พรบ.การทวงถามหนี้ พศ.2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 6 มีค 2558 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนด 180 วันนับแต่วันประกาศคือตั้งแต่วันที่ 2 กย.ศกนี้เป็นต้นไป เพื่อป้องกันและแก้ไขการทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ เช่น การใช้ถ้อยคําที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคาม ขู่เข็ญ ใช้กําลังประทุษร้าย หรือการทําให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จและการสร้างความเดือดร้อนรําคาญให้แก่บุคคลอื่น มีสาระสำคัญ ดังนี้
( ที่มาของภาพ Chris Potter )
1.นิยาม “ผู้ทวงถามหนี้” ได้แก่ เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้จัดให้มีการเล่นการพนันเป็นปกติธุระตามกฎหมายว่าด้วยการพนันและเจ้าหนี้อื่น ซึ่งมีสิทธิรับชําระหนี้อันเกิดจากการกระทําที่เป็นทางการค้าปกติหรือเป็นปกติธุระของเจ้าหนี้ ทั้งนี้ ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึง ผู้รับมอบอํานาจจากเจ้าหนี้ดังกล่าว ผู้รับมอบอํานาจช่วงในการทวงถามหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้และผู้รับมอบอํานาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ด้วย และ “ธุรกิจทวงถามหนี้” คือ การรับจ้างทวงถามหนี้ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมเป็นปกติธุระ แต่ไม่รวมถึงการทวงถามหนี้ของทนายความซึ่งกระทําแทนลูกความของตน (มาตรา 3)
2. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้จะ ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียน ตามที่กฎกระทรวงกําหนด หากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้เป็นทนายความหรือสํานักงานทนายความให้คณะกรรมการสภาทนายความทําหน้าที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน (มาตรา 5-6)
3 ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่น เว้นแต่เป็นบุคคลที่ลูกหนี้ได้ระบุไว้ รวมทั้งกำหนดวิธีติดต่อสอบถามข้อมูลลูกหนี้จากบุคคลอื่น (มาตรา 8)
4. กำหนดข้อปฏิบัติในการทวงถามหนี้ตามที่กฏหมายนี้กำหนด เช่น สถานที่ติดต่อ เวลาในการติดต่อ จํานวนครั้งที่ติดต่อ ให้ผู้ทวงถามหนี้แจ้งชื่อตัวและชื่อสกุล หรือชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ จํานวนหนี้ และ หลักฐานการมอบอํานาจ (ถ้ามี) (มาตรา 9)
5. ห้ามทวงถามหนี้โดยการใช้ความรุนแรง หรือใช้วิธีที่ไม่เหมาะสม เช่น
(1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทําอื่นใดที่ทําให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น
(2) การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น
(3) การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา 8 วรรคสอง
(4) การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจํานองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น หรือกรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด
(5) การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทําให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหน
(6) การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกศกําหนด
ความใน (5) มิให้นํามาใช้บังคับกับการทวงถามหนี้เป็นหนังสือเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล (มาตรา 11)
6. ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทําการทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จ หรือทําให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น แสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทําให้เข้าใจว่าเป็นการกระทําของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือทนายความ สํานักงานทนายความ หรือสํานักงานกฎหมาย เป็นต้น (มาตรา 12)
7. ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม เช่น เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกําหนด เสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่ สามารถชําระหนี้ได้ (มาตรา 13)
8. ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ทวงถามหนี้หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ ซึ่งไม่ใช่หนี้ของตน หรือของสามี หรือภริยา หรือบุพการี หรือผู้สืบสันดาน เว้นแต่มีอํานาจทวงหนี้ได้ตามกฎหมาย (มาตรา 14)
9. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกํากับการทวงถามหนี้” มีอํานาจหน้าที่ในการกํากับดูแลการทวงถามหนี้ของผู้ทวงถามหนี้ (มาตรา 15)
10.การฝ่าฝืนคำสั่งของคณะกรรมการกํากับการทวงถามหนี้ ที่ออกคำสั่งตามกฎหมายหมายนี้ อาจถูกลงโทษปรับทางปกครองและถูกเพิกถอนการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ (มาตรา 34-38) และ การฝ่าฝืนต่อกฎหมายนี้ อาจต้องรับผิดทางอาญา ซึ่งมีทั้งโทษจำคุกและปรับ (มาตรา 39-45)
ข้อมูลเพิ่มเติม ดู พรบ.ฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษา และรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ตามลิ้งด้านล่างนี้