• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • พระราชบัญญัติเรื่องการค้ำประกันและจำนองฉบับใหม่ มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 12 กพ.2558 เป็นต้นไป

พระราชบัญญัติเรื่องการค้ำประกันและจำนองฉบับใหม่ มีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 12 กพ.2558 เป็นต้นไป

พระราชบัญญัติเรื่องการค้ำประกันและจำนองฉบับใหม่  (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ 20) ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 พย. 2557 ที่ผ่านมา มีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 90 วันคือตั้งแต่วันที่ 12 กพ.2558 เป็นต้นไป 

พระราชบัญญัติใหม่นี้ มีเจตนาแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการค้ำประกันและจำนองของไทยให้ทันสมัยและเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายมากยิ่งขึ้น โดยป้องกันไม่ให้สถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืม ใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่า ทำสัญญาค้ำประกันและจำนองที่มีข้อตกลง ยกเว้นบทบัญญัติของกฎหมายและเอาเปรียบผู้ค้ำประกันและผู้จำนองจนเกินสมควร 

สาระสำคัญของ พรบ.ฉบับนี้ คือ

1.ให้บรรดาข้อตกลงที่ให้ผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หรือแตกต่างจากบทบัญญัติตามมาตรา 681 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม มาตรา 694 มาตรา 698 และ มาตรา 699  เป็นโมฆะ

2.ให้ผู้ค้ำประกันได้รับประโยชน์จากการที่เจ้าหนี้ให้ประโยชน์หรือผ่อนปรนต่อลูกหนี้ เช่น การลดหนี้ การลดค่าดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพัน ซึ่งเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น เป็นต้น

3.ผู้ค้ำประกันที่เป็นสถาบันการเงินหรือค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระ สามารถทำข้อตกลงไว้ล่วงหน้ายินยอมให้มีการผ่อนเวลาได้

4.ให้ผู้จำนองมีสิทธิทำนองเดียวกับผู้ค้ำประกัน ไม่ต้องรับผิดในหนี้เกินกว่าราคาทรัพย์สินที่จํานอง และมีสิทธิขอให้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองโดยไม่ต้องฟ้องคดีได้

5. ให้สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองที่ทำขึ้นก่อนวันที่ พรบ.นี้ใช้บังคับสามารถใช้บังคับได้ต่อไป เว้นแต่ พรบ.นี้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

 พรบ.นี้ มี 24 มาตรา ดูฉบับเต็มได้ตามลิ้งด้านล่าง

https://www.dlo.co.th/files/Gurantee_Morgage.PDF