• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • เปิดร่าง กม.ภาษีมรดก เก็บร้อยละ 10 ส่วนที่เกิน 50 ล้าน-จำคุก 2 ปี ปรับ 4 แสน ผู้หลีกเลี่ยง

เปิดร่าง กม.ภาษีมรดก เก็บร้อยละ 10 ส่วนที่เกิน 50 ล้าน-จำคุก 2 ปี ปรับ 4 แสน ผู้หลีกเลี่ยง

เปิดเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก หลัง ครม. เห็นชอบ เสนอเข้า สนช. ให้เก็บร้อยละ 10 จากมูลค่ามรดกส่วนที่เกิน 50 ล้าน คาดโทษปรับ 5 แสน ผู้ไม่ยื่นเสียภาษี และปรับ 4 แสน – จำคุก 2 ปี ผู้หลีกเลี่ยง พร้อมแก้ประมวลรัษฎากร โอนทรัพย์สินให้บุตรต้องเสียภาษีร้อยละ 5 ในส่วนที่เกิน 10 ล้าน คาดใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ประกาศใช้
       
หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมายืนยันว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. … ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างภาษีที่เกี่ยวกับมรดกและภาษีที่เกี่ยวกับการยกให้ ซึ่งที่ประชุมมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่า กฎหมายดังกล่าวจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 6 เดือน จึงมีผลบังคับใช้ โดยต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติราว 3 เดือน และลงประกาศในราชกิจจาก่อน 90 วัน
       
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. … หรือ ร่างกฎหมายภาษีมรดก ที่เสนอคณะรัฐมนตรีนั้น กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง เป็นผู้เสนอ ภายหลังได้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษพิจารณาเห็นชอบ และเคยมีกำหนดจะเสนอ ครม. ในวันที่ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา แต่เลื่อนมาเสนอในวันนี้ (18 พ.ย.) คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษได้พิจารณาปรับปรุงรายละเอียดร่างกฎหมายถึง 25 ประเด็นด้วยกัน โดยแก้ไขในกรณีการบริจาคทรัพย์สินเพื่อการศึกษาจะได้รับยกเว้นภาษี
       
ในส่วนของอัตราภาษีนั้นมีข้อเสนอการจัดเก็บอยู่ที่ 10% สำหรับการรับมรดก (ผู้ให้เสียชีวิต) กรณีทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท และเสนอจัดเก็บภาษี 5% สำหรับการรับ (ผู้ให้ยังมีชีวิต) ทรัพย์สินที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป โดยทรัพย์สินที่จะโดนเรียกเก็บภาษีมรดกนั้นจะประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์ และ สังหาริมทรัพย์ ทุกประเภท รายละเอียดของกฎหมาย และอัตราการจัดเก็บดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้ในขั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่คาดว่าจะไม่เกิน 10%
       
สำหรับเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. … มีโดยสรุปดังนี้
       
กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสียภาษีการรับมรดก โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และไม่ใช้บังคับแก่มรดกที่เจ้ามรดกได้ตายก่อนวันที่ร่างพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และมรดกที่คู่สมรสของเจ้ามรดกได้รับจากเจ้ามรดก ดังนี้
       
1) กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก ได้แก่ บุคคลผู้มีสัญชาติไทย ผู้มิได้มีสัญชาติไทย แต่มีภูมิลำเนา หรือมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาสามปีติดต่อกันถึงวันมีสิทธิได้รับมรดก และบุคคลผู้มิได้มีสัญชาติไทย แต่ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย
       
2) กำหนดให้มูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก ผู้ได้รับมรดกไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้าแต่ละรายรวมกันแล้วมีมูลค่าเกินห้าสิบล้านบาทต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกินห้าสิบล้านบาท ซึ่งมูลค่ามรดกนี้หมายถึงมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับเป็นมรดกหักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดกนั้น
       
3) กำหนดบทยกเว้นการเสียภาษีการรับมรดกให้แก่บุคคลหรือองค์กรที่ได้รับมรดก ได้แก่ บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่าประสงค์ให้ใช้มรดกนั้น เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ หน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์โดยให้กำหนดเป็นกฎกระทรวง
       
4) กำหนดอัตราภาษีสำหรับการเสียภาษีการรับมรดก ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก ต้องคำนวณและเสียภาษีในอัตราร้อยละสิบของมูลค่ามรดกในส่วนที่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้ อัตราร้อยละสิบดังกล่าวจะตราพระราชกฤษฎีกาลดลงตามที่เห็นสมควรก็ได้
       
5) กำหนดการยื่นแบบการชำระภาษีและการประเมินภาษีการรับมรดก
       
6) กำหนดความผิดและลงโทษสำหรับการกระทำความผิดหรือการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย เช่น กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีโดยไม่มีเหตุอันสมควรต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท กรณีทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสี่แสนบาท และกรณีผู้ใดโดยความเท็จ โดยเจตนาละเลย โดยฉ้อโกงหรือใช้อุบายโดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด หลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นต้น
       
นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อจัดเก็บภาษีเงินได้จากการรับให้ อันเป็นการสอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีรับมรดก ดังนี้
       
1) กำหนดให้เงินได้ที่ได้รับจากการรับมรดกได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้
       
2) กำหนดให้ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้ส่วนที่เกินสิบล้านบาทโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีได้ สำหรับเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมที่ไม่ได้รับยกเว้น
       
3) กำหนดให้การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมให้ผู้โอนหักภาษีไว้ร้อยละ 5 ของเงินได้เฉพาะในส่วนที่เกินสิบล้านบาท
       
4) กำหนดบทเฉพาะกาล ให้การเสียภาษีเงินได้ในส่วนของเงินได้พึงประเมินที่ไม่ได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ให้คิดเฉพาะเงินได้ที่ได้รับมาภายหลังวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์