นายสมชัย สัจจพงษ์
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)
เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้างภาษีว่า
สศค.นำเสนอโครงร่างเบื้องต้นต่อนายธีระชัย ภูวนาถนรา นุบาล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว
แต่นายธีระชัยให้กลับไปศึกษาต่อในบางประเด็นร่วมกับกรมสรรพากร
โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องค่าลดหย่อนที่มีมากถึง 19 รายการ
เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมไม่เอื้อประโยชน์กับคนบางกลุ่ม
ซึ่งคงใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพื่อศึกษาข้อดีข้อเสียอย่างรอบคอบอีกครั้ง
แหล่ง
ข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า
สำหรับการปรับโครงสร้างค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีอยู่ถึง 19
รายการในปัจจุบันและกำลังจะเพิ่มขึ้นอีก 2
รายการจากค่าซ่อมบ้านและซ่อมรถหลังเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศนั้น
ผู้ที่ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้สูง ขณะที่ผู้ที่มีรายได้ปานกลาง
ถึงรายได้น้อยแทบจะไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนเหล่านี้
แหล่งข่าวกล่าวว่า แนวทางที่เคยเสนอให้ รมว.คลัง ประกอบด้วย
1.ให้ยังคงค่าลดหย่อน ทั้ง 19 รายการไว้เช่นเดิม แต่จำกัดเพดาน
การลดหย่อนสูงสุดทุกรายการรวมกันไม่เกิน 5 แสนบาทถึง 1 ล้านบาทต่อราย
ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม
ซึ่งกรมสรรพากรอยู่ระหว่างพิจารณากลุ่มที่ได้ประโยชน์ในแต่ละรายการ
สำหรับทางเลือกที่ 2 คือ
ตัดค่าลดหย่อนบางรายการที่ไม่มีความจำเป็นหรือเอื้อประโยชน์สำหรับบุคคล
บางกลุ่มออกไป คือ ค่าลดหย่อนสำหรับซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว
หรือแอลทีเอฟ
เนื่องจากวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับพัฒนาตลาดทุนนั้นไม่มีความจำเป็นแล้ว
เนื่องจากตลาดทุนไทยมีความแข็งแกร่งในระดับต้นๆ
ของภูมิภาคและสามารถเดินหน้าได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินจากแอลทีเอฟอีก
ส่วนทางเลือกที่ 3
เป็นข้อเสนอแบบสุดโต่งคือการยกเลิกค่าลดหย่อนทุกรายการให้หมดไปและเพิ่มเงินได้สุทธิพึงประเมินสำหรับผู้ที่เสียภาษีจากปัจจุบันที่อยู่ 150,000 บาท เป็น
400,000 บาท หรือ 1 ล้านบาท
ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายแก้ปัญหาความซับซ้อนของระบบลดหย่อนที่มีมากเกินไปใน
ปัจจุบัน แต่จะมีผู้เสียประโยชน์ค่อนข้างมาก อาจจะทำให้มีคนออกมาคัดค้าน
"แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน
ต้องรอผลการศึกษาอย่างชัดเจนจากกรมสรรพากรและ สศค.ก่อน
แต่ท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก่อน
เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)" แหล่งข่าวกล่าว
ที่มา หนังสือพิมพ์มติชน