จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ
DLO’s Tax Newsletter
ฉบับที่ 76 เดือนเมษายน 2560
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. การหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีอากรเป็นความผิดฐานฟอกเงิน
2. ยกเว้นเงินได้ให้นักกีฬาทีมชาติและผู้ฝึกสอนได้รับจากการให้โดยเสน่หาเนื่องจากเข้าร่วมแข่งขันกีฬา
3. สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับนิติบุคคล เมื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวในชนบท
4. ค่าจ้างผู้สูงอายุ หักรายจ่ายได้ 2 เท่า
5. เบี้ยปรับและ/หรือเงินเพิ่มภาษีอากร และค่าปรับทางอาญาตามกฎหมายภาษีอากรทุกประเภท ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม
6. คณะกรรมการฯ ชี้ไม่อาจขยายเวลาออกหมายเรียก เมื่อพ้นกำหนด 5 ปีได้
ข่าวภาษี
1. พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างผ่านวาระแรก
2. แก้ไขปรับปรุงประมวลรัษฎากรครั้งใหญ่
คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาฎีกาที่ 5695/2559
ระหว่าง บริษัท ช. โจทก์
กับ กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง ขอคัดถ่ายเอกสาร
กฎหมายใหม่ล่าสุด
1. หลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีอากรเป็นความผิดฐานฟอกเงิน
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 45) พ.ศ.2560 กำหนดให้การกระทำความผิดเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากรและการฉ้อโกงภาษีอากรที่มีลักษณะร้ายแรงถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งต้องเป็นการกระทำความผิดในลักษณะ ดังต่อไปนี้
1) เป็นผู้กระทำความผิดตามมาตรา 37 มาตรา 37 ทวิ และมาตรา 90/4 แห่งประมวลรัษฎากร และ
2) หลีกเลี่ยงภาษีอากร ฉ้อโกงภาษีอากร ตั้งแต่ 10 ล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป หรือขอคืนภาษีอากรโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน ตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป และ
3) กระทำในลักษณะกระบวนการ หรือเป็นเครือข่าย โดยสร้างธุรกรรมอันเป็นเท็จหรือปกปิดรายได้เพื่อหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษี และ
4) มีพฤติกรรมปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อมิให้ติดตามทรัพย์สินนั้นได้
ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2560 เป็นต้นไป
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://goo.gl/B5OzyN
2. ยกเว้นเงินได้ให้นักกีฬาทีมชาติและผู้ฝึกสอนที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาเนื่องจากเข้าร่วมแข่งขันกีฬา
กฎกระทรวง ฉบับที่ 325 (พ.ศ. 2560) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 293) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่นักกีฬาและผู้ฝึกสอนได้รับจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อเป็นรางวัลเนื่องจากการเข้าร่วมแข่งขันกีฬา เฉพาะส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
1) ต้องเป็นนักกีฬาและผู้ฝึกสอนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬาและรายการแข่งขันในกีฬาสมัครเล่นระดับนานาชาติตามเงื่อนไขที่กำหนด
2) ได้รับเงินรางวัลดังกล่าวจากภาครัฐหรือภาคเอกชน โดยไม่มีข้อผูกพัน และได้รับเงินภายใน 1 ปีนับแต่วันที่การแข่งขันสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ
3) ต้องมีหลักฐานพิสูจน์ว่าเป็นเงินได้จากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีฯ เพื่อเป็นรางวัลฯ
ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก: https://goo.gl/e2DCQ0 และ https://goo.gl/zs8Eoo
3. สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับนิติบุคคลที่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวในชนบท
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 632) พ.ศ.2560 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 3) กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายจ่ายในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวในชนบทเป็นจำนวน 2 เท่า ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
1) ต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานฯ ตามแผนงานหรือโครงการของส่วนราชการฯ ที่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายจากรัฐบาล
2) ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับแผนงานของส่วนราชการฯ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายจากรัฐบาลแล้ว
3) ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ส่วนราชการฯ โดยไม่มีค่าตอบแทน
4) ต้องมีหนังสือรับรองแผนงานและมีหลักฐานในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากรัฐบาล
5) ต้องไม่นำรายจ่ายในการลงทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานฯ ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นี้ไปลงเป็นรายจ่ายเพื่อการสาธารณประโยชน์
6) ต้องไม่นำทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่นหรือใช้ในกิจการ BOI ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
นอกจากนี้ยังให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน การขายสินค้า หรือการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แทนให้แก่ส่วนราชการ
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://goo.gl/bY1IAo และ https://goo.gl/o76bLU
4. ค่าจ้างผู้สูงอายุ หักรายจ่ายได้ 2 เท่า
พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 639) พ.ศ. 2560 กำหนดให้นายจ้างซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายในการจ้างผู้สูงอายุ สัญชาติไทย (อายุ 60 ขึ้นไป) ซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนในเครือเดียวกัน มาหักรายจ่ายได้ 2 เท่า ซึ่งต้องมีอัตราค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป โดยนายจ้างขอใช้สิทธิได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนลูกจ้างทั้งหมด
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก: https://goo.gl/OfXH6E
5. เบี้ยปรับและ/หรือเงินเพิ่มภาษีอากร และค่าปรับทางอาญาตามกฎหมายภาษีอากรทุกประเภท ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม
คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรได้มีคำวินิจฉัยที่ 40/2560 วินิจฉัยว่าเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มภาษีอากร และค่าปรับทางอาญาตามกฎหมายภาษีอากรทุกประเภท ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามของนิติบุคคลตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร และให้ยกเลิกคำวินิจฉัยที่ 10/2528 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก: https://goo.gl/04tzoH
6. เจ้าพนักงานประเมินไม่อาจขยายเวลาออกหมายเรียก เมื่อพ้นกำหนด 5 ปีได้
คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรได้มีคำวินิจฉัยที่ 41/2560 วินิจฉัยว่าผู้ใดแสดงรายการตามแบบที่ยื่นไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ เจ้าพนักงานประเมินต้องออกหมายเรียกภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ยื่นรายการ และไม่อาจขยายเวลาออกหมายเรียกเพื่อประเมินภาษีเมื่อพ้นกำหนดเวลา 5 ปี โดยอาศัยอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรได้
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก: https://goo.gl/6RmCXp
ข่าวภาษี
1. พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างผ่านวาระแรก
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่คณะรัฐมนตรีเสนอ โดยที่ประชุมยังเสนอให้ยกเว้นการเก็บภาษีจากเกษตรกรที่เช่าที่ดินทำกิน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้นายทุนผลักภาระภาษีมาที่เกษตรกร อีกทั้งต้องการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยดูแลประโยชน์ให้ประชาชนจากการกำหนดอัตราภาษีให้ชัดเจนและเสนอให้เก็บอัตราภาษีก้าวหน้ากรณีมีที่ดินกว่า 500 ไร่เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://goo.gl/IYJw4p
2. แก้ไขปรับปรุงประมวลรัษฎากรครั้งใหญ่
รองปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่าจะมีการยกร่างแก้ไขประมวลรัษฎากรใหม่ ซึ่งอาจจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบได้ภายในเดือนกันยายน 2560 โดยจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็น ดังต่อไปนี้
1) กระบวนการออกหมายเรียก ตรวจสอบ การประเมิน การอุทธรณ์
2) การเก็บภาษีธุรกิจอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์ข้ามชาติ ฯลฯ
3) การป้องกันการถ่ายโอนกำไรของบริษัทข้ามชาติ (Transfer Pricing)
4) มาตรการป้องกันการตั้งทุนต่ำ (Thin Capitalization)
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก https://goo.gl/7GDHsc
คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาฎีกาที่ 6171/2559
ระหว่าง บริษัท ช. โจทก์
กับ กรมสรรพากร จำเลย
เรื่อง ขอคัดถ่ายเอกสาร
โจทก์ขอตรวจสอบและขอคัดถ่ายเอกสารเพื่อใช้ประกอบการยื่นคำอุทธรณ์การประเมินภาษี โดยเจ้าพนักงานของจำเลยอนุญาตให้โจทก์ตรวจดูและคัดลอกด้วยลายมือ แต่ไม่อนุญาตให้โจทก์ถ่ายสำเนาเอกสารดังกล่าว ทำให้โจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยนำเอกสารหรือหลักฐานใดมาใช้ในการประเมินภาษีที่โจทก์อาจนำมาพิสูจน์หรือแสดงหลักฐานเพื่อโต้แย้งได้เนื่องจากโจทก์ได้ส่งเอกสารทั้งหมดให้จำเลยไปแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า การที่เจ้าพนักงานของจำเลยไม่อนุญาตให้โจทก์ถ่ายสำเนาเอกสารเป็นการปฏิเสธสิทธิของโจทก์ในการโต้แย้งหรือชี้แจงหรือป้องกันสิทธิของตน อันไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 31 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองสิทธิในการตรวจดูเอกสารและจัดทำสำเนาเอกสาร (ถ่ายเอกสาร) อีกทั้ง การที่เจ้าพนักงานของจำเลยอนุญาตให้โจทก์ตรวจดูและคัดลอกเอกสารได้ทุกฉบับ เป็นการบ่งชี้ว่าไม่มีเอกสารฉบับใดที่มีเหตุยกเว้นโดยกฎหมายห้ามมิให้โจทก์ตรวจดูเอกสารและไม่มีเหตุผลพิเศษอื่นใดซึ่งสามารถนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ถ่ายสำเนาเอกสาร
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงเห็นสมควรเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และให้จำเลยอนุญาตให้โจทก์ถ่ายสำเนาเอกสารที่โจทก์มีสิทธิตรวจดูได้เพื่อประกอบการยื่นคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ถ่ายสำเนาเอกสารดังกล่าว
ความเห็นทางกฎหมาย
คำพิพากษาข้างต้นเป็นปัญหาเกี่ยวกับการขอคัดถ่ายเอกสารที่โจทก์ต้องนำไปประกอบการชี้แจงเพื่อยื่นอุทธรณ์การประเมิน ซึ่งปกติแล้วเอกสารทางบัญชีและภาษีจะประกอบไปด้วยเอกสารหลายฉบับและมีรายละเอียดเป็นจำนวนมาก การที่ไม่สามารถถ่ายสำเนาเอกสารได้ทั้งหมด ทำให้โจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยใช้หลักฐานหรือเอกสารใดในการประเมินภาษี โจทก์จึงไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เพียงพอเพื่อยื่นอุทธรณ์การประเมินได้
โดยที่มาตรา 31 วรรคหนึ่งของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กำหนดให้คู่กรณีมีสิทธิขอตรวจดูเอกสารที่จำเป็นต้องรู้เพื่อการโต้แย้งหรือชี้แจงเพื่อป้องกันสิทธิของตนได้ และมาตรา 31 วรรคสองกำหนดเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจดูเอกสาร หรือการจัดทำสำเนาเอกสาร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อพิจารณามาตรา 31 วรรคหนึ่งและวรรคสองประกอบกัน จะเห็นได้ว่าสิทธิขอตรวจดูเอกสารนั้น ให้รวมถึงการถ่ายสำเนาเอกสารด้วย แต่หากจำเลยเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นความลับที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ จำเลยก็มีอำนาจไมอนุญาตให้ตรวจดูเอกสารตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 แต่กลับปรากฏว่า เอกสารดังกล่าวไม่ใช่เอกสารที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะจำเลยอนุญาตให้โจทก์ตรวจและคัดลอกเอกสารแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอถ่ายสำเนาเอกสารได้
ดังนั้น การที่จำเลยไม่อนุญาตให้โจทก์ถ่ายสำเนาเอกสารอันเป็นเหตุให้ไม่สามารถใช้สิทธิโต้แย้งสิทธิของตนได้เต็มที่ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าว
มีประเด็นที่น่าสนใจอีกว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีหนังสือแจ้งการประเมินมายังโจทก์ตั้งแต่ ปี 2551และไม่อนุญาตให้โจทก์ถ่ายสำเนาเอกสารตั้งแต่คราวแรกที่โจทก์ถูกประเมิน ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีคำพิพากษาในปี 2559 ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และโจทก์มีสิทธิถ่ายสำเนาเอกสารเพื่อประกอบการยื่นคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ถ่ายสำเนาเอกสารดังกล่าว เท่ากับว่าโจทก์และจำเลยต้องเสียเวลา ทรัพย์สิน และทรัพยากรในการต่อสู้คดีที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 8 ปีและต้องไปเริ่มดำเนินกระบวนการใหม่ทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายเอกชนจะได้รับความเสียหายในการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายถึงสองคราวเพื่อสู้คดีกับรัฐ ซึ่งประมวลรัษฎากรยังไม่มีการกำหนดเยียวยาความเสียหายในส่วนนี้ อีกทั้งยังไม่มีการกำหนดเรื่องการยกเว้นเงินเพิ่มให้แก่ผู้เสียภาษีในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรพิพากษาให้กลับไปดำเนินกระบวนการใหม่ตั้งแต่ต้น ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าควรมีการแก้ไขกฎหมายหรือกำหนดมาตรการในส่วนนี้เพิ่มเติมเพื่อเยียวยาความเสียหายกับผู้เสียภาษีต่อไป
นางสาวชัชวลี ไมตรี
หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760 Email: budhimak@dlo.co.th
บริการกฎหมายภาษีอากร :
1. งานให้คำปรึกษาภาษี
2. งานขอคืนภาษี
3. งานวางแผนภาษี
4. งานตรวจสอบภาษี
5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี
6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่
7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี
8. งานคดีภาษีอากร
เป็นต้น
สอบถามบริการโปรดติดต่อ :