ทีโอที ฟ้อง กสทฯ ทวงคืนค่าเชื่อมต่อเลขหมาย 1.4 แสนล้านบาท 9 พ.ค.นี้ ด้านศาลปกครองนัดไต่สวนดีแทคร้อง กสทฯ ชะลอสัญญาให้บริการเอชเอสพีเอร่วมกลุ่มทรู 10 พ.ค.นี้
รายงานข่าวจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันที่ 9 พ.ค.54 เวลาประมาณ 9.09 น. ทีโอทีจะเข้ายื่นฟ้องบริษัท กสท โทรคมนาคม และคู่สัญญาต่อศาลปกครองในวันที่ 9 พ.ค.54 กรณีค้างชำระค่าเชื่อมต่อเลขหมาย หรือเอซี (แอ็คเซสชาร์จ) มูลค่า 1.38 แสนล้านบาท แบ่งเป็น บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค 9.7 หมื่นล้านบาท, บริษัท ทรูมูฟ จำกัด 3.5 หมื่นล้านบาท และ บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด หรือดีพีซี 2,400 ล้านบาท และ กสทฯ เอง 4,200 ล้านบาท
การฟ้องร้องครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากคู่สัญญาของ กสทฯ หยุดจ่ายค่าเอซีตั้งแต่ปี 2549 เพื่อเข้าสู่การจ่ายค่าเชื่อมโยงโครงข่าย หรือไอซี (อินเตอร์คอนเนกชั่นชาร์จ) ตามประกาศของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ส่งผลให้ทีโอทีต้องสูญเสียรายได้
ด้านนายสถาพร เอียดใหญ่ ผู้จัดการฝ่ายคดี กสทฯ กล่าวว่า มั่นใจตั้งแต่แรกว่าเรื่องนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องในศาลปกครองอย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมามีความพยายามเจรจากันหลายครั้ง แต่ไม่สามารถเจรจากันได้ ซึ่งรวมถึงการส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณา แต่ก็ไม่ได้มีข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะทางอัยการสูงสุดไม่กล้ามีความเห็นเข้าข้างใดข้างหนึ่ง จากการที่เป็นองค์กรของรัฐเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่กระบวนการศาลปกครองเป็นทางออกที่ดีกว่าการเจรจา เพราะเรื่องจะจบเร็วและไม่ยืดเยื้อ และ กสทฯ ก็ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เนื่องจากหากศาลตัดสินว่าทีโอทีควรได้รับค่าเอซี เอกชนจะต้องเป็นผู้จ่ายเงิน ไม่ใช่ กสทฯ
นอกจากนี้ ในวันที่ 10 พ.ค.54 เวลา 9.30 น. ศาลปกครองได้นัดไต่สวนคดีที่ดีแทคยื่นฟ้อง กสทฯ เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ให้ระงับการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาระหว่าง กสทฯ และทรู กรณีร่วมกันให้บริการ 3จี บนคลื่นความถี่เดิม หรือเอชเอสพีเอ เพราะเห็นว่าสัญญาทางธุรกิจที่ทรูเข้าซื้อกิจการของ บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย หรือฮัทช์ และบีเอฟเคที เกิดขึ้นอย่างไม่โปร่งใส โดยเฉพาะในประเด็นที่ขัดต่อมาตรา 46 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2553 พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และขัดต่อข้อกำหนดของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า.
ที่มา ไทยโพสต์