สรรพากรเร่งเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี เน้นกลุ่มค้าขายผ่านระบบอินเตอร์เน็ต หรือ อี-คอมเมิร์ซ ระบุ ปัจจุบันมีมูลค่าการซื้อขายกว่า 5 แสนล้านบาท จากจำนวนผู้ประกอบการกว่า 5 พันรายทั่วประเทศ แต่มีเพียง 1 พันรายที่เสียภาษีอย่างถูกต้อง
นายวินัย วิทวัสการเวช อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า นโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีได้พุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มผู้ประกอบการและประชาชนที่มีรายได้ แต่ยังไม่เข้ามาสู่ระบบการเสียภาษีอย่างถูกต้อง โดยหนึ่งในกลุ่มผู้ประกอบการที่กรมเห็นว่า ขณะนี้ได้สร้างรายได้อย่างมาก แต่ยังเสียภาษีไม่ถูกต้อง คือ กลุ่มผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ หรือ กลุ่มผู้ประกอบการที่ขายสินค้าผ่านระบบอินเตอร์เน็ต โดยขณะนี้กรมอยู่ระหว่างการทดสอบข้อมูลในหลายด้าน เพื่อนำไปสู่การจัดเก็บภาษีอย่างถูกต้อง และเป็นโครงการนำร่องในการจัดเก็บภาษีกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้โดยร่วมมือ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ
ทั้งนี้ กรมกำลังรวบรวมข้อมูลในหลายด้านเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจดังกล่าว เพื่อจัดทำเป็นรูปแบบการสืบค้นข้อมูลก่อนดำเนินการจัดเก็บภาษี เช่น มีผู้ประกอบธุรกิจประเภทนี้กี่ราย ค้าขายสินค้าใดบ้าง มีหน้าร้านหรือไม่ มีรายใดเสียภาษีถูกต้องและไม่ถูกต้อง รวมถึงเส้นทางการเงินของผู้ประกอบการเหล่านี้ โดยข้อมูลเหล่านี้ จำเป็นต้องประสานงานกับหลายหน่วยงาน ซึ่งขณะนี้ ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งจากแบงก์ชาติ ดีเอสไอ เนคเทค เป็นต้น
สำหรับในการสำรวจเบื้องต้นนั้น พบว่าในปัจจุบันมีผู้จดทะเบียนกับทางสำนักงานกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กทช. เพื่อประกอบธุรกิจผ่านระบบอินเตอร์เน็ตจำนวนประมาณ 500 ราย ในจำนวนนี้มี 20 รายที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ขณะที่ พบว่า มีผู้ประกอบการที่ยังไม่เข้าสู่ระบบของ กทช.กว่า 5,000 รายทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ประมาณ 60% ที่ไม่มีหน้าร้านในการประกอบธุรกิจ กล่าวคือ ขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต โดยที่ไม่มีที่ตั้งสำนักงานอย่างชัดเจน
"ขณะนี้ เราได้รวบรวมรายชื่อว่า ผู้ประกอบการเหล่านี้ค้าขายอะไรบ้าง เบื้องต้น พบว่า มีทั้งที่อยู่และไม่อยู่ในระบบการจัดเก็บภาษี หรือมีประมาณ 1,000 รายเท่านั้นที่เข้ามาอยู่ในระบบ ส่วนใหญ่หรือประมาณ 42% ประกอบธุรกิจค้าขายเสื้อผ้า และ เครื่องประดับ ถัดมาเป็นค้าขายอุปกรณ์และเครื่องคอมพิวเตอร์ 17% ธุรกิจบริการ 10% ธุรกิจท่องเที่ยว 7.8% ธุรกิจรถยนต์ 3.2% ที่เหลือเป็นธุรกิจอื่นๆ" แหล่งข่าวกล่าวและว่า ในเบื้องต้นนั้น กรมจะเข้าไปดูข้อมูลเฉพาะการซื้อขายสินค้าผ่านระบบอินเตอร์เน็ตภายในประเทศ เท่านั้น เพราะสามารถสอบเส้นทางเงินได้ง่ายกว่าเส้นทางการเงินในต่างประเทศ
สำหรับมูลค่าการค้าขายนั้น ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ นับจากปี 2549 ที่มีมูลค่าการซื้อขายราว 3.05 แสนล้านบาท และได้เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 4.27 แสนล้านบาทในปี 2550 และ 5.27 แสนล้านบาทในปี 2551 ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจเมื่อปี 2552 ซึ่งกรมเชื่อว่า ขณะนี้ มูลค่าการซื้อขายจะต้องมีจำนวนมากกว่านั้นอีกมาก
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษีในกลุ่มธุรกิจอี-คอมเมิร์ซแล้ว ทางกรมยังจะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บผ่านการตรวจสอบทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า E-Audit และ การตรวจสอบผ่านการค้าขายในรูปแบบ Supply Chain ด้วย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,534 27-29 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
ที่มา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ