จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมิถุนายน 2561

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’s Tax Newsletter

ฉบับที่ 90 มิถุนายน 2561

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1.เพิ่มประเภทเงินได้ที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล หรือการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) แห่งประมวลรัษฎากร
2.แก้ไขหลักเกณฑ์การบริจาคเงินให้กับสถานศึกษาบริจาค ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และ อากรแสตมป์ ให้แก่ผู้สนับสนุนการศึกษา
3.ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยให้หักรายจ่ายในการอบรมสัมมนาภายในประเทศ กรณีจังหวัดท่องเที่ยวรองได้ 2 เท่า
4.ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยให้หักรายจ่ายเพื่อดำเนินโครงการพลังประชารัฐ หรือเพื่อสนับสนุนโครงการสานพลังประชารัฐให้แก่มูลนิธิพาณิชย์สงเคราะห์ได้เพิ่มอีก 1 เท่า
5.ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิ 5 รอบบัญชีให้แก่ SMEs ซึ่งประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือรายได้เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการ
6.ยกเว้นภาษีเงินได้แก่บริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลโดยให้หักค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้างได้ 2 เท่า

ข่าวภาษี

1. เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. ….  เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่  7323/2560

ระหว่าง               บริษัท ด           โจทก์

กรมสรรพากร   จำเลย

เรื่อง                    เงื่อนไขการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. เพิ่มประเภทเงินได้ที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล หรือการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือ    โทเคนดิจิทัล เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) แห่งประมวลรัษฎากร

พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2561 กำหนดให้เงินได้จากการซื้อขาย แลกเปลี่ยน คริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ถือเป็นรายได้ที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีบุคคลธรรมดา โดยผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีในอัตราร้อยละ 15

ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2KZTfuW

 

2. แก้ไขหลักเกณฑ์การบริจาคเงินให้กับสถานศึกษาบริจาค ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และ อากรแสตมป์ ให้แก่ผู้สนับสนุนการศึกษา

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 655) พ.ศ. 2561 กำหนดให้แก้ไขเพิ่มเติมประเภทสถานศึกษาที่ผู้บริจาคจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ โดยให้เพิ่มสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ อนุมัติโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีตามคำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ 29/2560

ในกรณีบุคคลธรรมดาหักค่าลดหย่อนได้ 2 เท่า นิติบุคคลหักรายจ่ายได้ 2 เท่า ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับสำหรับเงินได้ที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2KLhGer

 

3. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยให้หักรายจ่ายในการอบรมสัมมนาภายในประเทศ กรณีจังหวัดท่องเที่ยวรองได้ 2 เท่า

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 656) พ.ศ. 2561 กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ สําหรับเงินได้เป็นจํานวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายในการอบรมสัมมนาที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจัดให้แก่ลูกจ้าง ณ ท้องที่ใดท้องที่หนึ่งในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีประกาศกําหนด โดยคําแนะนําของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ เฉพาะรายจ่ายดังต่อไปนี้

(1) ค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนาที่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจ่าย

(2) ค่าบริการที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนําเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนําเที่ยว และ มัคคุเทศก์เพื่อการอบรมสัมมนา ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2x3F6tF

 

4. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยให้หักรายจ่ายเพื่อดำเนินโครงการพลังประชารัฐ หรือเพื่อสนับสนุนโครงการสานพลังประชารัฐให้แก่มูลนิธิพาณิชย์สงเคราะห์ได้เพิ่มอีก 1 เท่า

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 657) พ.ศ.2561 กำหนดยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่ารายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อดำเนินโครงการภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐหรือเพื่อสนับสนุนโครงการสานพลังประชารัฐให้แก่มูลนิธิพาณิชย์สงเคราะห์ตามจำนวนที่จ่ายแต่ไม่เกินร้อยละห้าของกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2560 แต่ไม่เกิน วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2IDGc0x

 

5. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิห้ารอบบัญชีให้แก่ SMEs ซึ่งประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือรายได้เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการ

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 658) พ.ศ. 2561 ยกเว้นภาษีเงินได้สําหรับกําไรสุทธิเป็นระยะเวลาห้ารอบระยะเวลาบัญชีให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็น SMEs ที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิเช่น อุตสาหกรรมอาหาร, แพทย์, ท่องเที่ยว, วิจัย

ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกําหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2IZsIj7

 

6. ยกเว้นภาษีเงินได้แก่บริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลโดยให้หักรายจ่ายในการจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้างได้ 2 เท่า

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 659) พ.ศ.2561 กำหนดยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้เป็นร้อยละร้อยของรายจ่ายที่ได้เป็นรายจ่ายในการจัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็กหรือศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่จดแจ้งต่อกรมกิจการเด็กและเยาวชนหรือต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์จังหวัด เพื่อเป็นสวัสดิการของลูกจ้างสำหรับสถานประกอบการ ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท สำหรับรายจ่ายที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2561 ถึง วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกําหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://bit.ly/2kfd9pk

 

ข่าวภาษี
1. เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. ….

เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ

เมื่อวันที่ 1-15 เม.ย. 2561 นี้ กรมสรรพากรเปิดให้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ที่ให้ธนาคารส่งข้อมูลธุรกรรมเหล่านี้เพื่อให้สรรพากรตรวจสอบภาษี กรณีฝากเงินหรือรับโอนรวมกันปีละ 3,000 ครั้ง ฝากเงินหรือรับโอนรวมกันปีละ 200 ครั้ง และยอดรวม 2,000,000 บาทขึ้นไป

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://www.rd.go.th/publish/27837.0.html

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่  7323/2560

ระหว่าง               บริษัท ด           โจทก์

กรมสรรพากร   จำเลย

เรื่อง                    เงื่อนไขการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร

 

โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเยอรมนีและมีสำนักงานใหญ่ในประเทศเยอรมนี มีสำนักงานภูมิภาคในประเทศสิงคโปร์ และได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ โดยมีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย โดยมีนาย ส. และนาย จ. เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน ซึ่งประเทศไทยกับประเทศเยอรมนีได้มีข้อตกลงเพื่อการยกเว้นภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากการลงทุน

ในรอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม 2541 ถึง 31 ธันวาคม 2541 โจทก์นำค่าใช้จ่ายปันส่วนจากสำนักงานใหญ่ และสำนักงานภูมิภาคมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยของโจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมให้โจทก์นำค่าใช้จ่ายจำนวนดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่าย เนื่องจากไม่ถือว่าเป็นรายจ่ายที่มีขึ้นเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะตามมาตรา 65 ตรี (14)
แห่งประมวลรัษฎากร

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น เนื่องจาก มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 กำหนดให้ยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรแก่บุคคลตามสัญญาว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนฯ ดังนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุนขัดแย้งกับประมวลรัษฎากร จะต้องถือตามความตกลงดังกล่าวซึ่งเป็นข้อยกเว้นของประมวลรัษฎากร ซึ่งข้อ 7(3) ของความตกลงดังกล่าวกำหนดว่า ในการกำหนดกำไรของสถานประกอบการถาวร ให้ยอมให้หักค่าใช้จ่ายซึ่งมีขึ้นเพื่อสถานประกอบกิจการถาวรนั้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไปไม่ว่าจะมีขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญาที่สถานประกอบการถาวรนั้นตั้งอยู่หรือที่อื่น ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธินำค่าใช้จ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทยโดยเฉพาะและค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการทั่วไป ไม่ว่าจะมีขึ้นในประเทศไทยซึ่งสถานประกอบการถาวรของโจทก์ตั้งอยู่หรือที่อื่น มาหักเป็นรายจ่ายได้

 

ความเห็น

ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกาข้างต้นด้วยเหตุว่า แม้ค่าใช้จ่ายปันส่วนดังกล่าวจะไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า เป็นรายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศโดยเฉพาะหรือไม่ อันส่งผลให้ไม่อาจนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ตามความในมาตรา 65 ตรี (14) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องด้วยมีความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (ความตกลงฯ) เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนเกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุนตามมาตรา 3 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 7 (3) ของความตกลงฯ กำหนดให้สามารถหักค่าใช้จ่ายซึ่งมีขึ้นเพื่อสถานประกอบการถาวรนั้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบริหารและจัดการทั่วไปได้ทั้งหมดไม่ว่าจะมีขึ้นในรัฐผู้ทำสัญญาที่สถานประกอบการนั้นตั้งอยู่หรือที่อื่น เพราะในการประกอบธุรกิจที่ผู้ประกอบการมีสถานประกอบการหลายแห่งทั่วโลก ย่อมมีกำไร และค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการเกิดขึ้น ซึ่งกำไร และค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากสถานประกอบการในประเทศไทย หรือสถานประกอบการในต่างประเทศ ก็ย่อมถือได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากองค์กรธุรกิจเดียวกัน ดังนั้นหากสถานประกอบการมีกำไรเกิดขึ้นก็ควรยอมให้หักค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการบริหารและการจัดการทั่วไปได้ ไม่ว่าสถานประกอบการถาวรนั้นจะตั้งอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม

ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการทำความตกลงฯ ที่มุ่งประสงค์ให้ลดปัญหาการเก็บภาษีซ้ำซ้อนในเงินจำนวนเดียวกัน จึงต้องถือตามความตกลงฯ ให้โจทก์นำค่าใช้จ่ายปันส่วนจากสำนักงานใหญ่และสำนักงานภูมิภาคมาหักเป็นรายจ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์ได้

 

ทิพย์ระวี  ขุดขำ

 หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760 Email: budhimak@dlo.co.th

บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

   

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th