จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’S Tax Newsletter
ฉบับที่ 86 กุมภาพันธ์ 2561
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. กำหนดหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยประกันสุขภาพที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ข่าวภาษี
1. ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายใหม่ (อุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 สาขา)
2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง
3. ความคืบหน้าการบังคับใช้ภาษีบำรุงท้องที่
4. มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Transfer pricing)
5. มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับคนพิการซึ่งไม่มีสัญชาติไทย
6. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร
7. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นสวัสดิการของลูกจ้างสำหรับสถานประกอบการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
8. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่สถานพยาบาลตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541
คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาฎีกาที่ 9882/2559
ระหว่าง นาย ช. โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยเจ้าพนักงานประเมิน
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ตามที่ข้อ 2 (97) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 334 (พ.ศ. 2560) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้นั้น
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 315) กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ โดยจ่ายให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร เพื่อประกันความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วย การบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ อุบัติเหตุ โรคร้ายแรง การดูแลระยะยาว ทั้งนี้ สำหรับการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ผู้มีเงินได้ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิต่อบริษัทผู้รับประกันที่ได้เอาประกันไว้ ส่วนการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับปี 2560 ผู้มีเงินได้ต้องมีใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองจากบริษัทผู้รับประกันซึ่งต้องมีข้อความตามที่กำหนด
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/SaZbPp
ข่าวภาษี
1. ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายใหม่ (อุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 สาขา)
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 สาขา ที่มีศักยภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยอาศัยการใช้เทคโนโลยีเป็นฐานในการออกแบบและพัฒนาเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตหรือให้บริการอย่างเป็นระบบ โดยต้องมีรายรับที่เกี่ยวเนื่องจากธุรกิจดังกล่าวในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายรับที่ได้จากกิจการทั้งหมด และต้องไม่ใช้สิทธิการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ทั้งนี้ สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 โดยมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากธุรกิจดังกล่าวในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/8Cj8En
2. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดอบรมสัมมนา หรือรายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดให้แก่ลูกจ้าง ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 ถึง 31 ธันวาคม 2561 ทั้งนี้ สำหรับรายจ่ายในจังหวัดท่องเที่ยวรองที่กำหนด (เบื้องต้น 55 จังหวัด)
อนุมัติหลักการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรองร่วมกับจังหวัดอื่นตามเส้นทางท่องเที่ยวที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรมหรือในโฮมสเตย์ ทั้งนี้ ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท และเฉพาะที่ได้จ่ายไปตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 ถึง 31 ธันวาคม 2561
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/8Cj8En
3. ความคืบหน้าการบังคับใช้ภาษีบำรุงท้องที่
เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการกำหนดให้นำราคาปานกลางของที่ดินที่ใช้อยู่ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2521 ถึง พ.ศ. 2524 มาใช้ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปี พ.ศ. 2561 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/8Cj8En
4. มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Transfer pricing)
เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฎากรซึ่งกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันจัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์และมูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีและยื่นต่อเจ้าพนักงานประเมินพร้อมกับยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ยกเว้น กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินจำนวนที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท หากฝ่าฝืนหรือจัดทำรายงานหลักฐานหรือแสดงข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วนจะได้รับโทษและเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจปรับปรุงรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนดังกล่าวให้ได้จำนวนที่พึงได้รับและได้จ่ายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษี
ทั้งนี้ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 และตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/DcKYsg
5. มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับคนพิการซึ่งไม่มีสัญชาติไทย
เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้มีเงินได้ที่เป็นคนพิการซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีหนังสือรับรองความพิการจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์
ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ที่ไม่เกิน 190,000 บาทต่อปีและได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 และตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/DcKYsg
6. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการกำหนดให้ปรับเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่คนที่ 2 ของผู้มีเงินได้หรือของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ซึ่งเกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นไปและไม่ว่าบุตรคนก่อนหน้าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ โดยให้หักลดหย่อนได้เพิ่มอีก 30,000 บาท ต่อคนต่อปีภาษี และให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2561 ที่จะต้องยื่นรายการในปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป
กำหนดให้ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสสามารถนำค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตรไปหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง สำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราว แต่ไม่เกิน 60,000 บาท
ทั้งนี้ สำหรับค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไปและตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/o21THs
7. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นสวัสดิการของลูกจ้างสำหรับสถานประกอบการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กในสถานประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายได้ตามที่จ่ายจริง และสามารถหักได้เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่าตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท
ทั้งนี้ สำหรับค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/o21THs
8. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่สถานพยาบาลตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการกำหนดให้บุคคลธรรมดาซึ่งบริจาคเงินให้แก่สถานพยาบาลของรัฐสามารถหักลดหย่อนได้เป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว ส่วนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้หักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าของเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาและเพื่อการสาธารณประโยชน์อื่นแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร
อนุมัติหลักการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่สถานพยาบาลข้างต้น โดยผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล
ทั้งนี้ สำหรับการบริจาคที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป และตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดต่อไป
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/o21THs
คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาฎีกาที่ 9882/2559
ระหว่าง นาย ช. โจทก์
กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยเจ้าพนักงานประเมิน
โจทก์ประกอบกิจการค้าขายทองรูปพรรณโดยใช้ชื่อว่าร้านทอง น. ปรากฏว่าบัญชีธนาคารของโจทก์และครอบครัวมีเงินฝากเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่สัมพันธ์กับจำนวนเงินฝากที่เข้ามา เจ้าพนักงานประเมินจึงหมายเรียกโจทก์ โดยเปิดโอกาสให้โจทก์หรือภริยาโจทก์มาชี้แจงที่มาของรายการเงินฝากในบัญชีธนาคาร ซึ่งแบ่งเป็นเงินได้ที่โจทก์สามารถพิสูจน์แหล่งที่มาของเงินฝากได้ และเงินได้ที่โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์แหล่งที่มาของเงินฝากได้ เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มมายังโจทก์ โดยแบ่งเงินได้พึงประเมินที่โจทก์ได้รับออกเป็นเงินได้หลายประเภทแล้วนำมาหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้แต่ละประเภท จากนั้นจึงหักค่าลดหย่อน เหลือเป็นเงินได้สุทธิเท่าใดก็นำไปคำนวณตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เว้นแต่ในส่วนของเงินได้ที่โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์แหล่งที่มาได้เจ้าพนักงานประเมินถือว่าเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) และไม่ให้หักค่าใช้จ่ายเนื่องจากโจทก์ไม่มีหลักฐานมาแสดงว่ามีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจริง ซึ่งการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวเป็นการประเมินโดยวิธีปกติตามมาตรา 19 ถึงมาตรา 27 หาใช่การประเมินโดยวิธีพิเศษตามมาตรา 49 อย่างที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ดังนั้น การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบแล้ว
ความเห็น
ประมวลรัษฎากรให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินในการไต่สวนตรวจสอบและประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2 กรณี คือ กรณีประเมินโดยวิธีปกติตามมาตรา 19 ถึงมาตรา 27 และกรณีประเมินโดยวิธีพิเศษตามมาตรา 49 แยกพิจารณาได้เป็น
กรณีแรก การประเมินโดยวิธีปกติตามมาตรา 19 ถึงมาตรา 27 ใช้กับกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้มีเงินได้แสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่สมบูรณ์ หรือผู้มีเงินได้ไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจตามกฎหมายในการออกหมายเรียกตัวผู้นั้นมาไต่สวนและมีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นนำบัญชีหรือพยานหลักฐานมาแสดงได้ วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีหนึ่งในการตรวจสอบไต่สวนหาว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับนั้นเป็นเงินได้ประเภทใด จากนั้นเจ้าพนักงานประเมินจะนำเงินได้ที่แบ่งประเภทแล้วมาหักด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน เหลือเท่าใดให้ถือเป็นเงินได้สุทธิที่จะต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้ตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วจึงแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ต้องชำระไปยังผู้เสียภาษีอากร
กรณีที่สอง การประเมินโดยวิธีพิเศษตามมาตรา 49 ใช้กับกรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่ยื่นรายการ หรือเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าผู้มีเงินได้ยื่นรายการต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่นเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจตามกฎหมายในการขออนุมัติอธิบดีเพื่อกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิขึ้น ซึ่งเงินได้สุทธิดังกล่าวได้มาจากการคำนวณหาค่าสุทธิของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น (Net Worth) โดยเจ้าพนักงานประเมินจะคำนวณจากผลต่างระหว่างมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันต้นปี เปรียบเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันสิ้นปีของปีภาษี แล้วนำมาบวกกับค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการหารายได้ จากนั้นหักด้วยเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีตามมาตรา 42 โดยไม่มีการนำค่าใช้จ่ายใด ๆ มาหักออกอีก ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะเป็นเงินได้สุทธิที่นำไปคำนวณภาษีเงินได้ตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดีจะต้องดำเนินการออกหมายเรียกผู้มีเงินได้มาไต่สวนตรวจสอบเช่นเดียวกับการประเมินโดยวิธีปกติตามมาตรา 19 หรือมาตรา 23 ก่อน
กรณีจึงเห็นได้ว่าการประเมินโดยวิธีพิเศษตามมาตรา 49 แตกต่างไปจากการประเมินโดยวิธีปกติตามมาตรา 19 ถึงมาตรา 27 ที่เจ้าพนักงานประเมินซึ่งทำหน้าที่ไต่สวนตรวจสอบและประเมินภาษีจะต้องเป็นเจ้าพนักงานประเมินที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรเท่านั้น กับทั้งวิธีการคำนวณเพื่อให้ได้มาซึ่งจำนวนเงินได้สุทธิก็มีความแตกต่างกัน โดยการประเมินโดยวิธีปกติตามมาตรา 19 ถึงมาตรา 27 จะหักได้ทั้งค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน แต่การประเมินโดยวิธีพิเศษตามมาตรา 49 จะหักได้เฉพาะเงินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีตามมาตรา 42 เท่านั้น เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดีจะกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิโดยนำค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนมาหักออกจากเงินได้พึงประเมินเหมือนกับการประเมินโดยวิธีปกติไม่ได้
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินได้คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์โดยนำเงินที่โจทก์ได้รับจากการขายทองไปหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 75 ตามความในมาตรา 46 ประกอบมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (11) ของพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ส่วนเงินที่โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ก็หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควรตามมาตรา 8 ทวิ ของพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับดังกล่าว ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักได้ตามความจำเป็นและสมควรตามมาตรา 8 ทวิ จะต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องหรือจำเป็นต่อการประกอบกิจการของโจทก์ในจำนวนที่สมควรและเหมาะสมแก่กิจการนั้น และต้องไม่เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี โดยโจทก์มีหน้าที่ต้องนำหลักฐานเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมินเพื่อพิสูจน์ว่าโจทก์มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจริง เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายมาแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมินจึงทำให้เจ้าพนักงานประเมินไม่อาจหักค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์ได้ ซึ่งหลังจากที่เจ้าพนักงานประเมินหักค่าใช้จ่ายออกจากเงินได้พึงประเมินแต่ละประเภทแล้ว เจ้าพนักงานประเมินก็นำมาหักค่าลดหย่อน เหลือเป็นเงินได้สุทธิเท่าใดจึงนำไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีจึงเห็นได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนออกจากเงินได้พึงประเมินของโจทก์ตามวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยปกติ ซึ่งหากเป็นการประเมินตามมาตรา 49 เจ้าพนักงานประเมินจะกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิโดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีของโจทก์โดยใช้วิธีปกติตามมาตรา 19 ถึงมาตรา 27 มิใช่การประเมินโดยวิธีพิเศษตามมาตรา 49 ผู้เขียนเห็นพ้องด้วย
นางสาววรรณนิภา สงวนราษฎร์
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760 Email: kamphols@dlo.co.th
บริการกฎหมายภาษีอากร :
1. งานให้คำปรึกษาภาษี
2. งานขอคืนภาษี
3. งานวางแผนภาษี
4. งานตรวจสอบภาษี
5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี
6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่
7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี
8. งานคดีภาษีอากร
เป็นต้น
สอบถามบริการโปรดติดต่อ :