• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมิถุนายน 2559

จดหมายข่าวภาษีอากรสำนักกฎหมายธรรมนิติ เดือนมิถุนายน 2559

จดหมายข่าวภาษีสำนักกฎหมายธรรมนิติ

DLO’S Tax Newsletter

ฉบับที่ 66 เดือนมิถุนายน 2559

 

กฎหมายใหม่ล่าสุด

ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ให้แก่กองทุนการออมแห่งชาติ

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 605) และ (ฉบับที่ 606) พ.ศ. 2559 กำหนดให้กิจการกองทุนการออมแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนการออมแห่งชาติเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะและได้รับยกเว้นอากรแสตมป์

ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/0EYPh8 และ http://goo.gl/WoLvaJ

สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกิจการ SME กรณีจ้างนักเรียนหรือนักศึกษาปฏิบัติงานเกี่ยวกับบัญชี

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 607) พ.ศ. 2559 กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งมีสินทรัพย์ถาวร (ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 200 ล้านบาท และมีการจ้างงานไม่เกิน 200 คน สามารถหักรายจ่ายทางภาษีเพิ่มได้อีก 1 เท่า ของรายจ่ายที่ได้จ่ายแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่อยู่ระหว่างศึกษาในแผนกหรือสาขาวิชาบัญชีที่ได้รับการรับรองจากสถาบันการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการสำหรับค่าจ้างให้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับบัญชี

ทั้งนี้ เฉพาะการจ่ายในรอบบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2561 และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/Ev4qIS

ยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ของกิจการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

เดิมมีพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 239), (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534 และพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ให้แก่กิจการของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินและสิทธิเรียกร้องที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นั้น

ปัจจุบันพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 608) (ฉบับที่ 609) และ (ฉบับที่ 610) พ.ศ. 2559 กำหนดให้สิทธิในการได้รับยกเว้นดังกล่าวสิ้นสุดลง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/yWgMmH , http://goo.gl/HfwKsF และ http://goo.gl/z6U6g4

สิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีนิติบุคคลจัดสัมมนาภายในประเทศ

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 611) พ.ศ. 2559 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 267) กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งจ่ายเงินไปเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่ได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือรายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว สามารถหักรายจ่ายทางภาษีเพิ่มได้อีก 1 เท่าของค่าใช้จ่ายนั้น

ทั้งนี้ ต้องเป็นการจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/rnPYOa และ http://goo.gl/sQiIoO

ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้กับสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ

พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 612) พ.ศ. 2559 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 586) พ.ศ. 2558 โดยยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับรายรับจากการบริหารเงินให้แก่วิสาหกิจในเครือ

ทั้งนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/zk7cJK และ http://goo.gl/XSVzNm

กำหนดหลักเกณฑ์การเสียอากรกรณีเช่าอสังหาริมทรัพย์และการจ้างทำของ

ตามที่ได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 54) กำหนดให้การเช่าอสังหาริมทรัพย์และการจ้างทำของระหว่างเอกชนซึ่งมีมูลค่าตามสัญญาตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปต้องชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์นั้น

กรมสรรพากรได้ออกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.153/2559 กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่สรรพากรในเรื่องดังกล่าว พร้อมยกตัวอย่างประกอบเพื่อให้มีความชัดเจนขึ้น

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/pAqJ9h

 

ข่าวภาษี

กระทรวงการคลัง เผยความคืบหน้าการชำระภาษีผ่านระบบ “อีเพย์เมนต์”

รมว. คลัง เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์โครงการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National E-Payment) มีข้อสรุปว่า การจัดเก็บภาษีเงินได้โดยการยื่นภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ (อีเพย์เมนต์) จะเริ่มต้นให้ยื่นในเดือนตุลาคม 2559 โดยจะเริ่มใช้กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กจะเริ่มใช้ในปี 2560

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/nkAbND

ยกเว้นภาษีกรณีโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรและให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีบางกรณี

ครม. มีมติอนุมัติในหลักการเกี่ยวกับการยกเว้นภาษีกรณีโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์จากบิดาให้กับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่รวมบุตรบุญธรรม โดยได้รับยกเว้นคนละ 20 ล้านบาทต่อปีต่อคน

นอกจากนี้ ยังให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีกรณีบริจาคให้แก่กองทุนเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และกรณีที่บริษัทต่างประเทศถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย

ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐบาลจะประกาศกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/H1wWd9

ครม. ปรับปรุงเงื่อนไขการหักรายจ่ายการลงทุน

ครม. มีมติอนุมัติให้มีการปรับปรุงเงื่อนไขการหักรายจ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สิน “ประเภทเครื่องจักรและอาคารถาวรขนาดใหญ่” ซึ่งเดิมทรัพย์สินดังกล่าวต้องได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การได้ตามประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เป็นไม่จำเป็นต้องได้ทรัพย์สินดังกล่าวมาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การได้ตามประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559

ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐบาลจะประกาศกำหนดต่อไป

ติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/Jidh2i

ยื่นงบการเงินฉบับจริงต่อกรมพัฒน์ฯ แล้ว ยังต้องนำส่งงบฯ ทางอิเล็กทรอนิกส์อีกครั้ง

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า นิติบุคคลที่ได้ยื่นงบการเงิน รอบปีบัญชี 2558 ด้วยตนเองหรือนำส่งทางไปรษณีย์แล้ว จะต้องยื่นงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) อีกครั้งหนึ่ง
ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 นี้

โปรดติดตามรายละเอียดได้จาก http://goo.gl/7a9ydL

 

คำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่   15345/2558

ระหว่าง    บริษัท ม .                                     โจทก์

กับ          กรมสรรพากร                                จำเลย

เรื่อง        การคำนวณกำไรหรือขาดทุนของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

โจทก์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 1 ตุลาคม 2529 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2530 ถึงรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 1 เมษายน 2541 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2542 รวมทั้งสิ้น 44 โครงการ ซึ่งโจทก์ได้ยื่น ภ.ง.ด. 50 ( ยื่นปกติ ) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวและได้ชำระภาษีไว้แล้ว แต่โจทก์ยังมิได้ใช้สิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฯ เนื่องจากสิทธิประโยชน์ดังกล่าวมีความซับซ้อนและไม่ชัดเจน โดยรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุด วันที่ 31 มีนาคม 2542 โจทก์ได้แสดงรายการผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญชีจำนวน 1,038,804,177 บาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ได้ยื่น ภ.ง.ด. 50 ( ยื่นเพิ่มเติม ) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว ซึ่งโจทก์นำผลขาดทุนของโครงการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนรายโครงการมาใช้คำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุด วันที่ 31 มีนาคม 2541 และสิ้นสุดลง วันที่ 31 มีนาคม 2542 โดยแสดงรายการผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญชีจำนวน 4,532,611,630 บาท

จำเลยประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบบัญชีสิ้นสุด วันที่ 31 มีนาคม 2541 และสิ้นสุด วันที่ 31 มีนาคม 2542 โดยให้นำรายได้และรายจ่ายทุกโครงการในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันมาคำนวณรวมกัน จึงนำผลขาดทุนสุทธิยกไปหักได้ไม่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญชี ทั้งนี้ แม้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเคยมีคำวินิจฉัยว่าให้หักผลขาดทุนเป็นรายโครงการ แต่ท้ายที่สุดแล้วได้มีการนำคดีนี้ขึ้นสู่ศาลและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของจำเลย

ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยเห็นว่า พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฯ และประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป.13/2541 ไม่ได้กำหนดวิธีการคำนวณกำไรหรือขาดทุนเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ ดังนั้น บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนย่อมต้องอยู่ภายใต้บังคับของประมวลรัษฎากร การที่จำเลยนำมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร มาคำนวณผลกำไรหรือขาดทุนของโจทก์ โดยพิจารณาจากกิจการของโจทก์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนทุกโครงการเพราะเป็นนิติบุคคลเดียวกัน จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ความเห็นทางกฎหมายเพิ่มเติม

จากคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น นอกจากสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่โจทก์ได้รับภายใต้ พ.ร.บ. ดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังได้รับสิทธิให้นำผลขาดทุนประจำปีของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่เกิดขึ้นในระหว่างระยะเวลาที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยมีกำหนดไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฯ

เมื่อครบกำหนดเวลาที่กิจการของโจทก์ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โจทก์ได้นำผลขาดทุนจากกิจการแต่ละโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมาคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุด วันที่ 31 มีนาคม 2541 และสิ้นสุด วันที่ 31 มีนาคม 2542 ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลเดียวและประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 44 โครงการ ต้องคำนวณผลกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิรวมกัน หากมีผลขาดทุนสุทธิเท่าใดจึงนำไปหักออกจากกำไรสุทธิในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาศาลฎีกา

ผู้เขียนมีความเห็นที่แตกต่างออกไป จึงขอเสนอความเห็นส่วนตัวด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้

ประการแรก พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฯ ให้สิทธิประโยชน์เฉพาะกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเท่านั้น มิใช่ว่าเมื่อนิติบุคคลใดได้รับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว จะได้รับสิทธิประโยชน์ครอบคลุมทุกกิจการ จึงแสดงให้เห็นว่า กฎหมายฉบับนี้มุ่งให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่โครงการนั้น ๆ มิใช่แก่ตัวนิติบุคคล ดังนั้น การที่ศาลกำหนดให้นิติบุคคลผู้ได้รับสิทธินำกำไรขาดทุนของทุกโครงการไปรวมคำนวณจึงน่าจะขัดแย้งกับวัตถุประสงค์หลักของ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฯ

ประการที่สอง หากผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนต้องคำนวณกำไรสุทธิรวมทุกโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน การดำเนินการดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการใช้สิทธิทางภาษีระหว่างผู้ลงทุนเพียงหนึ่งโครงการกับผู้ลงทุนหลายโครงการ กล่าวคือ ผู้ลงทุนเพียงโครงการเดียวจะได้รับสิทธิหักผลขาดทุนที่เกิดในระหว่างได้รับสิทธิอย่างเต็มที่ ในขณะที่ผู้ลงทุนหลายโครงการต้องนำผลขาดทุนและกำไรจากต่างโครงการมาหักลบกันก่อนจึงจะได้รับสิทธินำไปหักออกจากกำไรสุทธิในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

ประการที่สาม การคำนวณกำไรขาดทุนจากผลรวมของทุกโครงการนั้น หากอายุของโครงการส่งเสริมการลงทุนที่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้รับนั้นมิได้ครบกำหนดพร้อมกันทุกโครงการ อาจเกิดปัญหาว่า จะคำนวณกำไรขาดทุนรวมทุกโครงการซึ่งบางโครงการหมดอายุลงแล้วอย่างไร

ประการสุดท้าย นโยบายสำหรับการลงทุนดังกล่าว ให้สิทธิผู้เสียภาษีได้รับสิทธิประโยชน์หักผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนภายหลังเมื่อสิ้นระยะเวลาการส่งเสริมการลงทุน โดยมิได้มุ่งให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนแต่เพียงอย่างเดียว ยังมุ่งให้สิทธิประโยชน์แก่โครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ในประเทศ เพื่อจูงใจผู้ลงทุนชาวต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นอันจะนำมาซึ่งการพัฒนาศักยภาพของประเทศชาติให้มีความก้าวหน้าในทางอุตสาหกรรม ดังนั้น เมื่อศาลมีคำพิพากษาในเชิงลงโทษผู้เสียภาษีให้สิ้นสิทธิที่ควรจะได้รับตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนฯ แล้ว ก็อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจไม่ลงทุนในประเทศไทย หรือย้ายการลงทุนไปยังประเทศอื่น และอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในอนาคต

นอกจากนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ออกมานั้น มีลักษณะเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นหน่วยงานของภาครัฐ ที่มีคำวินิจฉัยให้สามารถหักผลขาดทุนเป็นรายโครงการได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจะมีความมั่นใจได้อย่างไรว่า คำวินิจฉัยอื่น ๆ ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง สามารถยึดเป็นแนวปฏิบัติได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอเสนอแนะว่า กรมสรรพากรและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ควรร่วมมือกันในการกำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการคำนวณกำไรหรือขาดทุนของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กรทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานของภาครัฐ และสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน

นายราชศักดิ์ กุลกัลยา
ที่ปรึกษาภาษีอากร

 

หากท่านมีคำถามหรือข้อสงสัยเพิ่มเติมใดๆเกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท สำนักกฎหมายธรรมนิติ จำกัด 2/2 อาคารภักดี ชั้น 2 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ 0-2680-9751, 0-2680-9753 Email:  budhimak@dlo.co.th, sureelukt@dlo.co.th

    บริการกฎหมายภาษีอากร :

1. งานให้คำปรึกษาภาษี

2. งานขอคืนภาษี

3. งานวางแผนภาษี

4. งานตรวจสอบภาษี

5. งานกรอกแบบแสดงรายการภาษี

6. งานให้ปากคำแก่เจ้าหน้าที่

7. งานอุทธรณ์การประเมินภาษี

8. งานคดีภาษีอากร

    เป็นต้น

 

สอบถามบริการโปรดติดต่อ :

กัมพล ทรัพย์ปรุง

+662 680-9724

kamphols@dlo.co.th

 

พุทธิมา เกิดศิริ

+662 680-9751

budhimak@dlo.co.th

 

สุรีย์ลักษณ์ ธนากิจไพศาล

+662 680-9753

sureelukt@dlo.co.th