ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบในหลักการยกเลิกสัญญาสัมปทานมือถือ 2 จี ล้างไพ่ใหม่ เปลี่ยนเป็นให้ไลเซ่นแทน พร้อมตั้งคณะกรรมการร่วมคลัง-ไอซีที-ผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วเสนอแผนให้ครม.ใหญ่ ภายใน1เดือน เอกชนขานรับทำให้การแข่งขันเสมอภาค ฟาก
กทช. ไม่มั่นใจมีอำนาจทำได้หรือไม่?
เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม 2553
นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันนี้ มีมติเห็นชอบยกเลิกสัญญาสัมปทานมือถือเดิม ภายใต้สัมปทานของ
บมจ.ทีโอที และ
บมจ.กสท โทรคมนาคมแล้วแทนที่ด้วยใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม (ไลเซ่นต์) และดำเนินการให้มีการเช่าสินทรัพย์คือโครงข่ายจากทีโอที และกสทฯ โดยมีอายุและค่าธรรมเนียมที่เท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วม ระหว่าง
กระทรวงการคลัง และ
กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และผู้ทรงคุณวุฒิ ศึกษาและเสนอรูปแบบรายละเอียดในการดำเนินการแล้วเสนอเข้าครม.ใหญ่ภายใน 1 เดือน จากนั้นรัฐบาลจะเสนอให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม ต้องดูความพร้อมของภาคเอกชนด้วย
ด้านนายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลยุทธองค์กร
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า เห็นด้วย กับแนวทางที่คลังนำเสนอ เพราะระยะเวลา 100 วัน ที่คณะกรรมการร่วมฯ จะทำงานนั้น ไม่ได้กระทบต่อการเปิดประมูล 3 จี ที่กทช.กำหนด การเลื่อนออกไปเพียงเล็กน้อย แต่เป็นแนวทางที่จะแก้ปัญหาที่สะสมมายาวนานได้ และผลักดันให้อุตสาหกรรมแข่งขันกันอย่างเท่าเทียมมากขึ้น
“คลัง ไอซีที และกทช.ควรจะหารือกัน เกี่ยวกับเรื่องสัมปทานและ 3 G เพราะสองเรื่องนี้แยกออกจากกันไม่ได้ เห็นด้วยที่ต้องแก้ปัญหาสัปทานก่อนแล้วเริ่มใหม่ ไม่อย่างนั้นปัญหาที่ค้างอยู่จะเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่พร้อมปะทุขึ้นทุกเมื่อ ซึ่งหากกทช.เดินหน้าประมูล 3G โดยไม่รอการยกเลิกสัมปทานก่อน ภายใต้เงือนไขที่ไปยุ่งเกี่ยวกับสัมปทานเดิม ทั้งการใช้โครงข่ายร่วม และสิทธิการบริหารต้องคืนคลื่นเก่า จะยิ่งเป็นการเพิ่มปัญหาให้กับอุตสาหกรรม และเกิดการฟ้องร้องเต็มไปหมด” นายธนากล่าว
ด้านนายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจจากระบบสัมปทาน เป็นใบอนุญาต ทันทีที่รัฐมีแผนงานที่ชัดเจน ซึ่งเชื่อว่าโดยกระบวนการจะแล้วเสร็จได้ภายใน 2-3 เดือน
“แนวทางนี้ ควรจะเกิดขึ้นนานแล้ว ตั้งแต่ก่อตั้ง กทช. เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเสมอภาค ซึ่งถ้ารัฐบาลชัดเจน บริษัทก็พร้อมที่จะเจรจายกเลิกสัมปทานกับคู่สัญญา (บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ) ทันที เพราะระบบการให้ใบอนุญาต ถือว่าดีกว่าการดำเนินธุรกิจตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ที่ต่างประเทศยกเลิกกันไปนานแล้ว”
อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลมีคำชี้แจงที่ชัดเจนถึงแนวคิดที่จะคิดอัตราค่าธรรมเนียมที่ 12.5% ต่อปี ทั้งในส่วนใบอนุญาต 2 จี และ 3 จี เป็นการคำนวณจากพื้นฐานใด ซึ่งโดยหลักการแล้วควรมาจากการคำนวณตามมูลค่าคลื่นความถี่ นายศุภชัย กล่าวเพิ่มว่า แต่หากการเปลี่ยนสู่ใบอนุญาต ยึดอยู่บนพื้นฐานระยะเวลาสัมปทานเดิม แล้วสิ้นสุดลง ไม่เห็นว่าจะเป็นการวางโครงสร้างที่มั่นคงในระยะยาว โดยกทช.สามารถต่ออายุให้แบบปีต่อปีได้ ทั้งนี้ หากได้รับไลเซ่นส์ 2 จีแล้ว บริษัทยังคงเดินหน้าสู่การประมูลไลเซ่นส์ 3 จีอย่างแน่นอน แม้จะไม่เห็นด้วยกับราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 1.28 หมื่นล้านบาท เพราะสูงเกินไป แต่ก็ต้องแข่งขัน เพื่อให้มีเทคโนโลยีให้บริการประชาชนได้อย่างครอบคลุม
ด้านนายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร
บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า การแปรสัญญาสัมปทาน รัฐควรจะชี้แจงรายละเอียดให้แก่ผู้ประกอบการรับทราบ ว่าจะมีกระบวนการขั้นตอนอย่างไรในการแปรสัญญารายละเอียดมีอะไรบ้าง ซึ่งขณะนี้เป็นการออกมากล่าวโดยไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน “ปัญหาคือ รัฐมีอำนาจอะไรในการแปรสัญญา เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐได้แปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจ ตั้งแต่ พ.ศ. 2543 จึงมีคำถามว่าแนวทางนี้ทำได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้ขัดข้องอะไร รัฐต้องการอะไรก็บอกมาเราทำได้ทั้งหมด แต่ขอแค่ชัดเจนว่า ต้องการอะไร อย่างไรบ้าง ซึ่งรัฐไม่เคยเรียกเราไปคุย” นายวิเชียร กล่าว อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้รัฐนำเรื่องการแปรสัมปทาน รวมถึงการให้ไลเซ่นส์ 3 จี ของกทช. เนื่องจากกทช.เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งควรปล่อยให้กทช.ทำตามหน้าที่ต่อไป
ขณะที่
พันเอกนที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2547 มาตรา 80 วรรค 3 ระบุว่า การแปรสัมปทานจะต้องเป็นไปตามขอบเขตของสัญญา และระยะเวลาสัมปทานที่เหลืออยู่เดิม ดังนั้น กทช. จึงไม่มั่นใจหากยกเลิกสัมปทานมือถือระบบ 2 จีปัจจุบัน เป็นการออกใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) โดยให้ระยะเวลาสัญญาไปอีก 15 ปี มีอำนาจหรือไม่
ทั้งนี้ รวมถึงข้อเสนอให้กทช.ปรับเงื่อนไขการประมูล 3 จี โดยให้คิดอัตราค่าธรรมเนียมที่ 12.5% เท่ากับใบอนุญาต 2 จีใหม่ด้วยนั้น เนื่องจากการดำเนินการเกี่ยวกับ 3 จี กทช.ได้ผ่านกระบวนการต่าง ๆ มาพอสมควรแล้ว อัตราเดิมที่กำหนดที่ 6-6.5% นั้น เป็นการคำนวณที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ถ้าจะให้ปรับเพิ่ม กทช.เห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ เนื่องจาก กทช.เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหารายได้
“เราพร้อมที่จะพูดคุย แต่ต้องพิจารณาจากวัตถุประสงค์สุดท้ายของแต่ละฝ่าย กระบวนการออกใบอนุญาต 3 จีนั้น เราใช้ระยะเวลามาพอสมควรแล้ว และการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ก็มีที่มาที่ไป ดังนั้นการปรับต้องอยู่บนพื้นฐานที่ชัดเจน” พ.อ.นที กล่าวว่า และว่าไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะดำเนินการเรื่อง 2 จี และ 3 จี ไปพร้อม ๆ กัน เพราะจะทำให้ไม่สามารถเดินหน้าการเปิดประมูล 3 จีได้ ขณะที่การเปิดให้บริการ 3 จีของไทยล่าช้ามามากแล้ว ประชาชนเสียโอกาส ขณะที่การแปรสัญญาสัมปทานเป็นเรื่องที่พูดคุยกันมากกว่า 15 ปี ก็ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้เลย ดังนั้น ควรแยก 2 เรื่องนี้ออกจากกัน
ที่มา หนังสือพิมพ์มติชน