เปิดคำวินิจฉัยศาล – 2 พ.ร.ก.กู้เงินไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

เปิดคำวินิจฉัยศาล-2พ.ร.ก.กู้เงินไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

หมายเหตุ : วันที่ 22 ก.พ. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีคำร้องพ.ร.ก.
2 ฉบับ คือ
1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555
และ
2. พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้
เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินพ.ศ.2555 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่



โดยศาลเห็นว่าพ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำตัดสินมีดังนี้

——-

1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555


ประเด็นที่พิจารณาว่า การตราพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ
เป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือ
ป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 1 หรือไม่



เห็นว่าการตราพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ
เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาอุทกภัย
รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้แก่นักลงทุนและประชาชนโดยทั่วไป

เนื่องจากปัญหาอุทกภัยดังกล่าวได้สร้างความเสียหายต่อระบบ
เศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง
และมีความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะความเสียหายที่เกิดกับผู้ประกอบกิจการนิคมอุตสาหกรรม มีโรงงานได้รับผลกระทบ 841
โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบของอุตสาหกรรมของประเทศ เช่น ยานยนต์
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร และเครื่องดื่ม เป็นต้น
เป็นผลให้กระทบต่อเศรษฐกิจของโลก เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมดังกล่าว

หากรัฐบาลไม่มีมาตรการป้องกันปัญหาอุทกภัยที่จะสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนแล้ว
ผู้ประกอบกิจการในพื้นที่น้ำท่วมอาจตัดสินใจย้ายสถานที่ประกอบการไปอยู่ต่างประเทศ อันอาจจะเกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศโดยส่วนรวม

จึงเห็นว่าการตราพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ
เป็นกรณีเพื่อประโยชน์รักษากรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศหรือป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184
วรรค 1

 
ประเด็นที่พิจารณาว่าการตราพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ
เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้
ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 2 หรือไม่



เห็นว่าปัญหาอุทกภัยที่ผ่านมา
รัฐบาลได้ใช้ทรัพยากรเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาช่วยเหลือ เยียวยา
ผู้ประสบภัย ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรม รวมทั้งปรับปรุงซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานโดยใช้เงินงบประมาณและทรัพยากรอื่นๆ ไปเป็นจำนวนมาก แม้รัฐบาลจะมีพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2555
มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ.2555
เป็นเครื่องมือสำคัญแก้ไขปัญหาเพื่อฟื้นฟูประเทศ โดยเฉพาะการตั้งงบประมาณรายจ่ายในงบกลางจำนวน 1.2 แสนล้านบาท
และในส่วนเงินสำรองรายจ่ายฉุกเฉินจำนวน 6.6
หมื่นล้านบาทที่ตั้งไว้ที่กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ นั้น รัฐบาลได้อนุมัติเงินบางส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาเป็นการเฉพาะหน้าไปแล้ว

อีกทั้งจะให้รัฐบาลเพิ่มวงเงินขาดดุลงบประมาณอีกจำนวน 1.5 แสนล้านบาท ไว้ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายดังกล่าว ก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะล่วงเลยระยะเวลาที่หน่วยงานต้องส่งคำของบประมาณให้สำนักงบประมาณ และเกินกรอบวงเงินและประมาณการรายจ่ายประจำปีที่กำหนดไว้ หรือหากจัดทำเป็นร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2555 เพิ่มเติม
ซึ่งการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวใช้ระยะเวลาพิจารณาค่อนข้างนาน
ไม่ทันต่อสถานการณ์ที่รัฐบาลต้องดำเนินการป้องกันภัยพิบัติอันเกิดจากอุทกภัยโดยเร่งด่วน ซึ่งมีสัญญาณบ่งชี้ว่าในปี 2556 ประเทศไทยอาจเกิดวิกฤตปัญหาอุทกภัยขึ้นอีก

การที่รัฐบาลจัดให้มีการดำเนินการวางระบบบริหารจัดการน้ำตามยุทธศาสตร์การบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาแบบบูรณาการและยั่งยืนที่จะต้องใช้เงินจำนวน 3.5 แสนล้านบาทตามพ.ร.ก. และเป็นการป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้จะถึง

จึงเห็นว่าการตราพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ
เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้
ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 2

2.พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555


ประเด็นการพิจารณาว่า การตราพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯ
เป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ
ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 1 หรือไม่

เห็นว่ารัฐบาลมีความพยายามแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาล
เนื่องจากกระทรวงการคลังต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายอันเป็นเงินภาษีของประชาชน
เพื่อชำระหนี้ เงินต้น หรือดอกเบี้ยอันเกิดจากวิกฤตทางการเงินเมื่อปี 2540 รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายชำระดอกเบี้ยของหนี้เงินกู้ดังกล่าวตลอดระยะเวลา 15
ปี เป็นเงินงบประมาณถึง 6.7 แสนล้านบาท แต่ชำระเงินต้นไปได้เพียง 13%
ของหนี้เงินกู้ ซึ่งในปัจจุบันยังมีหนี้ค้างชำระอยู่ถึง 1.14 ล้านล้านบาท

หากรัฐบาลต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวต่อไปอีก
ย่อมเป็นภาระต่องบประมาณที่รัฐบาลต้องจัดหามาให้ในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปีพ.ศ.2555 รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณรายจ่าย
เพื่อชำระดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวเป็นเงิน 6.8 หมื่นล้านบาท
ทำให้รัฐบาลมีเงินสำหรับลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจและสังคมน้อยลง การนำส่งเงินที่สถาบันการเงินส่งให้ธปท.ไม่เกิน 1%
ของยอดเงินที่สถาบันการเงินได้รับจากประชาชน
ย่อมเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้เงินกู้ที่รัฐบาลนำมาช่วยเหลือสถาบันการเงินอย่างเป็นระบบ และเป็นผลให้รัฐบาลมีเงินงบประมาณที่ไม่ต้องจัดสรรไปชำระดอกเบี้ยเงินกู้ในแต่ละปีเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ

จึงเห็นว่าพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯ
เป็นกรณีเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 1


ประเด็นการพิจารณาว่า การตราพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯ
เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้
ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 2 หรือไม่

เห็นว่าปัญหาวิกฤตทางการเงินแม้จะเกิดขึ้นเป็นเวลากว่า 15 ปี
แต่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังไม่สัมฤทธิ์ผลความเสียหายที่กองทุนเพื่อการ
ฟื้นฟูฯ ต้องรับภาระหนี้อยู่ แต่กระทรวงการคลังยังมีเงินค้างชำระ
อีก 87% หรือเป็นเงินจำนวน 1.14 ล้านบาท
และได้ชำระดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2554 ไปแล้ว เป็นเงิน 6.7
แสนล้านบาท

สำหรับการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าว
หากเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างเงินงบประมาณเพื่อชำระดอกเบี้ยเงินกู้
กับงบประมาณรายจ่ายประจำปีพ.ศ.2555 ที่ตั้งไว้วงเงิน 2.3 ล้านล้านบาท
จะคิดเป็นสัดส่วน 2.9% ของงบประมาณรายจ่าย

แต่หากคิดเป็นสัดส่วน
ต่องบลงทุนที่ตั้งไว้วงเงิน 4.2 แสนล้านบาทแล้ว จะคิดเป็น 16.2% ของงบลงทุน
ถือว่าเป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญต่อการลงทุนของประเทศ รัฐบาลสามารถ
นำเงินที่ต้องชำระดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวประมาณ 6
หมื่นล้านบาทมาลงทุนในแผนงาน และโครงการต่างๆ
เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนหรือนำไปลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ โดยรัฐบาลไม่ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายชำระดอกเบี้ยในปีงบประมาณต่อๆ ไป ประกอบกับรัฐบาลต้องการบังคับใช้พ.ร.ก. ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯ ตั้งแต่ปี
2555
เพื่อให้มีเวลาเตรียมการเรียกเก็บเงินจากกองทุนคุ้มครองเงินฝากสำหรับรอบ 6
เดือนแรกของปีพ.ศ.2555

รัฐบาลจะได้ไม่ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อ
ชำระหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวในการจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปีพ.ศ.2556
ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของส่วนราชการในช่วงเดือนก.พ.2555 และ
ตามพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ
ตามที่ได้วินิจฉัยแล้วว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 1 และ 2
แม้ว่าผู้แทนนายกรัฐมนตรี (กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรมว.คลัง)
ในฐานะคณะรัฐมนตรีจะแถลงรับว่าไม่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการเมืองที่จะตรา
พ.ร.ก. ในระหว่างปิดสมัยประชุมรัฐสภาก็ตาม แต่ได้ให้เห็นเหตุผลว่า
ต้องรอคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องศึกษาและกำหนดรายละเอียดในการจัดทำโครงการ
ก่อนจึงนำเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งน่าจะแสดงความสุจริตได้ด้วยว่า
ไม่ได้อาศัยโอกาสที่อาจอ้างเหตุผลทางการเมืองได้แต่อย่างใด

 

ศาลได้พิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหมดประกอบกันแล้วเห็นว่า

การ
ตราพ.ร.ก.ทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ถึงกับเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
แต่ความจำเป็นดังกล่าวเกิดขึ้นอันมีสาเหตุมาจากวิกฤตการณ์อุทกภัยจริง
และมีความจำเป็นรีบด่วนในการใช้มาตรการป้องกันและเยียวยา ประกอบกับในชั้นนี้ยังไม่มีมูลคดีชี้ให้เห็นว่าคณะรัฐมนตรีได้ตราพ.ร.ก.ขึ้นมาโดยไม่สุจริต หรือใช้ดุลพินิจบิดเบือนหลักการของรัฐธรรมนูญ

จึงเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 2    

ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติ 7 ต่อ 2 เห็นว่าพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 1 และวรรค 2 

 

ที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสด