• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนตุลาคม 2559

จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนตุลาคม 2559

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 70 เดือนตุลาคม 2559

ภายในฉบับ

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1.     ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงิน

2.     หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับการซื้อ LTF

3.     ขยายเวลาการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงิน

4.     หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ของผู้ลงทุนในกิจการเงินร่วมลงทุน

ข่าวภาษี

1.     อัพเดตภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

2.     สรรพากรเชิญชวนธุรกิจเข้าข่ายเสียภาษีนิติบุคคล

3.     กทม.เร่งเก็บภาษีคอนโดฯ ปล่อยเช่าหลังรายได้หลุดเป้า

4.     ลดภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 314/2559

ระหว่างบริษัท น.โจทก์
กับกรมสรรพากรจำเลย
เรื่องเงินปันผลที่ได้รับยกเว้นมารวมคำนวณเป็นเงินได้และการหักภาษี ณ ที่จ่ายประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (10)

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

1. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงิน

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 623) พ.ศ. 2559 ได้กำหนดให้ลูกหนี้ของสถาบันการเงินซึ่งรวมถึงผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงินที่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด และได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/RwSqzc

2. หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับการซื้อ LTF

ตามที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 317 (พ.ศ.2559) กำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งบุคคลธรรมดาต้องซื้อและถือหน่วยลงทุนดังกล่าว ไม่น้อยกว่า 7  ปีปฏิทิน (เดิม 5 ปีปฏิทิน) จึงจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นั้น

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 276) พ.ศ. 2559 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าว ดังต่อไปนี้

1) ผู้มีเงินได้ต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น

2) ต้องซื้อ LTF ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น

3) ต้องถือ LTF ไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน เว้นแต่ ทุพพลภาพหรือตาย

4) ต้องซื้อ LTF ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/ilwRb6 และ http://goo.gl/10j35c

3. ขยายเวลาการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงิน

ตามที่กฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534) และกฎกระทรวงฉบับที่ 306 (พ.ศ.2557) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน ซึ่งสิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2557

ต่อมากฎกระทรวงฉบับที่ 321 (พ.ศ.2559) ได้กำหนดให้ขยายเวลาการจำหน่ายหนี้สูญดังกล่าว ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/DXbKHR , https://goo.gl/TBrh5c และ https://goo.gl/bhxv0Q

4. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ของผู้ลงทุนในกิจการเงินร่วมลงทุน

ตามที่พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 597) พ.ศ.2559 ได้กำหนดยกเว้นภาษีเงินได้จากการโอนหุ้นของบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมลงทุนหรือโอนหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุนซึ่งลงทุนในบริษัทเป้าหมายนั้น

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 279) พ.ศ. 2559 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ของผู้ลงทุน สำหรับการโอนหุ้นหรือโอนหน่วยทรัสต์ ดังต่อไปนี้

1) ผู้ลงทุนได้รับเงินปันผลจากบริษัทซึ่งประกอบกิจการเงินร่วมทุน

1.1) หากจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้  ผู้ลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษีจากเงินปันผลทั้งหมด

1.2) หากมิได้ระบุว่าจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้หรือไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ผู้ลงทุนต้องเฉลี่ยเงินปันผลตามส่วนกำไรสุทธิที่ได้รับและไม่ได้รับยกเว้นภาษี

2) ผู้ลงทุนได้รับเงินปันผลจากทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน

2.1) หากจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิจากการลงทุนในบริษัทเป้าหมาย ผู้ลงทุนจะได้รับยกเว้นภาษีจากเงินปันผลทั้งหมด

2.2) หากมิได้ระบุว่าจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิจากการลงทุนในบริษัทเป้าหมายหรือกิจการอื่น ผู้ลงทุนต้องเฉลี่ยเงินปันผลตามส่วนกำไรสุทธิจากการลงทุนในบริษัทเป้าหมายในส่วนกิจการที่รัฐสนับสนุนกับกำไรสุทธิจากการลงทุนในกิจการอื่น

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/Zo61CM และ http://goo.gl/KoXRH1

 

ข่าวภาษี

1. อัพเดตภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งอาจเสนอให้ ครม.และ สนช.พิจารณาได้ภายในเดือนตุลาคม 2559 และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2560

ติดตามรายละเอียดได้จาก https://goo.gl/zYWe1M

2. สรรพากรเชิญชวนธุรกิจเข้าข่ายเสียภาษีนิติบุคคล

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ปีนี้กรมสรรพากรเร่งขยายฐานภาษีตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลัง โดยเชิญชวนให้ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเพิ่มขึ้น มีการแนะนำให้จัดทำบัญชีชุดเดียวพร้อมเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเข้าสู่ระบบอีเพย์เมนต์ โดยเท่าที่หารือเบื้องต้นร้านขายยาทั้งหมดยินดีมาจดทะเบียนนิติบุคคล

สำหรับการเก็บภาษีผู้ประกอบการค้าขายออนไลน์ หรืออี-คอมเมอร์ซนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างเก็บข้อมูล และหาแนวทางปฏิบัติร่วมกันระหว่างกรมสรรพากร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักระยะ

ติดตามรายละเอียดจาก https://goo.gl/FRdUUJ และ https://goo.gl/e0PkHj

3. กทม.เร่งเก็บภาษีคอนโดฯ ปล่อยเช่าหลังรายได้หลุดเป้า

ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ได้มีคำสั่งเร่งรัดให้สำนักงานเขตในกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต จัดเก็บภาษีแต่ละพื้นที่ให้ครอบคลุมมากขึ้น ล่าสุดให้ขยายฐานการเก็บภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างไปยังคอนโดมิเนียมที่ปล่อยให้เช่าหรือไม่ได้ใช้อยู่อาศัยเอง

ติดตามรายละเอียดจาก  https://goo.gl/JGo25A

4. ลดภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการเกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ดังต่อไปนี้

1) สามารถหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้น ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสินค้าหรือการขายสินค้าหรือการให้บริการในพื้นที่ดังกล่าว โดยไม่รวมการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม เป็นจำนวน 2 เท่าได้

2) ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิ 5 รอบระยะเวลาบัญชี

3) ให้สิทธิบุคคลธรรมดาซึ่งเป็นลูกจ้าง มีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานในอัตราร้อยละ 3 ของเงินได้ โดยไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้พึงประเมินอื่นๆ ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายประกาศกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดจาก https://goo.gl/uxWU79

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 314/2559

ระหว่างบริษัท น.โจทก์
กับกรมสรรพากรจำเลย
เรื่องเงินปันผลที่ได้รับยกเว้นมารวมคำนวณเป็นเงินได้ตามมาตรา65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร   และการหักภาษี ณ ที่จ่าย

 

โจทก์เป็นบริษัทจำกัดจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ในรอบบัญชี (วันที่ 1 ตุลาคม 2549 – 30 กันยายน 2550) โจทก์ ถือหุ้นในบริษัท อ. จำกัด (มหาชน) และบริษัท อ. จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในบริษัทโจทก์เกินกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียง เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2550 บริษัทโจทก์มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลแก่ผู้ถือหุ้น

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 โจทก์ขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท อ. จำกัด (มหาชน) ทั้งหมด  ต่อมาวันที่ 25 พฤศจิกายน 2550 โจทก์ปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อประกาศจ่ายเงินปันผลให้แก่บริษัท อ. จำกัด (มหาชน) เป็นเงินจำนวน 15,988,800 บาท

จำเลยประเมินภาษีว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินปันผลดังกล่าว โดยเนื่องจากโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้รับเงินปันผลในรอบบัญชีที่จ่ายเงินปันผลตามมติ กพอ. ที่ 9/2535 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2535 ที่กำหนดไม่ให้บริษัทจำกัดผู้จ่ายเงินปันผลถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้รับเงินปันผลไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมนั้นหมายถึงไม่ได้ถือหุ้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายเงินปันผล

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย

ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่ามติ กพอ. วางหลักเกณฑ์นอกเหนือไปจากประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (10) บัญญัติ จึงนำมติ กพอ. มาใช้เป็นผลร้ายแก่โจทก์ไม่ได้ ขณะที่โจทก์ปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อประกาศจ่ายเงินปันผล โจทก์ไม่ได้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดผู้รับเงินปันผลไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และเมื่อบริษัท อ. จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในบริษัทโจทก์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทโจทก์ เงินปันผลที่บริษัท อ. จำกัด (มหาชน) ได้รับ จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาเป็นรายได้ทั้งจำนวนตามมาตรา 65 ทวิ (10) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อ 5 แห่งคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528

ความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติม

       คดีนี้เป็นปัญหาการตีความข้อกฎหมายเรื่องการห้ามบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลเข้าไปถือหุ้นในบริษัทผู้รับเงินปันผลไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (10) โดยศาลฎีกาเห็นว่า มติ กพอ. ที่ 9/2535 วางหลักเกณฑ์ที่นอกเหนือไปจากมาตรา 65 ทวิ (10) ดังนั้นจะนำมติ กพอ. ดังกล่าวมาใช้เป็นผลร้ายแก่โจทก์ไม่ได้ ในประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นพ้องกับการวินิจฉัยของศาลฎีกา เพราะประมวลรัษฎากรเป็นกฎหมายมหาชนที่จำกัดสิทธิและบังคับเอาจากทรัพย์สินของประชาชน ดังนั้นจะตีความทางที่จะเป็นผลร้ายให้ประชาชนต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากประมวลรัษฎากรกำหนดไม่ได้

ในเรื่องมติของ กพอ. นั้น ผู้เขียนเห็นว่า มติของ กพอ. เป็นคุณแก่ผู้เสียภาษีอากร การปรับใช้มติของ กพอ. ก็ยังต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 2638/2530 ศาลฎีกาได้วินิจฉัยทำนองว่า มติของ กพอ. มิใช่คำสั่งของกรมสรรพากรให้ต้องถือปฏิบัติเป็นการทั่วไป แต่เป็นการปรับใช้เฉพาะเรื่องเท่านั้น ผู้เขียนเห็นว่า แม้ว่ามติจะเป็นคุณแก่ผู้เสียภาษีรายหนึ่ง หากมีข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของผู้เสียภาษีแตกต่างกันแล้วก็ไม่อาจนำมติที่เป็นคุณดังกล่าวมาปรับใช้ได้

นอกจากนี้ ในคดีนี้จำเลยได้อ้างถึงหนังสือตอบข้อหารือที่ กค.0802/443 ลงวันที่ 12 มกราคม 2536 และ กค.0802(กม)/155 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 ซึ่งทั้งสองฉบับได้อ้างถึงการตีความ กพอ. ข้างต้น ดังนั้นเมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจะนำมติของ กพอ. มาใช้เป็นผลร้ายแก่ผู้เสียภาษีไม่ได้ จึงทำให้หนังสือตอบข้อหารือดังกล่าวไม่สามารถใช้เป็นแนวทางพิจารณาและปฏิบัติเพื่อเสียภาษีอากรได้อีก ดังนั้นผู้เสียภาษีอากรและผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับภาษีอากรจึงจำเป็นต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงของบทบัญญัติกฎหมายภาษีและการบังคับใช้กฎหมายภาษีอากรอย่างต่อเนื่อง

 

นายมนตรี อัจฉริยสกุลชัย

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใด ๆ เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9760 Email: budhimak@dlo.co.th, chatwaleem@dlo.co.th

 

    บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th

 

พุทธิมา เกิดศิริ

+662 680-9751

budhimak@dlo.co.th

 

ชัชวลี ไมตรี

+662 680-9760

chatwaleem@dlo.co.th