จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมกราคม 2561

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

 

ฉบับที่ 85 มกราคม 2561

กฎหมายใหม่ล่าสุด
  1.  ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้
  2. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการนำเข้าและการขายเหรียญที่ระลึกเฉพาะที่กรมธนารักษ์เป็นผู้นำเข้าเพื่อขายในประเทศ

 

ข่าวภาษี
  1.  มาตรการสร้างความเป็นกลางทางภาษีกรณีผลตอบแทนจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลาม
  2.  ความคืบหน้าการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 8745/2559

ระหว่าง             บริษัท บ.                       โจทก์

กรมสรรพากร                 จำเลย

เรื่อง                  การขายหุ้นเพิ่มทุนที่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (9) (13) แห่งประมวลรัษฎากร

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้

กฎกระทรวง ฉบับที่ 334 (พ.ศ. 2560) เพิ่มเติมในข้อ 2 (97) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) โดยกำหนดให้เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยในปีภาษี ให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักรสำหรับการประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ สำหรับเบี้ยประกันภัยที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/H964Zu

 

2. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการนำเข้าและการขายเหรียญที่ระลึกเฉพาะที่กรมธนารักษ์เป็นผู้นำเข้าเพื่อขายในประเทศ

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 648) พ.ศ. 2560 กำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าเหรียญที่ระลึกเฉพาะที่กรมธนารักษ์เป็นผู้นำเข้าเพื่อขายในประเทศไทยโดยได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

และพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 649) พ.ศ. 2560 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3(5) ของพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายเหรียญที่ระลึกของกรมธนารักษ์เนื่องในวโรกาสสำคัญ ซึ่งกรมธนารักษ์เป็นผู้ผลิตหรือนำเข้าโดยได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมีการนำรายได้จากการขายเหรียญดังกล่าวหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหรือถวายพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระบรมราชชนนี หรือพระบรมวงศานุวงศ์

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/FgRBjR และ https://goo.gl/uNWzd7

 

ข่าวภาษี

1 . มาตรการสร้างความเป็นกลางทางภาษีกรณีผลตอบแทนจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลาม

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ดังนี้

– พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 301) พ.ศ. 2539 โดยเพิ่มเติมการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลตอบแทนที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามกับธนาคารในราชอาณาจักร ซึ่งจะต้องฝากเงินเป็นรายเดือนติดต่อกัน มีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 24 เดือนนับแต่วันที่เริ่มฝาก โดยมียอดเงินฝากแต่ละคราวเท่ากัน แต่ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน และรวมแล้วทั้งหมดต้องไม่เกิน 600,000 บาท

– กฎกระทรวง ฉบับที่ 200 (พ.ศ. 2538) โดยเพิ่มเติมการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลตอบแทนที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามกับธนาคารในราชอาณาจักรที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับเงินฝากประเภทออมทรัพย์ เฉพาะกรณีได้รับผลตอบแทนดังกล่าวและดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรประเภทออมทรัพย์ รวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษี

– กฎกระทรวง ฉบับที่ 250 (พ.ศ. 2538) โดยเพิ่มเติมการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผลตอบแทนที่ได้รับจากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามกับธนาคารในราชอาณาจักรที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่เมื่อรวมกับผลตอบแทนดังกล่าวทุกประเภทหรือดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทแล้วต้องไม่เกิน 30,000 บาทตลอดปีภาษี และได้รับผลตอบแทนดังกล่าวหรือดอกเบี้ยเงินฝากเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/LsCnaF

 

2. ความคืบหน้าการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. … (ร่าง พ.ร.บ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกล่าวสรุปให้มีการบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้เสียภาษี โดยให้ชำระภาษีตามจำนวนที่ต้องเสียหรือพึงชำระในปีก่อนรวมกับภาษีใหม่ที่เหลือจากภาษีใหม่ลบภาษีเก่า ดังนี้

1. ปีที่ 1 ภาษีเก่าบวก 25% ของจำนวนภาษีใหม่ที่เหลือ

2. ปีที่ 2 ภาษีเก่าบวก 50% ของจำนวนภาษีใหม่ที่เหลือ

3. ปีที่ 3 ภาษีเก่าบวก 75% ของจำนวนภาษีใหม่ที่เหลือ

4. และเมื่อเริ่มเข้าสู่ปีที่ 4 จะจัดเก็บในอัตรา 100% ของภาษีใหม่

5. ปรับลดเพดานอัตราภาษีลง 40%  ดังนี้

5.1 ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เกษตรกรรม เดิม 0.2% เสนอใหม่ 0.15%

5.2 ที่อยู่อาศัย เดิม 0.5% เสนอใหม่ 0.3%

5.3 ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ นอกจากเพื่อเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย เดิม 2 เสนอใหม่ 1.2%

5.4 ที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ เดิม 2%  โดยเพิ่ม 0.5% ทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 5% เสนอใหม่เป็น 1.2% โดยเพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 3%

ในส่วนอัตราภาษีที่จัดเก็บจริง เสนอให้มีบัญชีอัตราภาษีแนบท้ายเพื่อจัดเก็บภาษีใน 2 ปีแรก สำหรับปีที่ 3 เป็นต้นไปให้รัฐบาลเป็นผู้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่จัดเก็บจริง และได้กำหนดให้มีการยกเว้นภาษีในกรณีใช้ประโยชน์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในการประเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย ดังนี้

1. กรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เพื่อเกษตรกรรม

1.1 กรณีบุคคลธรรมดาซึ่งเป็นเจ้าของ ยกเว้นภาษีในส่วนของมูลค่าทรัพย์สินไม่เกิน 50 ล้านบาท เช่นเดิม แต่ในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 75 ล้านบาท ให้จัดเก็บอัตราร้อยละ 0.01  จากเดิมในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้จัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.05

1.2 กรณีนิติบุคคลเป็นเจ้าของ ให้จัดเก็บภาษีอัตราร้อยละ 0.01 ของมูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในส่วนไม่เกิน 75 ล้านบาท จากเดิมที่ได้รับยกเว้นภาษีในส่วนที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท และในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ให้จัดเก็บอัตราร้อยละ 0.05

2. ที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษี กรณีทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของนั้น ให้ได้รับยกเว้นภาษีในส่วนของมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าวที่ไม่เกิน 20 ล้านบาท จากเดิมได้รับยกเว้นในส่วนที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท

ส่วนที่อยู่อาศัยหลังอื่นๆ จัดเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 0.02 ของทรัพย์สินที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จากเดิมจัดเก็บในอัตราร้อยละ 0.03 ถึง 0.20 ของทรัพย์สินที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท

3. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่รกร้างว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์จัดเก็บภาษีร้อยละ 0.03 ของมูลค่าทรัพย์สิน 50 ล้านบาทแรก จากเดิม จัดเก็บในอัตราร้อยละ 1 ถึง 3 ตามระยะเวลาของที่ดินซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์

4. กรณีที่เป็นบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินและใช้สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎรในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น ยกเว้นภาษีในส่วนของมูลค่าทรัพย์สินที่ไม่เกิน 10 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผลสรุปดังกล่าว คาดจะดำเนินการได้แล้วเสร็จและเสนอต่อ สนช. เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและประกาศใช้ได้จริงในวันที่ 1 ม.ค. 2562

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/qUB7DN

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 8745/2559

ระหว่าง             บริษัท บ.                       โจทก์

กรมสรรพากร                 จำเลย

เรื่อง      การขายหุ้นเพิ่มทุนที่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (9) (13) แห่งประมวลรัษฎากร

เมื่อปี 2536 โจทก์ได้ซื้อหุ้นบริษัท ก. เป็นเงิน 39,993,000 บาท สัดส่วนร้อยละ 99.98 และได้ซื้อหุ้นในบริษัท น. เป็นเงินจำนวน 29,999,300 บาท สัดส่วนร้อยละ 99.99 บาท ต่อมา ปี 2546 โจทก์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัท ก. จำนวน 800,000 หุ้น ๆ ละ 100 บาท เป็นเงินจำนวน 80,000,000 บาท และซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัท น. จำนวน 900,000 หุ้น ๆ ละ 100 บาท เป็นเงิน 90,000,000 บาท

หลังจากนั้นประมาณ 7 เดือน โจทก์ตกลงขายหุ้นทั้งหมดของทั้งบริษัท ก. และบริษัท น. ให้แก่บริษัท บริษัท ฟ. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโจทก์เอง ในราคาสุทธิทางบัญชี 31, 715,814.99 บาท และ 32,522,902.72 บาท ตามลำดับ ทำให้เกิดผลขาดทุนจากการขายหุ้นทั้งสองบริษัทดังกล่าวรวมทั้งสิ้น  175,753,582.92 บาท

การที่โจทก์ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของทั้งสองบริษัทที่มีผลประกอบการขาดทุนมาโดยตลอดและถือครองเพียง 7 เดือนแล้วขายหุ้นดังกล่าวแล้วขายหุ้นดังกล่าวทั้งหมดให้แก่บริษัท ฟ. โดยมีผลขาดทุนจากการขายหุ้นมากถึง 175,753,582.92 บาท จึงเป็นการกระทำที่ผิดปกติวิสัยของการลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจโดยทั่วไปที่มุ่งแสวงหาผลกำไรจากการลงทุน อีกทั้งในขณะที่โจทก์ขายหุ้นของทั้งสองบริษัทให้แก่บริษัท ฟ.  โจทก์เป็นหนี้เงินกู้ของบริษัท ฟ. ประมาณ 61 ล้านบาท และได้มีการโอนเงินให้แก่บริษัท ฟ. และในวันเดียวกันนั้นเอง บริษัท ฟ. ได้โอนเงินกลับเพื่อชำระค่าหุ้นให้แก่โจทก์ จากพฤติการณ์ของโจทก์ที่กล่าวมาทั้งหมดจึงไม่เชื่อว่าโจทก์ลงทุนหรือเพิ่มทุนในกิจการของบริษัททั้งสองจริง แต่การกระทำดังกล่าวของโจทก์มีลักษณะเป็นการเลือกใช้ประโยชน์ในทางภาษีอากรมากกว่าการนำเงินไปลงทุนทางธุรกิจ ดังนั้น รายจ่ายที่เกิดจากผลขาดทุนดังกล่าวจึงมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ และยังถือว่าเป็นรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเอง ต้องห้ามมิให้นำมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (9) (13) แห่งประมวลรัษฎากร

 

ความเห็น

จากคำพิพากษาฎีกาข้างต้น เป็นประเด็นในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยประมวลรัษฎากรได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้หลายประการ ตามมาตรา 65, 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี ซึ่งหลักเกณฑ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ รายจ่ายที่มิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี เช่น รายจ่ายที่มิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ หรือรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นโดยไม่มีการจ่ายจริง เนื่องจากการลงรายจ่ายนั้น ย่อมเป็นผลให้กำไรสุทธิลดลง และทำให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษีลดลงหรือไม่ต้องเสียภาษีก็เป็นได้ ประมวลรัษฎากรจึงต้องกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้นิติบุคคล ดั่งเช่นคำพิพากษาฎีกาข้างต้น

กรณีรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ หมายถึง รายจ่ายที่ได้จ่ายหรือจะต้องจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นๆ เพื่อประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น โดยพิจารณาถึงความจำเป็นและสมควรในการประกอบกิจการเพื่อหากำไร แต่หากเป็นรายจ่ายใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการจะนำมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิไม่ได้ เช่น รายจ่ายที่จ่ายเป็นการส่วนตัว รายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ เป็นต้น ส่วนกรณีรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นโดยไม่ได้มีการจ่ายจริงนั้น หมายถึง รายจ่ายที่กำหนดขึ้นซึ่งไม่ได้มีการจ่ายจริงหรือจ่ายโดยมิได้รับเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ใดๆ เป็นการตอบแทน เพราะฉะนั้น หากมีรายจ่ายใดๆ เกิดขึ้นจะต้องมีข้อเท็จจริง พฤติการณ์ และหลักฐานอ้างอิงเป็นกรณีไป ซึ่งกรณีดังกล่าว ศาลพิจารณาตีความกว้างขวางขึ้นในลักษณะที่ว่า การกำหนดรายจ่ายนั้นๆ ขึ้น แม้มีการจ่ายจริงแต่เป็นรายจ่ายที่ไม่น่าเชื่อถือก็ถือเป็นรายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริงด้วย

จากคำพิพากษาฎีกาข้างต้น จึงเห็นได้ว่า ธุรกรรมเช่นว่านั้น เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่ากระทำโดยมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีจึงเข้าตรวจสอบ เนื่องจาก รายการโอนเงินในธุรกรรมที่โอนกลับไปกลับมาให้แก่บริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกันมีความผิดปกติ ประกอบกับการซื้อหุ้นเพิ่มทุนโดยอ้างว่ามุ่งแสวงหาผลกำไรที่ต้องการจะแสดงให้เห็นว่าเป็นการรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ แต่ถือครองหุ้นเพียงแค่ประมาณ 7 เดือน โดยที่ยังไม่ทันได้มีการประเมินผลจากการประกอบกิจการของทั้งสองบริษัทนั้น เป็นการกระทำที่ผิดปกติวิสัยของการลงทุนและมีลักษณะเป็นการเลือกใช้ประโยชน์ในทางภาษีอากรมากกว่าการนำเงินไปลงทุนเพื่อแสวงหากำไรจากการประกอบธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม หากโจทก์ถือหุ้นของทั้งสองบริษัทโดยมุ่งแสวงหาผลกำไรหรือทำให้ทั้งสองบริษัทเกิดสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์ควรมีข้อเท็จจริง พฤติการณ์ และหลักฐานอ้างอิงที่สมเหตุสมผล และถือหุ้นในระยะเวลาที่นานกว่านี้ หรือจนกว่าทั้งสองบริษัทจะมีกำไร หรือเหลือผลขาดทุนเพียงเท่าที่จะทำให้การขายหุ้นดังกล่าวไม่ขาดทุนมากเกินสมควร ซึ่งจะทำให้รายจ่ายจากผลขาดทุนในการขายหุ้นดังกล่าวนั้น มีน้ำหนักมากขึ้นและอาจรับฟังได้ว่าเป็นรายจ่ายที่จ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ  อันทำให้โจทก์สามารถนำรายจ่ายดังกล่าวไปลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (9),(13) ผู้เขียนจึงเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรข้างต้น

 

วรินทร สะรุโณ

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760 Email: kamphols@dlo.co.th

 

บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th