จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter
ฉบับที่ 95 พฤศจิกายน 2561
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข่าวภาษี
1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและห้องชุดเพื่อใช้อยู่อาศัย สำหรับโครงการประชารัฐสวัสดิการของกรมบังคับคดี
2. การปรับปรุงมาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานใหญ่
3. การแลกเปลี่ยนข้อมูลตามคำขอระหว่างประเทศและการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติระหว่างประเทศ
คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1577/2561
ระหว่าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง กิจการที่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. ขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 669) พ.ศ. 2561 กำหนดให้ขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 6.3 (รวมภาษีท้องถิ่นเป็นร้อยละ 7) สำหรับการขายสินค้าและบริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/FRNPQU
ข่าวภาษี
1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและห้องชุดเพื่อใช้อยู่อาศัย สำหรับโครงการประชารัฐสวัสดิการของกรมบังคับคดี
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการกำหนดให้ยกเว้นอากรแสตมป์ให้แก่ผู้ออกใบรับสำหรับการโอนอสังหาริมทรัพย์ฯ กรณีการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและห้องชุดเพื่อใช้อยู่อาศัย สำหรับโครงการประชารัฐสวัสดิการของกรมบังคับคดี เฉพาะการโอนให้แก่ผู้ซื้อทอดตลาดที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/yFhzLw
2. การปรับปรุงมาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานใหญ่
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการปรับปรุงมาตรการเกี่ยวกับสำนักงานใหญ่ รวม 4 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วย
1. ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ มาตรการภาษี ROH 1 และ ROH 2
2. ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ มาตรการภาษี IHQ
3. ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ มาตรการภาษี ITC
4. ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ มาตรการภาษี IBC
ร่างพระราชกฤษฎีกา 4 ฉบับดังกล่าว เป็นการปรับปรุงมาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานใหญ่ที่เป็นการยกเลิกมาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (Regional Operating Headquarters หรือ ROH1) สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (ROH2) สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters หรือ IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Center หรือ ITC)
นอกจากนี้ยังออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Centre หรือ IBC) มาทดแทน ซึ่งสอดคล้องกันกับโครงการ BEPS ของ OECD ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิก Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา อันมีผลทำให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีโดยต้องยกเลิกและปรับปรุงมาตรการทางภาษีทั้งหมดที่มีลักษณะเป็นการกัดกร่อนฐานภาษีของประเทศอื่น
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/yFhzLw
3. การแลกเปลี่ยนข้อมูลตามคำขอระหว่างประเทศและการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติระหว่างประเทศ
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. ให้อำนาจอธิบดีกรมสรรพากรในการสั่งให้บุคคลมีหน้าที่รวบรวมและนำส่งข้อมูลทางภาษีและข้อมูลอื่น ๆ ตามที่ได้ร้องขอจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหรือตามสัญญาที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้กับต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ หรือตามสัญญาที่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจได้ทำไว้กับหน่วยงานของต่างประเทศ โดยบุคคลดังกล่าวต้องรวบรวมและนำส่งข้อมูลตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กำหนดในกฎกระทรวง
2. ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้รับตามสัญญาที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ หรือตามสัญญาที่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจได้ทำไว้กับหน่วยงานของต่างประเทศ
3. กำหนดกรณีที่ผู้ใดล่วงรู้ข้อมูลเนื่องจากการแลกเปลี่ยนข้อสนเทศระหว่างประเทศ ห้ามมิให้นำออกแจ้งแก่ผู้ใดหรือยังให้ทราบกันไปโดยวิธีใด เว้นแต่เป็นการเปิดเผย หรือแลกเปลี่ยนข้อสนเทศตามสัญญาที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามสัญญาที่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจได้ทำไว้กับหน่วยงานของต่างประเทศ หรือเป็นการเปิดเผยตามอำนาจและหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
4. กำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ หรือจงใจแจ้งข้อความเท็จ หรือนำข้อมูลไปเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนแก่บุคคลอื่น
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/xZqxsx
คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1577/2561
ระหว่าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง กิจการที่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ
ข้อเท็จจริง : โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประกอบกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ แต่ยังมิได้เริ่มประกอบกิจการ และเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 โจทก์ซื้อที่ดินรวม 4 โฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารร้างที่ยังสร้างไม่เสร็จ รวมราคา 1,000,000 บาท เพื่อจะนำมาก่อสร้างให้เสร็จสำหรับใช้เป็นอาคารที่ทำการ และที่เก็บสินค้าของโจทก์ ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2553 โจทก์ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวในสภาพเดิม ราคา 1,000,000 บาท พร้อมทั้งเสียภาษีธุรกิจเฉพาะไว้แล้ว
ประเด็นที่ต้องพิจารณา : โจทก์ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกา : การประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะที่ถือว่าเป็นการประกอบกิจการเป็นการชั่วคราวไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ คือการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการเฉพาะของนิติบุคคลตามมาตรา 77/1 แห่งประมวลรัษฎากร การที่โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารร้างที่ยังสร้างไม่เสร็จ เพื่อจะนำมาก่อสร้างให้เสร็จไว้สำหรับใช้เป็นอาคารที่ทำการ และที่เก็บสินค้าของโจทก์ ต่อมาโจทก์ขายที่ดินพร้อมอาคารในสภาพเดิมและราคาเดิม พร้อมทั้งเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแล้วนั้น กรณีเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการตามมาตรา 3 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 การขายดังกล่าวมิใช่การขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการจัดสรรที่ดิน การขายห้องชุดของผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นผู้ขอจดทะเบียนอาคารชุด การขายอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างขึ้นเพื่อขาย รวมถึงที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารดังกล่าว และการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะดังกล่าวข้างต้นแต่มีการแบ่งขายหรือมีการแบ่งแยกไว้เพื่อขาย โดยได้จัดทำถนนหรือสิ่งปลูกสร้างสาธารณูปโภคอื่นหรือให้คำมั่นว่าจะจัดให้มีสิ่งดังกล่าว แต่เป็นการประกอบกิจการชั่วคราว ตามมาตรา 91/13 แห่งประมวลรัษฎากร การที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินให้โจทก์ต้องชำระเบี้ยปรับสำหรับการประกอบกิจการโดยไม่จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ จึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ความเห็น : ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกา เนื่องจาก ตามมาตรา 91/13 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “ผู้ประกอบกิจการดังต่อไปนี้ ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ
(2) ผู้ประกอบกิจการที่ประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว
ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะพิจารณากำหนดว่าการประกอบกิจการในลักษณะใดเป็นการประกอบกิจการชั่วคราวตาม (2)”
ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ เรื่อง การกำหนดกิจการที่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ มีดังนี้
(1) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ประกอบกิจการตามมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 โดยการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมิใช่การขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 4 (1) (2) (3) และ (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ให้การขายอสังหาริมทรัพย์ดังต่อไปนี้ เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
(1) การขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการจัดสรรที่ดิน”
(2) การขายห้องชุดของผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นผู้ขอจดทะเบียนอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
(3) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อขาย รวมถึงการขายที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารดังกล่าว
(4) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะ ตาม (1) (2) หรือ (3) เฉพาะกรณีที่มีการแบ่งขายหรือมีการแบ่งแยกไว้เพื่อขาย โดยได้จัดทำถนนหรือสิ่งปลูกสร้างสาธารณูปโภคอื่น หรือให้คำมั่นว่าจะจัดให้มีสิ่งดังกล่าว
(5) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการเฉพาะของนิติบุคคลตามมาตรา 77/1 แห่งประมวลรัษฎากร
(6) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 4 (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้อสังหาริมทรัพย์นั้นมา เว้นแต่ …”
จึงเห็นได้ว่า ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ แม้โจทก์จะจดทะเบียนประกอบกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์ แต่เมื่อโจทก์ยังมิได้เริ่มประกอบกิจการดังกล่าว โจทก์เพียงแต่ขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งซื้อมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นอาคารสำนักงานและที่เก็บสินค้าของโจทก์เอง อันเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ใช้ในการประกอบกิจการของตนเอง กรณีย่อมถือเป็นผู้ประกอบกิจการที่ประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว จึงไม่จำต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/13 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ เรื่อง การกำหนดกิจการที่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะแต่อย่างใด
นายวรินทร สะรุโณ
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใดๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด
2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
โทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760