จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’s Tax Newsletter
ฉบับที่ 81 เดือนกันยายน 2560
กฎหมายใหม่ล่าสุด
- เพิ่มเติมมาตรการส่งเสริมให้ “ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” สามารถโอนทรัพย์สินเพื่อแปรสภาพเป็นนิติบุคคล
- ขยายระยะเวลายกเว้นเงินได้สำหรับวิสาหกิจชุมชน
- แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดเวลาการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดอากรแสตมป์ สำหรับการทำตราสารที่มิได้จัดทำเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท
ข่าวภาษี
- ขยายเวลาจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ต่อไปอีก 1 ปี
- มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2560
คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาฎีกาที่ 6693/2559
ระหว่าง บริษัท ว. โจทก์
กับ กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง การเวนคืนที่ดินเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางการค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. เพิ่มเติมมาตรการส่งเสริมให้ “ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” โอนทรัพย์สินเพื่อแปรสภาพเป็นนิติบุคคล
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 644) พ.ศ.2560 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 630) พ.ศ.2560 โดยกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ เนื่องจากการแปรสภาพธุรกิจเป็นนิติบุคคลให้แก่บุคคลธรรมดาโดยให้รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลด้วย ทั้งนี้นิติบุคคลดังกล่าวต้องจดทะเบียนจัดตั้งในระหว่างวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ติดตามรายละเอียดจาก https://goo.gl/iwb9ev และ https://goo.gl/a9bnsC
2. ขยายระยะเวลายกเว้นเงินได้สำหรับวิสาหกิจชุมชน
กฎกระทรวง (ฉบับที่ 330) พ.ศ.2560 กำหนดให้ขยายเวลายกเว้นเงินได้สำหรับวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลซึ่งมีรายได้ไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ขยายเวลาถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562
ติดตามรายละเอียดจาก https://goo.gl/oHo8RP
3. แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดเวลาการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดอากรแสตมป์ สำหรับการทำตราสารที่มิได้จัดทำเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 57) กำหนดให้ขยายเวลาการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดอากรแสตมป์ สำหรับตราสารที่มิได้จัดทำเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทออกไปอีกเป็นระยะเวลา 1 เดือน จากเดิมเริ่มใช้วันที่ 1 สิงหาคม 2560 ขยายเวลาเป็นเริ่มใช้วันที่ 1 กันยายน 2560
ติดตามรายละเอียดจาก https://goo.gl/JfxGFc และ https://goo.gl/sw5hAV
ข่าวภาษี
1. ขยายเวลาจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ต่อไปอีก 1 ปี
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 6.3 ซึ่งเมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่นแล้วรวมเป็นอัตราร้อยละ 7 จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2560ขยายเวลาถึงวันที่ 30 กันยายน 2561
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/fTN4yL
2. มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปี 2560
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเว้นเงินได้สำหรับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในประเทศในปี 2560 โดยให้สิทธิผู้บริจาคระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 – 13 ตุลาคม 2560 มาหักเป็นค่าลดหย่อนหรือหักรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้1.5 เท่า ของเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาค ทั้งนี้ บุคคลธรรมดาหักลดหย่อนได้กรณีบริจาคเป็นเงินเท่านั้น
นอกจากนี้ ได้อนุมัติหลักการเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 – 31 ธันวาคม 2560 โดยให้ผู้มีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดาสามารถนำค่าซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์ หักเป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท และค่าซ่อมแซมรถยนต์ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท
ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/7aPqbN
คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาฎีกาที่ 6693/2559
ระหว่าง บริษัท ว. โจทก์
กับ กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง การเวนคืนที่ดินเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางการค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่
โจทก์มีที่ดินพิพาทแปลงเดียวขณะถูกเวนคืน โดยโจทก์ใช้เป็นที่ตั้งอาคารสำนักงานของโจทก์และให้ผู้อื่นเช่า แสดงให้เห็นว่าที่ดินและอาคารเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการมิได้มีไว้เพื่อขาย ประกอบกับถูกเวนคืนโดยพระราชกฤษฎีกา จึงไม่ใช่การโอนโดยเจตนาหรือเพื่อประโยชน์ในกิจการของโจทก์ จึงไม่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางการค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ การฟ้องขอคืนภาษีจึงไม่อยู่ในบังคับกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีตามมาตรา 91/11 และมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงมีสิทธิขอคืนเงินดังกล่าว
ความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติม
ประเด็นที่สำคัญจากคำพิพากษาข้างต้น คือ การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางการค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะย่อมส่งผลต่อระยะเวลาการขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจากหากเป็นกรณีที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว การขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะจะต้องอยู่ในกำหนดเวลา 3 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ตามมาตรา 91/11 และมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนกรณีที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เช่นกรณีการถูกเวนคืน ประมวลรัษฎากรไม่ได้กำหนดระยะเวลาการขอคืนภาษีไว้ ดังนั้น จึงมีอายุความในการเรียกร้อง 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ต้องเสียภาษีไปโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ตามมาตรา 193/30 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะเป็นกรณีติดตามเอาทรัพย์สินซึ่งตนไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมายคืน
เมื่อพิจารณานิยามคำว่า “ขาย” ในหมวดภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/1 (4) แห่งประมวลรัษฎากรนั้น หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้ ให้เช่าซื้อหรือจำหน่ายจ่ายโอน ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ ประกอบกับมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากรกำหนดให้การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ หากพิจารณาตามบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว จะเห็นได้ว่าการถูกเวนคืนที่ดินเข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่ง แต่จะต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า การถูกเวนคืนที่ดินเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรด้วยหรือไม่ โดยมาตรา 4 (5) ของพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 ได้ขยายความเรื่องการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร คือ การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการเฉพาะของนิติบุคคลตามมาตรา 77/1 แห่งประมวลรัษฎากรเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ในคดีนี้ โจทก์ได้ใช้ที่ดินและอาคารเป็นที่ตั้งอาคารสำนักงานและให้ผู้อื่นเช่าในแปลงเดียวกัน จึงเป็นการใช้ในการประกอบกิจการตนเองโดยมิได้มีไว้เพื่อเก็งกำไรขายต่อแต่อย่างใด ทั้งการถูกเวนคืนที่ดินมิได้เกิดจากความสมัครใจ และมิใช่การการโอนโดยเจตนาเพื่อแสวงหากำไร แต่เป็นการถูกบังคับให้โอนเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยได้รับเงินค่าทดแทนการเวนคืนที่ดิน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเงินค่าทดแทนดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับค่าชดเชยหรือค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่งจากการที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินในการประกอบกิจการ และยังต้องไปหาสถานที่ดำเนินกิจการใหม่โดยมิได้เกิดจากความประสงค์ของโจทก์เอง กรณีจึงไม่ถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางการค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จึงส่งผลให้โจทก์สามารถฟ้องขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะได้ภายใน 10 ปี
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงเห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ว่า กรณีของโจทก์ไม่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางการค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ดังนั้น หากผู้ประกอบการท่านใดได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกรณีการถูกเวนคืนที่ดินไปเกินกว่า 3 ปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษี แต่ไม่เกิน 10 ปี ท่านคงสามารถขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าวได้เนื่องจากท่านไม่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งในทางปฏิบัติของกรมสรรพากรอาจพิจารณาไม่คืนภาษีดังกล่าวให้ เนื่องจากเห็นว่าค่าทดแทนการถูกเวนคืนที่ดินถือเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรและต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะก็ตาม ท่านควรโต้แย้งคำสั่งไม่คืนค่าภาษีดังกล่าวและอาจนำคดีขึ้นสู่ศาล ให้ศาลเป็นผู้ตัดสินดังแนวคำพิพากษาฎีกาที่กล่าวมานี้
ชัชวลี ไมตรี
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด เลขที่ 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 โทรศัพท์ (66) 2680 9777 Email: kamphols@dlo.co.th
1. งานให้คำปรึกษาภาษี
2. งานขอคืนภาษี
3. งานวางแผนภาษี
4. งานตรวจสอบภาษี
5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี
6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่
7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี
8. งานคดีภาษีอากร
เป็นต้น
สอบถามบริการโปรดติดต่อ :