่างใด

ความเห็น : ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกา เนื่องจาก ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนกรณีที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการโดยไม่มีค่าตอบแทน หรือมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ด้วยเหตุนี้ หากบริษัท บ. ประสงค์จะขายห้องชุดในราคาต่ำกว่าราคาขายปกติ หรือราคาตลาด บริษัท บ. ย่อมต้องแสดงถึงเหตุอันสมควรในการขายต่ำกว่าราคาขายปกติ หรือราคาตลาดนั้น เพื่อพิสูจน์ว่ามีความจำเป็นเพียงใดที่จะต้องขายในราคาดังกล่าว หรือหากไม่ขายตามราคาดังกล่าวแล้ว จะได้รับความเสียหายต่อการประกอบกิจการอย่างไร

     แต่อย่างไรก็ตาม จากการสืบพยานของบริษัท บ. ที่ไม่อาจชี้แจงหรือแสดงให้ศาลเห็นได้ว่าบริษัท บ. มีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องขายห้องชุดต่ำกว่าราคาขายปกติหรือราคาตลาด หรือราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ใช้อยู่ในวันโอนนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร ประกอบกับตามเอกสารสัญญาจะซื้อจะขายปรากฎว่ามีการกำหนดราคาสูงกว่าราคาประเมิน กรณีจึงเป็นข้อพิรุธอันสำคัญที่ทำให้ศาลไม่เชื่อว่าบริษัท บ. ขายห้องชุดต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุอันสมควร จึงพิจารณาให้ถือเอาราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ใช้อยู่ในวันโอนเป็นรายได้ของบริษัท บ.

นางสาวอชิรญาณ์ สุทธิสุนทรินทร์

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760
Email: achirayas@dlo.co.th