พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉบับที่ 26 พศ.2558 เรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2558 โดยให้มีผลใช้บังคับในอีก 240 วันถัดไปคือวันที่ 4 ธันวาคม 2558
(ภาพชาวบ้านประท้วงเหมืองแร่โปแตซ จาก ประชาไท )
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ การดําเนินคดีแบบกลุ่มเป็นกระบวนการดําเนินคดี ที่เพิ่มประสิทธิภาพในการอํานวยความยุติธรรมต่อประชาชน เนื่องจากเป็นวิธีการที่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจํานวนมากได้ในการดําเนินคดีเพียงคดีเดียว สามารถอํานวยความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายที่ไม่มีความสามารถฟ้องคดีเพื่อเยียวยาความเสียหายด้วยตนเองหรือผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจํานวนเพียงเล็กน้อย เช่น คดีที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย
การดําเนินคดีแบบกลุ่ม จึงเป็นมาตรการที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาสในสังคม เป็นวิธีการที่ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ลดความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดีและป้องกันการขัดแย้งกันของคําพิพากษา เป็นมาตรการในการลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทางหนึ่ง จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเพื่อกําหนดกระบวนพิจารณาแบบกลุ่มขึ้น
พรบ.การดำเนินคดีแบบกลุ่มนี้ได้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการในการดำเนินคดีแบบกลุ่มไว้โดยเฉพาะ โดยคดีประเภทที่อาจใช้วิธีพิจารณาแบบกลุ่มได้เป็นคดีที่มีสมาชิกกลุ่มจํานวนมาก คือ
(๑) คดีละเมิด (๒) คดีผิดสัญญา (๓) คดีเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค แรงงาน หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ การแข่งขันทางการค้า ( ม. ๒๒๒/๘ )
กฎหมายนี้ได้กำหนดวิธีการพิจารณาคดีที่ทันสมัยหลายอย่าง ทำนองเดียวกับวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค วิธีพิจารณาคดีปกครอง เช่น การใช้วิธีพิจารณาแบบไต่สวน การให้อำนาจศาลในการเรียกพยานหลักฐานจากผู้เกี่ยวข้องเข้ามาในคดี คำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่มต้องได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว หากจะถอนฟ้องก็ต้องได้รับอนุยาตจากศาลด้วย การใช้บันทึกคำพยาน ฯลฯ โดยผลคำพิพากษาคดีแบบกลุ่มสามารถใช้กับสมาชิกทั้งกลุ่ม แม้เป็นบุคคลนอกคดี ซึ่งเป็นการยกเว้นหลักทั่วไปที่ว่า “คำพิพากษาผูกพันเฉพาะคู่ความในคดี”
บทมาตราที่น่าสนใจ เช่น
มาตรา ๒๒๒/๑ “กลุ่มบุคคล” หมายความว่า บุคคลหลายคนที่มีสิทธิอย่างเดียวกันอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกัน และมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มเหมือนกัน แม้ว่าจะมีลักษณะของความเสียหายที่แตกต่างกันก็ตาม
“การดําเนินคดีแบบกลุ่ม” หมายความว่า การดําเนินคดีที่ศาลอนุญาตให้เสนอคําฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาแสดงสิทธิของโจทก์และสมาชิกกลุ่ม
มาตรา ๒๒๒/๙ ในการร้องขอให้ดําเนินคดีแบบกลุ่มให้โจทก์ยื่นคําร้องต่อศาลพร้อมกับคําฟ้องเริ่มคดี เพื่อขอให้ดําเนินคดีแบบกลุ่มได้ตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ คําร้องขอให้ดําเนินคดีแบบกลุ่มตามวรรคหนึ่ง โจทก์ต้องแสดงเหตุตามสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้ดําเนินคดีแบบกลุ่ม
มาตรา ๒๒๒/๒๘ เมื่อศาลมีคําสั่งอนุญาตให้ดําเนินคดีแบบกลุ่มแล้วโจทก์จะถอนคําฟ้องไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต ในกรณีที่จําเลยยื่นคําให้การแล้ว ห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องโดยมิได้ฟังจําเลยก่อน
มาตรา ๒๒๒/๓๕ คําพิพากษาของศาลมีผลเป็นการผูกพันคู่ความและสมาชิกกลุ่มและในกรณี ที่ศาลมีคําพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ให้โจทก์หรือทนายความฝ่ายโจทก์มีอํานาจดําเนินการบังคับคดี แทนโจทก์และสมาชิกกลุ่ม
มาตรา ๒๒๒/๓๘ ในกรณีที่ศาลมีคําพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ให้ศาลมีอํานาจกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปฏิบัติตามคําพิพากษา โดยจะกําหนดไว้ในคําพิพากษาหรือโดยคําสั่ง ในภายหลังก็ได้ และในระหว่างการบังคับคดี ให้ศาลมีอํานาจออกคําบังคับเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตาม คําพิพากษาได้ตามที่เห็นสมควร
มาตรา ๒๒๒/๔๕ ให้คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาล โดยไม่นํา ข้อจํากัดสิทธิเรื่องทุนทรัพย์ของการอุทธรณ์และฎีกาในข้อเท็จจริงมาใช้บังคับ
มาตรา ๒๒๒/๔๖ สมาชิกกลุ่มไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาล ยกเว้น ในกรณีตามมาตรา ๒๒๒/๔๒
ดู พรบ.ฉบับเต็มได้ตามลิ้งด้านล่าง