"คลัง" ชง ครม.เศรษฐกิจวันจันทร์นี้ (19 ก.ค.) เสนอแผน "ยกเลิกสัมปทานมือถือ" เข้าสู่ระบบใบอนุญาต ระบุไม่ได้แทรกแซงหรือกดดันแผนประมูลไลเซ่น 3G ในเดือนกันยายนนี้ แต่ทำให้ทุกคนเข้าสู่ระบบเดียวกัน
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยวันนี้ (18 ก.ค. 2553) ว่าในวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.2553) ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ มีเรื่องเดียวที่ต้องพิจารณา คือแผนพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ ซึ่งเสนอโดยกระทรวงการคลัง และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที)
เพื่อทำให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมที่เสรีและเป็นธรรม และเอื้อให้เกิดการประมูล และการลงทุน 3G โดยไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์
และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้นต้องมีการยกเลิกสัญญาบริการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ ภายใต้สัมปทานของบมจ.ทีโอที และบมจ.กสท โทรคมนาคมแล้วแทนที่ด้วยใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และดำเนินการให้มีการเช่าสินทรัพย์คือโครงข่ายจากทีโอที และกสทฯ
ตามสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากจะมีการแข่งขันไม่เป็นธรรมแล้ว ยังมีอุปสรรคต่าง ๆ ทำให้การเปิดประมูลรวมทั้งการลงทุนใน 3G ไม่เกิดขึ้น แต่แผนของโครงการนี้ จะทำให้เกิดการแข่งขันเสรีเป็นธรรมเพื้อให้เกิดการประมูลและลงทุน ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย
"ตุ๊กตาที่เราคิดขึ้นมา คือ ยกเลิกสัมปทานแทนด้วยไลเซ่นอายุ 15 ปี ส่วนแบ่งรายได้เดิมจ่าย 20-25% เหลือ 12.5% จะเรียกเป็นค่าธรรมเนียมความถี่ก็ได้ ยังมีค่าแลกเข้า 2G ไลเซ่นด้วย แต่จะเป็นเท่าไรอาจคำนวณได้จากอายุสัมปทานที่แต่ละเจ้าเหลือ ฐานลูกค้า หรือขนาดความถี่ ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ต้องไปเจรจากับเอกชน แต่โดยรวมแล้วรัฐไม่ได้น้อยลง"
นายกรณ์ กล่าวว่า ทำแบบนี้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้ เพราะทุกวันนี้ระบบโทรศัพท์มือถือ 2G ที่อยู่กับสัมปทานไม่มีใครสร้างโครงข่ายต่อ เพราะสัญญาที่แต่ละรายถืออยู่กำลังจะหมดอายุ (เอไอเอส เหลือ 5 ปี ทรูมูฟ 3 ปี ดีแทค 8 ปี) ขณะที่เงื่อนไขไลเซ่น 3G ของกทช.อย่างเรื่องการแชร์ใช้โครงข่าย ซึ่งไม่มีความชัดเจน เพราะเอกชนกังวลว่าจะปัญหากับคู่สัญญาสัมปทาน ถ้าไม่มีระบบสัมปทานปัญหาทุกอย่างก็คลี่คลาย
โดยแผนดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อให้ครม.เศรษฐกิจอนุมัติในหลักการให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อจัดทำแผนลงรายละเอียดนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 100 วัน โดยแผนดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสมอภาคเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน ดังนั้น จึงไม่สามารถแยกส่วนระหว่างบริการ 2G และ3G ออกจากกันได้
"เรื่องการออกไลเซ่นเป็นหน้าที่ของกทช. เราเพียงแต่เสนอแนวคิดที่คิดว่าน่าจะดีกับทุกฝ่าย เป็นหน้าที่เราในฐานะรัฐบาลที่ต้องมีนโยบายด้านโทรคมนาคม ขณะที่ผู้ที่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติมีหลายส่วน ถ้าเอกชนไม่เอาก็จบ เราไปบังคับให้เขาคืนสัมปทานไม่ได้ ถ้าทีโอทีกับกสทฯ ถ้ากทช.ไม่เห็นด้วยก็จบเหมือนกัน แต่อย่างที่ผมบอกหน้าที่ของเราคือเสนอสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์ที่สุด ถ้ามีประโยชน์ทุกหน่วยก็ควรรับแนวคิดของรัฐบาลไปใช้ประกอบการพิจารณา"
นายกรณ์ ยอมรับว่าแนวคิดดังกล่าว อาจส่งผลต่อการเปิดประมูลใบอนุญาต บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 G ของกทช.ที่กำหนดไว้ในเดือนก.ย.นี้ แต่ไม่คิดว่าเป็นการแทรกแซงหรือกดดันการทำงานของกทช.แต่อย่างใด และหากเป็นข้อเสนอที่ดีทำให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลายลงเป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วม ตนมองว่ากทช.ก็น่าจะรับฟังนำแล้วนำกลับไปทบทวนได้ เพราะเงื่อนไขต่าง ๆ ยังไม่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตนเชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจังเรื่องทั้งหมดจะเสร็จได้ภายในปีนี้
ที่มา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ