นายอนุรุทธิ์ โค้วคาสัย ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องการกำหนดเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาด เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติปรับเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาดใหม่ตามมาตรา 25 ของพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 โดยจะเสนอข้อสรุปดังกล่าวให้นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเห็นชอบ ก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
สำหรับหลักเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาด ประกอบด้วย ธุรกิจที่มียอดขายตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป จากเดิมกำหนดไว้ที่ 1,000 ล้านบาท ซึ่งยอดขายที่ลดลงมานั้น โดยหวังว่าหลักเกณฑ์นี้จะสามารถครอบคลุมธุรกิจได้มากขึ้น และให้ใช้เกณฑ์ยอดขายเดียวกันในทุกธุรกิจ ขณะที่เกณฑ์ส่วนแบ่งตลาด ได้แบ่งไว้เป็น 3 ระดับคือ
ระดับที่ 1 มีส่วนแบ่งการตลาด ตั้งแต่ 50% ขึ้นไป
ระดับที่ 2 มีส่วนแบ่งการตลาด ตั้งแต่ 30% ขึ้นไป และ
ระดับที่ 3 มีส่วนแบ่งตลาด 3 รายรวมกัน ตั้งแต่ 75% ขึ้นไป
โดยผู้ที่เข้าข่ายมีอำนาจเหนือตลาดตามหลักเกณฑ์ในระดับที่ 2 และ 3 จะต้องมีการพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย ได้แก่ ความสามารถในการควบคุมตลาด อุปสรรคการเข้าสู่ตลาด ศักยภาพของคู่แข่ง การจำกัดการแข่งขัน และอื่นๆ แต่ได้ยกเว้นสำหรับผู้ประกอบธุรกิจรายใดรายหนึ่งที่มีส่วนแบ่งตลาดในปีที่ ผ่านมาต่ำกว่า 10% หรือมียอดเงินขายต่ำกว่า 500 ล้านบาทไว้ด้วย
นายอนุรุทธิ์ กล่าวว่า สาเหตุที่ปรับหลักเกณฑ์ผู้มีอำนาจเหนือตลาดใหม่นี้ในครั้งนี้ เพราะได้พิจารณาเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆทั่วโลกทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป เอเชีย และกลุ่มอาเซียน โดยปรับให้ทันสมัยและเหมาะสมกับการทำธุรกิจของไทย เพราะปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ในไทย ได้มีการขยายกิจการออกไปทั้งแนวนอนและแนวดิ่ง เช่น การทำธุรกิจครบวงจร การตั้งบริษัทในเครือ เป็นต้น ส่งผลให้เกิดช่องว่างทางกฎหมาย โดยเฉพาะการตีความกับผู้ประกอบรายเดียวทำได้ลำบาก เนื่องจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าไม่สามารถเอาผิดได้ กรณีที่พิจารณาในส่วนของยอดขาย หรือส่วนแบ่งตลาด ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่เข้าเกณฑ์ เพราะการขยายเครือข่ายธุรกิจออกเป็นบริษัทลูก ทำให้ยอดขายไม่เข้าเกณฑ์เดิมที่กำหนด
ทั้งนี้ หากเกณฑ์ดังกล่าวได้รับการเห็นชอบ จะทำให้กลุ่มธุรกิจบางประเภทเข้าข่ายเฝ้าระวังเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด เช่น น้ำมันดีเซล เบียร์ ปุ๋ยเคมี แผ่นเหล็กเคลือบดีบุก นมถั่วเหลือง ปลากระป๋องในซอส เม็ดพลาสติก ยางรถยนต์ เยื่อกระดาษ เป็นต้น
พร้อมกันนี้ จะเสนอให้คณะกรรมการชุดปรับปรุงกฎหมายการแข่งขันทางการค้าพิจารณาปรับปรุง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ในส่วนของการเพิ่มเติมคำจำกัดความ "ผู้ประกอบธุรกิจ" และ "ผู้มีอำนาจเหนือตลาด" ให้ครอบคลุมไปถึงบริษัทในเครือตามหลักสากล เพื่อให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในตลาดมากขึ้น
ที่มา มติชน