สรรพากรเล็งโกยรายได้แวตทั้งปี 40% เผยไม่หนักใจการจัดเก็บรายได้ มั่นใจเป็นไปตามเป้า ขณะที่จัดทำแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นภาษาอังกฤษเป็นปีแรก ตอกย้ำความเป็นสากลรองรับเออีซี
เมื่อวันที่ 15 ม.ค. นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวภายหลังการเป็นประธานเปิดการสัมมนาการยื่นแบบ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาฉบับภาษาอังกฤษว่า ในปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ทางกรมสรรพากรจัดทำแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91) ฉบับภาษาอังกฤษ พร้อมคำอธิบายแนะนำวิธีการกรอกแบบเป็นภาษาอังกฤษเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ให้แก่ผู้เสียภาษีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยได้มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถยื่นแบบพร้อมชำระภาษีได้อย่างถูกต้อง ซึ่งการสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งบริการที่กรมสรรพากรตั้งใจมอบให้แก่ผู้เสียภาษีและประชาชนซึ่งเป็นลูกค้าคนสำคัญและเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 อีกด้วย
“การจัดสัมมนาดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้แก่ผู้เสียภาษีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และคำอธิบายวิธีการกรอกแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91) ฉบับภาษาอังกฤษ ของปีภาษี 2555 ที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค.56” นายสาธิต กล่าว
นายสาธิต กล่าวถึงผลการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 56 ว่า ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ ณ ปัจจุบันถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเติบโตได้ในอัตรา 10% กว่า จึงถือว่าไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม ทางกรมฯ ก็ไม่ได้ประมาทหรือนิ่งนอนใจ โดยมีการสั่งการไปยังสรรพากรทุกพื้นที่ ให้ดูแลรวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลเป็นรายกลุ่มธุรกิจว่า กลุ่มใดเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพบ้าง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยทำให้การจัดเก็บภาษีไม่รั่วไหลและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปีนี้ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ทั้งระบบจะเติบโตได้ประมาณ 9.7% โดยเป็นการจัดเก็บรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ประมาณ 40% ของรายได้ รวมภาษีเงินได้นิติบุคคล 30% ของรายได้รวมและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อีกประมาณ 30% ของรายได้รวม
“ในปีนี้ไม่หนักใจเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร ที่ตั้งเป้าทั้งปีอยู่ที่ 1.774 ล้านล้านบาท โดยมั่นใจว่ารายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะอยู่ในเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ คาดว่ารายได้จากแวตน่าจะจัดเก็บได้มากที่สุดประมาณ 40% กว่าๆ จากมาตรการของรัฐที่ออกมาช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้ว่าการแยกยื่นภาษีสามีภรรยาจะทำให้กรมฯ สูญเสียรายได้ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท แต่ก็ไม่รู้สึกหนักใจ เพราะจากปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจดีอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการให้แยกยื่นภาษีฯ รายได้ของกรมฯ ก็เติบโตได้ดีอยู่แล้ว” นายสาธิต กล่าว
ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ