• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมกราคม 2560

จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมกราคม 2560

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

 

ฉบับที่ 73 เดือนมกราคม 2560

 

         พรปีใหม่ ธ พระราชทานยังเกริกก้องหวนตรึกตรองตามครรลองเพียรยึดถือ
เจ็ดสิบปีพระราชกรณียกิจบันลือจุดหมายคือเพื่ออาณาประชาไทย
คำสอนพ่อเปรียบให้เบ็ดไปตกปลาไม่พึ่งพาเพียงผู้อื่นไร้จุดหมาย
สอนให้รู้จักพอเพียงเลี้ยงชีพกายน้อมรับไว้จะใส่เกล้าฯ เท่าชีวี
         พ้นปีเก่าเศร้าวิโยคโศกกำสรดทุกข์ทั้งหมดจงผ่านพ้นพลันสดใส
ความสูญเสียมลายสิ้นจากถิ่นไทยพบปีใหม่ขอท่านได้ในสิ่งดี
ความรุ่งเรืองจงประเทืองท่านถ้วนหน้าพระรัตนาพลันบันดาลท่านสุขศรี
สวัสดิผลขจรเกียรติเท่าทวีให้ท่านมีแต่ความสุขทุกวันเทอญ

                                                                                                                                                พุทธิมา เกิดศิริ : ประพันธ์

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1.     ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการภายในประเทศปลายปี 2559

2.     แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรว่าด้วย เงินได้จากจากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย

 

ข่าวภาษี

1.     สนช. มีมติเห็นชอบ ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

2.     ครม. อนุมัติให้นำราคาปานกลางของที่ดินประจำปี พ.ศ. 2521 – 2524 มาใช้ในปี พ.ศ.2560 เป็นต้นไป

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 2050/2559

ระหว่างบริษัท อ.โจทก์
กับกรมสรรพากรจำเลย
เรื่องส่วนล้ำมูลค่าหุ้นเพิ่มทุน

 

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการภายในประเทศปลายปี 2559

ตามที่กฎกระทรวงฉบับที่ 323 (พ.ศ.2559) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 282) กำหนดให้ยกเว้นเงินได้บุคคลธรรมดาเท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในประเทศที่ได้จ่ายตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2559  ถึง 31 ธันวาคม 2559 โดยไม่รวมค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ดังนี้ ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ ค่าซื้อน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมพาหนะ ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ ค่าบริการนำเที่ยว และค่าที่พักในโรงแรม

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/DbLbu3 และ https://goo.gl/P5vfKX และ https://goo.gl/L8Crks

2. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรว่าด้วย เงินได้จากจากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย

ตามที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (26) ว่าด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมนั้น

เดิมประมวลรัษฎากรบัญญัติยกเว้นเงินได้ส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยไม่ได้กำหนดรายละเอียดอื่น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการตีความ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจน จึงมีการออกพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 43) พ.ศ. 2559 ให้ยกเลิกความใน (26) ของมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “(26) เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม เฉพาะเงินได้จากการโอนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายนั้น ในส่วนที่ไม่เกินยี่สิบล้านบาทต่อบุตรหนึ่งคนตลอดปีภาษีนั้น”

                ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/3PCW5v

 

ข่าวภาษี

1. สนช. มีมติเห็นชอบ ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

1. ค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ 60,000 บาท

2. ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสที่มีเงินได้ 60,000 บาท

3. ค่าลดหย่อนสำหรับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้หรือของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ คนละ 30,000 บาท ค่าลดหย่อนบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 3 คน

4. กรณีผู้มีเงินได้เป็นกองมรดก ให้หักลดหย่อนได้ 600,000 บาท

5. กรณีผู้มีเงินได้เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ให้หักลดหย่อนได้ สำหรับผู้เป็นหุ้นส่วนหรือบุคคลในคณะบุคคลแต่ละคน ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/Ekkuzl และ https://goo.gl/m9Yzu3

2. ครม. อนุมัติให้นำราคาปานกลางของที่ดินประจำปี พ.ศ. 2521 – 2524 เพื่อประเมินภาษีบำรุงท้องที่

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ. … เพื่อให้นำราคาปานกลางของที่ดินที่ใช้อยู่ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ. 2521 ถึง พ.ศ. 2524 ซึ่งใช้ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปี พ.ศ. 2559 มาใช้ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปี พ.ศ. 2560 และปีต่อไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/pjrwxf

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 2050/2559

ระหว่างบริษัท อ.โจทก์
กับกรมสรรพากรจำเลย
เรื่องส่วนล้ำมูลค่าหุ้นเพิ่มทุน

 

เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาท โจทก์จดทะเบียนเพิ่มทุนโดยออกหุ้นบุริมสิทธิใหม่ 1 หุ้น มีมูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท และมีส่วนเกินมูลค่าหุ้น 409,999,000 บาท แต่ในขณะที่โจทก์ออกหุ้นเพิ่มทุนนั้นอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของโจทก์อยู่ที่ 40.36 ต่อ 1 และโจทก์มีผลขาดทุนสะสมสูงถึง 294,720,792 บาท แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีผลขาดทุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า มีปัจจัยอื่นนอกเหนือจากผลการประกอบการหรือตัวเลขทางบัญชี เช่น ค่าความนิยม ชื่อทางการค้า โนว์ฮาว (Know-how) เทคโนโลยี ความเจริญเติบโตและความก้าวหน้าในอนาคต ฯลฯ อันเป็นตัวกำหนดมูลค่าหุ้นที่ควรจะเป็นสำหรับหุ้นของโจทก์ในขณะที่มีการเพิ่มทุนตามที่โจทก์อุทธรณ์ การที่โจทก์ออกหุ้นเพิ่มทุนที่มีมูลค่าดังกล่าวไม่มีเหตุเชื่อได้ว่า การออกหุ้นเพิ่มทุนโดยออกหุ้นบุริมสิทธิใหม่ 1 หุ้น มีมูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท และมีส่วนเกินมูลค่าหุ้น 409,999,000 บาทในขณะเพิ่มทุน อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เงินส่วนเกินมูลค่าหุ้นเป็นเงินให้เปล่า เงินอุดหนุน หรือเงินช่วยเหลือ อันเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงชอบแล้ว

ความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติม

จากกรณีคำพิพากษาฎีกาข้างต้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับส่วนเกินมูลค่าหุ้นที่บริษัทได้รับเนื่องจากการขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นสูงกว่าราคาหุ้นที่ปรากฏในใบหุ้น ซึ่งโดยหลักแล้วเงินได้ที่ได้รับเนื่องจากการเพิ่มทุนนั้น ถือเป็นส่วนของทุนไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ทั้งนี้เงินส่วนต่างดังกล่าวจะต้องไม่มีลักษณะเป็นนิติกรรมอำพราง เงินกินเปล่า เงินอุดหนุน หรือเงินช่วยเหลืออื่นใด และการกำหนดราคาหุ้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานของมูลค่าหุ้นที่ควรจะเป็น หรือสภาพกิจการ ณ ขณะที่มีการจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุน นอกจากนี้ยังมีแนววินิจฉัยของกรมสรรพากรว่า ราคาส่วนเกินกว่ามูลค่าหุ้นที่เกินกว่าความเป็นจริงอาจถือเป็นเงินได้ของบริษัทผู้ออกหุ้นเพิ่มทุน เทียบเคียงหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรที่ กค 0702/3214 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2551

ข้อเท็จจริงได้ความว่าบริษัทออกหุ้นบุริมสิทธิ 1 หุ้นมีมูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท และมีส่วนเกินมูลค่าหุ้น 409,999,000 บาท ซึ่งในขณะที่บริษัทมีผลขาดทุนสะสมอยู่ประมาณ 294 ล้านบาท เมื่อบริษัทนำส่วนเกินมูลค่าหุ้นไปล้างขาดทุนสะสมทั้งหมด ก็จะทำให้เหลือเงินอยู่ประมาณ 115 ล้านบาท โดยเงินส่วนที่เหลือดังกล่าวบริษัทไม่ได้นำไปลงทุนเพื่อแสวงกำไรจากการประกอบกิจการ แต่กลับนำไปฝากไว้กับธนาคาร

ผู้เขียนมีความเห็นว่า การจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนที่มีส่วนเกินมูลค่าหุ้น เพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องให้แก่กิจการก็ดี หรือล้างผลขาดทุนสะสมก็ดี หากมีเงินเหลือจากธุรกรรมดังกล่าว บริษัทอาจพิจารณานำเงินส่วนที่เหลือนั้นไปลงทุนเพื่อแสวงหากำไรจากการประกอบกิจการที่เหมาะสมเพื่อชี้ให้เห็นถึงเจตนาที่แท้จริงว่าไม่ได้เป็นการทำนิติกรรมอำพรางเพื่อเลี่ยงการเสียภาษี หากบริษัทไม่ได้นำเงินส่วนเกินมูลค่าหุ้นที่เหลือนั้นไปลงทุนเพื่อแสวงหากำไรจากการประกอบกิจการแล้ว กรมสรรพากรอาจถือว่าส่วนต่างดังกล่าวเป็นเงินได้ที่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล นอกจากนี้การเรียกเก็บส่วนต่างมูลค่าหุ้นย่อมต้องมีเหตุผลและข้อมูลทางธุรกิจที่น่าเชื่อถือรองรับด้วย

นายธนินท์รัฐ เหลืองถาวรพจน์

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760 Email: budhimak@dlo.co.th, chatwaleem@dlo.co.th

 

    บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th

ชัชวลี ไมตรี

+662 680-9760

chatwaleem@dlo.co.th

ราชศักดิ์ กุลกัลยา

+662 680-9708

ratchasakk@dlo.co.th

 

พุทธิมา เกิดศิริ

+662 680-9751

budhimak@dlo.co.th

ชัยศิริ ลิ่วสัมฤทธิ์

+662 680-9708

chaisiril@dlo.co.th

สุนทรี จุงเลียก

+662 680-9753

soontreej@dlo.co.th