• ธรรมนิติ
  • /
  • ข่าว
  • /
  • คดี 3G: ประโยชน์สาธารณะอยู่ที่ไหนและใครถ่วงความเจริญ? โดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

คดี 3G: ประโยชน์สาธารณะอยู่ที่ไหนและใครถ่วงความเจริญ? โดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

คดีโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 G:  ประโยชน์สาธารณะอยู่ที่ไหนและใครถ่วงความเจริญ?
โดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

TDRI 11พ.ค.54 – เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมามีข่าวบริษัท ดีแทค ฟ้องร้อง กสท โทรคมนาคม ต่อศาลปกครอง เพื่อให้ยกเลิกสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ระหว่าง กสท.และบริษัทในเครือของ ทรู คอร์ปอเรชั่น และขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการดำเนินการต่างๆ ตามสัญญาดังกล่าวเป็นการชั่วคราว ในช่วงที่หน่วยงานรัฐต่างๆ กำลังพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของสัญญา    คดีนี้ถือเป็นคดีเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 G คดีที่สอง ที่มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง  โดยในครั้งแรกนั้น กสท ได้ฟ้องร้อง กทช ที่กำลังจะประมูลใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 G จำนวน 3 ใบ เมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา

การตั้งข้อสังเกตต่อความไม่ชอบมาพากลต่อกระบวนการและเนื้อหาของสัญญา ทำให้ผู้เขียนถูกผู้เสียผลประโยชน์บางรายกล่าวหาว่า พยายาม “ถ่วงความเจริญ” ไม่ให้ประเทศไทยมีบริการโทรศัพท์ 3G ใช้    จุดประสงค์ของบทความนี้ก็เพื่ออธิบายว่า  สัญญาต่างๆ และคดีที่เกิดขึ้นนี้เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประชาชนอย่างไร? และทำไม ผู้เขียน ซึ่งเป็นนักวิชาการที่ไม่ได้มีผลประโยชน์โดยตรง จึงต้องออกมาแสดงความคิดเห็น?

แม้ว่า การฟ้องร้องในคดีโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 G ทั้งสองคดี น่าจะเกิดจากการแรงจูงใจในการรักษาผลประโยชน์ส่วนตนของผู้ฟ้องเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจคือ กสท หรือเอกชนคือ ดีแทค ก็ตาม การที่ผู้เขียนต้องออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ก็เพราะเชื่อว่า มีประโยชน์สาธารณะ (public interest)  ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์ของประชาชน เกี่ยวข้องกับคดีทั้งสองอย่างมีนัยสำคัญ

วิธีหนึ่งที่เราจะสามารถพิจารณาประโยชน์สาธารณะที่เกี่ยวข้องในคดีทั้งสองได้ก็คือ การตั้งคำถามว่า หากไม่มีการฟ้องร้องกัน ซึ่งทำให้การดำเนินการต่างๆ เกิดขึ้นต่อไป จะเกิดอะไรขึ้นกับประชาชน  ทั้งนี้ ในกรณีนี้ ประชาชนอาจมีได้ 3 ฐานะคือ หนึ่ง การเป็นผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคของบริการโทรศัพท์ 3G สอง การเป็นผู้เสียภาษีให้รัฐ และ สาม การเป็นพลเมืองเจ้าของประเทศ

ในคดีที่ กสท. ฟ้องร้อง  หากไม่มีการฟ้องร้องโดย กสท และให้การคุ้มครองชั่วคราวโดยศาลปกครอง  สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นในความเห็นของผู้เขียนก็คือ

1. ประเทศไทยจะมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นอีก 3 ราย แข่งขันกันให้บริการ 3G นอกเหนือจาก ทีโอที ซึ่งให้บริการอยู่แล้ว โดยการแข่งขันจะมีความเสมอภาค  ซึ่งจะทำให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด   

2. รัฐจะได้ค่าประมูลคลื่นความถี่ไม่ต่ำกว่า 3.9 หมื่นล้านบาท จากการออกใบอนุญาต 3 ใบ ใบละไม่ต่ำกว่า 1.3  หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้สามารถลดภาระภาษีที่รัฐต้องจัดเก็บจากประชาชน หรือสามารถเพิ่มบริการสาธารณะต่างๆ เช่น การศึกษา หรือสวัสดิการแก่ประชาชนได้  ซึ่งจะทำให้ประชาชนในฐานะผู้เสียภาษีได้รับประโยชน์สูงสุด   ทั้งนี้ ค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ดังกล่าวจะไม่ทำให้ค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงขึ้น  เพราะเป็นเงินที่ถูกเก็บมาจากกำไรส่วนเกินของผู้ประกอบการ ไม่ใช่ส่วนที่ไปเพิ่มต้นทุน อย่างที่มักมีความเข้าใจผิดกัน

3. ระบบใบอนุญาตโดยหน่วยงานกำกับดูแลอิสระคือ กสทช. เป็นระบบมีความโปร่งใสมากกว่าและไม่เลือกปฏิบัติ จะมาทดแทนระบบสัมปทานของรัฐวิสาหกิจ ที่เต็มไปด้วยความไม่โปร่งใส และการแสวงหาผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง ซึ่งทำให้เกิด “อภิมหาเศรษฐี” ขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งภายหลังก้าวเข้าสู่การเมือง และเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในสังคมในปัจจุบัน    ระบบใหม่นี้จะมีผลในการลด “ธนกิจการเมือง”  (money politics) และทำให้ประชาธิปไตยของไทยตอบสนองความต้องการของประชาชนในฐานะพลเมืองมากขึ้น

ดังนั้น  หากมองว่า ประโยชน์สาธารณะคือ ประโยชน์ของประชาชน  ถ้ามีการประมูลคลื่น 3G ตั้งแต่ปีที่แล้ว  ผู้เขียนเห็นว่า ประชาชนทั้งในฐานะผู้บริโภค ผู้เสียภาษีและพลเมือง จะได้ประโยชน์สูงสุดด้วยเหตุผล 3 ประการข้างต้น     

น่าเสียดายที่ การประมูลดังกล่าวไม่เกิดขึ้น เนื่องจาก ศาลปกครองรับฟ้องและให้การคุ้มครองชั่วคราวตามคำขอของ กสท.   โดยอ้างเหตุผล 3 ประการโดยสรุปคือ หนึ่ง ยังไม่มีการจัดทำแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่และตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ซึ่งทำให้การประมูลของ กทช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  สอง การให้การคุ้มครองของศาลจะกระทบเฉพาะต่อผู้ประกอบการเพียง 3 รายเท่านั้น   และสาม การยังไม่มีบริการ 3G ไม่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการสาธารณะ      โดยส่วนตัว ผู้เขียนเห็นแตกต่างจากศาล เนื่องจากคำสั่งให้การคุ้มครองดังกล่าวของศาลกระทบต่อบริการสาธารณะอย่างชัดเจน และกระทบต่อผู้ที่รอใช้บริการจำนวนมาก ไม่ใช่ผู้ให้บริการเพียงสามรายเท่านั้น   

ส่วนในข้อแรก แม้การพิจารณาว่า การดำเนินการของ กทช ไม่ชอบด้วยกฎหมายจะมีน้ำหนักก็ตาม ผู้เขียนก็เห็นสอดคล้องกับนักกฎหมายมหาชนบางคนที่เชื่อว่า กสท ไม่น่าจะมีสิทธิฟ้องในฐานะผู้เสียหาย     ในการฟ้องคดีนั้น กสท อ้างว่า การประมูลคลื่น 3G ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ของ กทช. จะทำให้ตนสูญเสียรายได้จากสัมปทานที่มีอยู่       ผู้เขียนก็ไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวอ้างดังกล่าว   เพราะแม้ กทช. หรือ กสทช. ที่จะตั้งขึ้นจะดำเนินการตามกฎหมายทุกขั้นตอน เช่น จัดทำแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่แล้วก็ตาม  กสท ก็ยังจะเสียหายจากรายได้จากสัมปทานที่จะลดลง จากการออกใบอนุญาต 3G อยู่นั่นเอง    ความเสียหายของ กสท จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับความชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายในการดำเนินการของ กทช.   กสท จึงน่าจะไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครอง

ส่วนในคดีล่าสุดที่ ดีแทค ฟ้องร้องต่อศาลปกครองนั้น  หากไม่มีการฟ้องร้องเพื่อระงับกระบวนการที่เป็นอยู่  สิ่งที่ผู้เขียนคาดว่า จะเกิดขึ้นก็คือ

1.      นอกเหนือจาก ทีโอทีแล้ว  ประเทศไทยจะมีผู้ให้บริการ 3G อีกเพียงรายเดียว คือ ทรู ซึ่งจะให้บริการ 3G ก่อนรายอื่น โดยไม่แน่ชัดว่า เอไอเอส และดีแทค ซึ่งเป็นคู่แข่งรายสำคัญจะสามารถเริ่มให้บริการได้เมื่อใด และภายใต้เงื่อนไขที่เสมอภาคกันหรือไม่   โดยเฉพาะกรณีของดีแทค ซึ่งประสบปัญหาในการได้รับอนุญาตเปิดบริการ 3G จาก กสท นั้นก็ยิ่งไม่แน่ชัดว่าจะได้รับอนุญาตเมื่อใด เพราะถูก กสท ปฏิเสธมาแล้ว     ทั้งหมดนี้จะก่อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม อันจะนำไปสู่การผูกขาดตลาด ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเสียประโยชน์จากค่าบริการที่แพงและคุณภาพบริการที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น  ซึ่งยากจะแก้ไขโครงสร้างตลาดให้กลับมาเป็นตลาดที่แข่งขันกันได้ในภายหลัง   

2.      รัฐจะเสียหายจากการไม่ได้รับค่าประมูลคลื่นความถี่ไม่ต่ำกว่า 3.9 หมื่นล้านบาท  เนื่องจาก กสท นำคลื่นของตนไปให้ ทรู ใช้ โดยไม่ได้คิดต้นทุน  ซึ่งภายหลังจะเป็นเหตุให้ เอไอเอส และดีแทค นำไปเป็นข้ออ้างไม่ยอมจ่ายค่าคลื่นความถี่ให้แก่รัฐได้ในอนาคต  ซึ่งก็เป็นความเสียหายที่ยากจะแก้ไขกลับคืนมาได้เช่นกัน

3.      สัญญาที่มีลักษณะคล้ายสัมปทานระหว่าง กสท และทรู จะทำให้เกิดความไม่โปร่งใส และการแสวงหาผลประโยชน์ในตลาดโทรคมนาคมของฝ่ายการเมืองคงอยู่ต่อไปอีก 14-15 ปี  ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อทั้งตลาดโทรคมนาคมเอง และเกิดปัญหา “ธนกิจการเมือง”  ที่ทำให้ประชาธิปไตยของไทยไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน จากอิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ที่เข้ามาแทรกแซงไปอีกนาน

มาถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านคงเห็นแล้วว่า ประโยชน์สาธารณะในคดี 3G ทั้งสองคดีดังกล่าวอยู่ที่ไหน?  และใครกันแน่ที่เป็นผู้ถ่วงความเจริญของประเทศไทย?  

 

ที่มา ทีวีไทยเน็ตเวิร์ค