จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter
กาลผันวันล่วงลับตราบจบปี มุ่งทำดีมีจิตตั้งกุศลมั่น
ผ่านปีเก่าชีวิตเราสั้นลงพลัน สังขารนั้นพลันร่วงโรยตามเวลา
ทุกข์โศกสุขสันต์ล้วนผันผ่าน ไม่อยู่นานเกิดตั้งอยู่ดับไปหนา
ปีใหม่นี้ตั้งสติและปัญญา ช่วยนำพาทุกท่านสุขสันต์เทอญ
พุทธิมา เกิดศิริ : ประพันธ์
ฉบับที่ 97 มกราคม 2562
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. กำหนดให้หักค่าลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการบางประเภทสูงสุดถึง 15,000 บาท
2. ยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่ผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ
ข่าวภาษี
1. การขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา โดยให้หักรายจ่ายได้ 2 เท่าของเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา
คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2136/2561
ระหว่าง บริษัท บ. จำกัด โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง อำนาจฟ้องกรณีไม่ยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้า
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. กำหนดให้หักค่าลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการบางประเภทสูงสุดถึง 15,000 บาท
กฎกระทรวง ฉบับที่ 341 (พ.ศ. 2561) กำหนดให้บุคคลธรรมดาที่จ่ายเงินเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ตั้งแต่ 15 ธ.ค.2561 – 16 ม.ค.2562 ได้รับสิทธินำค่าสินค้าหรือบริการมาหักค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ ตามจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยสินค้าหรือบริการดังกล่าว ได้แก่
1. ค่าซื้อยางรถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์ หรือยางรถจักรยาน
2. ค่าซื้อหนังสือ และ E-Book แต่ไม่รวมถึงหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่ซื้อจากผู้ขายที่เป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
3. ค่าซื้อสินค้า OTOP ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2T8TKWu
2. ยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรแก่ผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจ
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 675) พ.ศ. 2561 กำหนดยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับผู้ประกอบกิจการวิเทศธนกิจตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 454) พ.ศ.2549 โดยให้ใช้บังคับต่อไปสำหรับเงินได้ หรือรายรับที่ได้รับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศเพื่อให้กู้ยืมในต่างประเทศจนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เฉพาะการรับฝากหรือการกู้ยืมเงินตราจากต่างประเทศ เพื่อให้ระยะเวลาของสัญญากู้ยืมในต่างประเทศที่ได้มีการต่อสัญญาหรือมีการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แล้วแต่กรณี ที่ได้กระทำก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2GF4hHQ
ข่าวภาษี
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เกี่ยวกับการขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการศึกษา โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1.1 กรณีบุคคลธรรมดา ที่บริจาคเงินให้แก่สถานศึกษาของรัฐ สถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมสถาบันการศึกษานอกระบบตามกฎหมาย สามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินที่พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
1.2 กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่บริจาคเงินให้แก่สถานศึกษาตามข้างต้น สามารถนำมาหักเป็นรายจ่าย 2 เท่า ของจำนวนที่บริจาค และรายจ่ายที่จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสร้าง และการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะหรือ สนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไป โดยไม่เก็บค่าบริการใด ๆ หรือ สวนสาธารณะ สนามกีฬาของส่วนราชการ ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณะประโยชน์และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา ตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่สถานศึกษาข้างต้น โดยผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล
สิทธิประโยชน์ข้างต้น จะต้องเป็นการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e – Donation) ของกรมสรรพากร ที่ได้กระทำตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562
ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://bit.ly/2RibP7w
คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2136/2561
ระหว่าง บริษัท บ. จำกัด โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง อำนาจฟ้องกรณีไม่ยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าสินค้า
ข้อเท็จจริง : โจทก์นำเข้าสินค้าเพปเพอร์มินต์ออนล์ และนำเข้าสินค้าเมนทอล โดยใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ยกเว้นอากรหรือลดอัตราอากรเหลือร้อยละ 0 โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าให้โจทก์รับไปแล้ว ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่า โจทก์นำเข้าสินค้าโดยใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ออกโดยสาธารณรัฐประชาชนจีนแต่สินค้าดังกล่าวโจทก์ทำสัญญาซื้อขายและทำการเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิต (L/C) ชำระเงินให้แก่บริษัทในสาธารณรัฐสิงคโปร์ จึงเป็นการซื้อขายผ่านประเทศที่สาม มิใช่เป็นการซื้อขายโดยตรงกับประเทศผู้ผลิตสินค้า กรณีไม่สามารถใช้สิทธิยกเว้นหรือลดอัตราอากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนได้ ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยออกแบบแจ้งการประเมิน เรียกเก็บอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ แจ้งการประเมินว่าต้องเสียอากรในอัตราปกติ เป็นเหตุให้โจทก์ต้องชำระอากรขาเข้าและภาษีอากรต่าง ๆ ในส่วนที่ขาดตามการประเมิน ซึ่งโจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
ประเด็นที่ต้องพิจารณา : โจทก์มีอำนาจฟ้องในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกา : ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร พิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์เป็นผู้นำเข้าสินค้ามีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากรพร้อมกับการชำระอากรขาเข้า ซึ่งการคำนวณฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าต้องอาศัยมูลค่าของสินค้าหรือราคาที่เจ้าพนักงานศุลกากรได้ทำการประเมินเพื่อเป็นราคาสินค้า บวกด้วยอากรขาเข้า เมื่อการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีนี้สืบเนื่องจากข้อพิพาทในเรื่องอากรขาเข้าอันเป็นส่วนหนึ่งของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มโดยตรง ความรับผิดเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มจึงขึ้นอยู่กับการประเมินอากรขาเข้าซึ่งโจทก์ยื่นอุทธรณ์ไว้ต่อจำเลยแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องในประเด็นนี้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ความเห็น : ผู้เขียนเห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรดังกล่าว เนื่องจากตามมาตรา 79/2 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(1) ฐานภาษี สำหรับการนำเข้าสินค้าทุกประเภทได้แก่ มูลค่าของสินค้านำเข้า โดยให้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ ของสินค้า บวกด้วยอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19) ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา”
และตามวรรคสามบัญญัติว่า “ราคา ซี.ไอ.เอฟ ได้แก่ ราคาสินค้าบวกด้วยค่าประกันภัยและค่าขนส่งถึงด่านศุลกากรที่นำสินค้านั้นเข้าในราชอาณาจักร เว้นแต่…” จากข้อกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า อากรขาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีการนำเข้าสินค้าผู้นำเข้าจะต้องชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร โดยจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะต้องชำระนั้น ขึ้นอยู่กับอากรขาเข้าด้วย เมื่อไม่มีอากรขาเข้าย่อมทำให้ฐานภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าต่ำลง เป็นผลให้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำลงตามไปด้วย ดังนั้น เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรเห็นว่า โจทก์จะต้องเสียอากรขาเข้าเพิ่ม ย่อมทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มมีผลเปลี่ยนแปลงไป และเมื่อโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีดังกล่าวโดยมิได้กล่าวถึงภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น แต่ผลของการอุทธรณ์การประเมินย่อมกระทบต่อภาษีมูลค่าเพิ่มโดยตรงอย่างมีนัยสำคัญตามมา กรณีจึงไม่จำเป็นต้องยื่นอุทธรณ์ในประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากเป็นภาษีที่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่หากเป็นประเด็นซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกันดังเช่นประเด็นดังกล่าวนี้ ผู้เขียนเห็นว่า หากไม่มีการยื่นอุทธรณ์ในประเด็นใดไว้แล้วย่อมไม่อาจนำประเด็นนั้น ๆ ยื่นฟ้องต่อศาลต่อไปได้
นายวรินทร สะรุโณ
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760