จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter
ฉบับที่ 108 เดือนเมษายน 2563
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้จากผลิตภัณฑ์กองทุนรวม
2. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินสนับสนุนและเงินชดเชยที่ได้รับตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
3. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินที่ได้รับตามมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย
ข่าวภาษี
1. มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนและเงินชดเชยภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562
2. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ
3. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
4. มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน
5. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการกีฬา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
10773/2557
ระหว่าง
บริษัท อ. จำกัด
โจทก์
กรมสรรพากร
จำเลย
เรื่อง ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้จากผลิตภัณฑ์กองทุนรวม
กฎกระทรวง ฉบับที่ 357 (พ.ศ. 2563) แก้ไข เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลิตภัณฑ์กองทุนรวม ดังนี้
1. ยกเว้นเงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมคืนให้แก่กองทุนรวมหุ้นระยะยาว เฉพาะที่ซื้อมาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563 หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือเพื่อการออม
2. ยกเว้นเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาทสำหรับปีภาษีนั้น
3. ยกเว้นเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้พึงประเมิน เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 200,000 บาทสำหรับปีภาษีนั้น
4. ยกเว้นเงินได้สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการออม ทั้งนี้ เฉพาะเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่คำนวณมาจากเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามข้อ 3.
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3guVxll
2. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินสนับสนุนและเงินชดเชยที่ได้รับตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
กฎกระทรวง ฉบับที่ 358 (พ.ศ. 2563) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนและเงินชดเชยที่ได้รับจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ขายสินค้าผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือมาตรการชิมช้อปใช้
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2zumW6x
3. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินที่ได้รับตามมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย
กฎกระทรวง ฉบับที่ 360 (พ.ศ. 2563) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินที่ได้รับตามมาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3cazlcI
ข่าวภาษี
1. มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสนับสนุนและเงินชดเชยภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินสนับสนุนและเงินชดเชยที่ผู้มีเงินได้ได้รับตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศและมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ อันเนื่องมาจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 และวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3cD172k
2. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ
เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยตามโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เป็นเวลาสามรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน โดยการเริ่มนับรอบระยะเวลาบัญชีแรกให้เริ่มนับรอบระยะเวลาบัญชีที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้ออกใบรับรองการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3cD172k
3. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไว้รัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ดังนี้
1. กำหนดให้บุคคลธรรมดาหักค่าลดหย่อนสำหรับเงินที่บริจาคให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
2. กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหักรายจ่ายสำหรับเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ
3. กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบริจาคเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
4. การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีทั้งหมดข้างต้น มีผลใช้บังคับสำหรับการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร (e-Donation) ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 5 มีนาคม 2564
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2RYc9Yf
4. มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการกำหนดให้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนสำหรับค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF ที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ของ NAV ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
โดยกำหนดให้การหักลดหย่อนดังกล่าวแยกต่างหากจากวงเงินหักลดหย่อนค่าซื้อหน่วยลงทุนใน SSF กรณีปกติ และไม่อยู่ในเพดานวงเงินหักลดหย่อนรวมของค่าลดหย่อนอื่น ๆ
และผู้ซื้อหน่วยลงทุนใน SSF ดังกล่าวต้องถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 10 ปีเช่นเดียวกันกับการซื้อหน่วยลงทุนใน SSF กรณีปกติ
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2RYc9Yf
5. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการกีฬา
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการบริจาคเงิน หรือทรัพย์สินหรือสินค้าเพื่อสนับสนุนการกีฬา ผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกีฬาจังหวัด สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด สมาคมกีฬาที่ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” หรือกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทย และกรมพลศึกษา ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/3ea8Rtz
คำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
10773/2557
ระหว่าง
บริษัท อ. จำกัด
โจทก์
กรมสรรพากร
จำเลย
เรื่อง ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
ประเด็นข้อพิพาท : ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ผู้ซื้อออกแทนถือเป็นรายได้พึงประเมินหรือไม่
ข้อเท็จจริง : บริษัท อ. ตกลงขายอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อ โดยทำสัญญาตกลงกันให้ผู้ซื้อเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ทั้งจำนวน จึงทำให้บริษัท อ. ไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมการโอนจำนวนกึ่งหนึ่งตามมาตรา 457 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
เจ้าพนักงานสรรพากรเห็นว่า การที่บริษัท อ. ผลักภาระให้ผู้ซื้อเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมในส่วนที่บริษัท อ. ต้องชำระแทนนั้น เป็นกรณีเช่นเดียวกับการที่ผู้ซื้อออกค่าภาษีแทนให้ โดยถือเป็นประโยชน์อื่นที่ได้รับอันเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจาก ค่าธรรมเนียมการโอนดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่บริษัท อ. มีหน้าที่ต้องชำระตามกฎหมาย แต่เมื่อมีการตกลงเป็นอย่างอื่นโดยให้ผู้ซื้อออกแทนให้ กรณีจึงถือว่าบริษัท อ. ได้รับประโยชน์อย่างอื่นอันถือว่ามีรายได้สำหรับค่าธรรมเนียมการโอนดังกล่าวเพิ่มขึ้น ดังนั้น เจ้าพนักงานสรรพากรจึงมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีจากเงินได้ในส่วนนี้จากบริษัท อ. ได้
คำพิพากษา : ศาลฎีกา เห็นว่า ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เงินได้พึงประเมินหมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวด 3 ภาษีเงินได้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน
ค่าธรรมเนียมในการโอนนั้น ตามมาตรา 457 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดให้ ผู้ซื้อและผู้ขายพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย แต่เมื่อบริษัท อ. ทำสัญญาให้ผู้ซื้อชำระค่าธรรมเนียมทั้งหมด จึงเป็นกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันเป็นอย่างอื่น และค่าธรรมเนียมดังกล่าวผู้ซื้อจ่ายให้แก่กรมที่ดิน ไม่ใช่การจ่ายค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้บริษัท อ. ดังนั้น จึงไม่เป็นรายได้จากการประกอบกิจการหรือเนื่องจากการประกอบกิจการของบริษัท อ. ค่าธรรมเนียมดังกล่าวย่อมไม่ถือเป็นประโยชน์อย่างอื่นซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงินที่บริษัท อ. ได้รับ จึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ที่บริษัท อ. ต้องนำไปถือเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
ความเห็น : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลฎีกา แต่เนื่องจากตามแนวหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรตั้งแต่ปี 2550 กรมสรรพากรเห็นว่า การที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ซื้อและผู้ขายรับผิดชอบค่าธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์คนละครึ่งแล้วหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ต้องชำระเนื่องจากอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ชำระแทนนั้น กรณีถือว่าฝ่ายที่ไม่ต้องชำระค่าใช้จ่ายที่ตนมีหน้าที่ต้องชำระตามกฎหมายได้รับประโยชน์อย่างอื่นอันอาจคำนวณได้เป็นเงิน ซึ่งเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ต้องนำประโยชน์หรือค่าธรรมเนียมส่วนที่อีกฝ่ายออกแทนให้ไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ และสำหรับฝ่ายที่ออกค่าธรรมเนียมแทนให้นั้นก็มีสิทธินำค่าธรรมเนียมดังกล่าว มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้เช่นกัน ประกอบกับคำพิพากษาศาลฎีกาจะมีผลผูกพันคู่ความในคดีเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันหรือผลกระทบต่อบุคคลภายนอกคดีซึ่งมิใช่คู่ความตามมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ด้วยเหตุนี้ หากผู้เสียภาษีไม่นำค่าธรรมเนียมที่อีกฝ่ายออกแทนให้มารวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้แล้ว อาจมีข้อโต้แย้งทางภาษีเกิดขึ้น โดยมีความเสี่ยงที่เจ้าพนักงานประเมินของกรมสรรพากรจะมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเพื่อให้นำค่าธรรมเนียมการโอนดังกล่าวมาถือเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้ แต่หากผู้เสียภาษีไม่เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าว ก็ต้องใช้สิทธิในการอุทธรณ์การประเมินภาษี และฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรต่อไป
นางสาวอชิรญาณ์ สุทธิสุนทรินทร์
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760
Email: achirayas@dlo.co.th